'เพนกวิน' ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
2022.02.24
กรุงเทพฯ

นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แล้ว ในช่วงค่ำของวันพฤหัสบดีนี้ หลังเจ้าตัวถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี ม. 112 นานกว่าครึ่งปี โดยศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อให้ออกมาศึกษาต่อ ปัจจุบันยังมีแกนนำการชุมนุมอีก 6 ราย ที่ถูกควบคุมตัวระหว่างการดำเนินคดีและพิจารณาคดี
นายพริษฐ์ มีคดีที่ถูกฟ้องเกี่ยวกับ ม. 112 และคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมอย่างน้อย 43 คดี ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2564 จากการถูกออกหมายจับ กรณีถูกสาดสีใส่ตำรวจที่มาควบคุมฝูงชนด้านหน้า กองบัญชาการตำรวจชายแดนภาค 1 จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 จนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในวันนี้ ถึงตอนเช้าของวันที่ 24 พฤษภาคม 2565
“รู้สึกมีอิสรภาพ ต้องขอขอบคุณพ่อแม่พี่น้องทุกท่าน ทุกภาคส่วนที่คอยสนับสนุน และเป็นกำลังใจให้ตลอด 6 เดือนแห่งการจองจำที่ผ่านมา” นายพริษฐ์ กล่าวหลังได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในตอนค่ำวันนี้ โดยมีนางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดา มารอรับพร้อมด้วยผู้สนับสนุนหลายสิบคน
“เราเป็นนักโทษทางความคิด เราไม่ได้ทำอะไรผิด เราไม่ใช่อาชญากร แต่อิสรภาพที่ถูกพรากไปนั้น พี่น้องประชาชนเห็น ๆ กันอยู่ก็รู้ว่าเป็นเพราะอะไร เราพร้อมที่จะใช้กระบวนการศาลในการพิสูจน์ว่า สิ่งที่เราพูดล้วนเป็นความจริง” นายพริษฐ์ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ทนายได้ยื่นขอประกันตัวนายพริษฐ์ ด้วยเหตุผลความจำเป็นด้านการศึกษา โดยศาลให้เอาเอกสารเรื่องการลงทะเบียนเรียนไปยื่นต่อศาล และคณบดีคณะรัฐศาสตร์ได้ออกหนังสือรับรองว่านายพริษฐ์มีสถานภาพทางการศึกษาที่ต้องสอบกลางภาคในวันที่ 28 กุมภาพันธ์จนถึงต้นเดือนมีนาคมนี้
กระทั่งศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งในช่วงบ่ายอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว นายพริษฐ์ จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยใช้หลักทรัพย์การประกันตัว 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และศาลได้กำหนดเงื่อนไขดังนี้ 1. ห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ อันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียหรือด้อยค่าต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันศาลในทุกด้าน 2. ห้ามกระทําการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล 3. ห้ามโพสต์ข้อความปลุกปั่นในสื่อโซเชียลมีเดีย หรือเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
4.ห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 18.00 น.-06.00 น.ของวันใหม่ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อการรักษาพยาบาลหรือได้รับอนุญาตจากศาล 5. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และ 6. ให้ติดอุปกรณ์ EM เพื่อจำกัดระยะเวลาเดินทาง
หากนายพริษฐ์ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ศาลอาจมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนคําสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวที่มีเวลาจํากัด และเมื่อครบกําหนดปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว จําเลยต้องมารายงานตัวต่อศาล โดยให้นายประกันส่งตัวจำเลยมาศาลในวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เวลา 10.00 น.
ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก มีคำสั่งให้ประกันตัวนายพริษฐ์ใน 8 คดี ตั้งแต่เมื่อวานนี้ แต่เนื่องจากยังมีคดีในศาลอาญากรุงเทพใต้อีกหนึ่งคดี จึงให้ประกันตัวออกในวันนี้
นายพริษฐ์ เป็นหนึ่งในแกนนำชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเริ่มต้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 มีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยกระแสการชุมนุมดังกล่าว ทำให้เกิดการชุมนุมขึ้นหลายร้อยครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ปัจจุบันยังมีแกนนำการชุมนุมอีก 6 ราย ที่ถูกควบคุมตัวระหว่างการดำเนินคดีและพิจารณาคดี ซึ่งรวมถึงนายอานนท์ นำภา ซึ่งทั้งหมดถูกฟ้องในคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม และ ม. 112
“กวิ้นไม่ใช่ลูกของแม่คนเดียว แม่เอาลูกของทุกคนกลับมาคืนให้ แม่รู้สึกโล่งไปเปราะนึง แต่ก็ยังเป็นห่วงคนที่อยู่ข้างใน เราก็อย่าเพิ่งทอดทิ้ง หมดกำลังใจ ก็ให้กำลังใจทุกคน ก็ขอให้กลับออกมาทุกคน เพื่อสู่อ้อมอกของพ่อแม่เขา” นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของนายพริษฐ์ กล่าวแก่สื่อมวลชนที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
นับตั้งแต่มีการชุมนุมในเดือนกรกฎาคม 2563 จนสิ้นเดือนมกราคม 2565 ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้ว 1,767 คน ใน 1,009 คดี มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายชุมนุมของตำรวจกว่า 100 ราย โดยในนั้นมีเด็ก เยาวชน และสื่อมวลชนรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมเช่นกัน แต่ไม่ได้มีการสรุปจำนวนผู้บาดเจ็บที่แน่ชัด