ปูติน ตอบรับเยือนไทย ตามคำเชิญเศรษฐา
2023.10.18
กรุงเทพฯ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ตอบรับคำเชิญเยือนประเทศไทยของตนเอง ขณะเดียวกัน ไทยจะดึงดูดนักท่องเที่ยวรัสเซีย ด้วยการขยายระยะเวลาวีซ่าท่องเที่ยวจาก 30 วัน เป็น 90 วัน
นายเศรษฐา ได้พบกับนายปูตินในวันอังคาร ระหว่างร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation - BRF) ครั้งที่ 3 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้หารือหลายประเด็นรวมทั้งการเชิญนายปูตินมาเยือนประเทศไทย
“ท่านบอกว่า ไทยกับรัสเซียมีความสัมพันธ์กันมา 125 ปี แล้วก็มีการแลกเปลี่ยนทางด้านการค้า วัฒนธรรมกันหลายเรื่อง นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียก็ไปเมืองไทยที่ผ่านมาก็ล้านกว่าคนแล้ว ดีใจที่เราได้มีการเพิ่มจำนวนวันที่นักท่องเที่ยวอยู่ได้จาก 30 เป็น 90 วันก็น่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ท่านเองท่านก็ชอบภูเก็ต และเข้าใจว่าก็ไปประจำอยู่ ผมได้เชื้อเชิญให้ท่านไปเยี่ยมเยือนประเทศไทย ท่านก็พยักหน้าแล้วบอกว่า ขอบคุณครับ ท่านพูดภาษาไทยได้ แสดงว่า ก็มีความคุ้นเคยที่ดี” นายเศรษฐา กล่าวกับสื่อมวลชน
ด้าน นายปูติน ระบุในแถลงการณ์ว่า รู้สึกยินดีที่ได้พบนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย
“น่าเสียดายที่ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การค้าระหว่างกันของเราลดลงเล็กน้อยในปีที่แล้ว ผมหวังว่าคณะทำงานร่วมด้านการค้าทวิภาคี และความร่วมมือทางเศรษฐกิจจะมีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างกัน… ในส่วนของเรา เราจะพยายามทำให้ความสัมพันธ์ของเราพัฒนาอย่างเข้มข้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ และมีส่วนช่วยในการพัฒนารัฐของเรา” นายปูติน ระบุ
การรุกรานยูเครนของรัสเซีย เป็นเหตุให้นายปูตินเหลือพันธมิตรจำนวนไม่กี่ประเทศ นานาชาติได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรรูปแบบต่าง ๆ
ในปีที่แล้วเดือนตุลาคม 2565 ไทยงดออกเสียงในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ที่ได้มีมติประณามความพยายามของรัสเซียที่จะผนวกรวม 4 ภูมิภาคของยูเครนไว้เป็นของตน โดยให้เหตุผลว่า การประณามจะสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดสงครามนิวเคลียร์ และการล่มสลายทางเศรษฐกิจระดับโลก
ก่อนหน้านั้น ในเดือนมีนาคมปี 2565 ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court - ICC) ออกหมายจับนายปูติน ในข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงคราม เน้นประเด็นฐานส่งเด็กชาวยูเครนหลายพันคนกลับรัสเซียโดยมิชอบ
ศาลอาญาระหว่างประเทศ ถือเป็นองค์กรระหว่างประเทศ หรือเรียกว่า ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (the Rome Statue of the international criminal court) ซึ่งประเทศไทยไม่ได้ให้สัตยาบัน จึงไม่ใช่รัฐภาคีในธรรมนูญกรุงโรมของ ICC
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุสาระสำคัญในการพูดคุยของผู้นำทั้งสองคนว่า ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างบุคลากรสภาความมั่นคงของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งสองฝ่ายเห็นควรเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ฝ่ายรัสเซียส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน พร้อมทั้งเชิญชวนให้รัสเซียพิจารณาเพิ่มการลงทุนในไทย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบมาตรการการยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติรัสเซีย ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 - 30 เมษายน 2567 ให้อยู่ในประเทศไทยได้ไม่เกิน 90 วัน โดยเป็นมาตรการชั่วคราวในลักษณะที่ไทยให้สิทธิฝ่ายเดียว จากเดิมที่สามารถอยู่ในประเทศไทยได้เพียง 30 วันเท่านั้น
นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวรัสเซีย เพลิดเพลินกับชายหาด ในจังหวัดภูเก็ต วันที่ 20 มีนาคม 2563 (มลาเดน อันโตนอฟ/เอเอฟพี)
นายเศรษฐา ได้เดินทางไปยังประเทศจีนเพื่อร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation - BRF) ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 16-19 ตุลาคม 2566 โดยนอกจากการประชุมแล้วยังได้พบปะกับ นายปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ตัวแทนบริษัทเอกชนของจีน เช่น Alibaba, Huawei, Tencent, Xiaomi รวมถึงนักธุรกิจจีนอีกกว่า 50 คน และจะได้พบปะกับ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 19 ตุลาคม นี้ด้วย
สำหรับการพบปะของผู้นำสองประเทศ ผศ. ปิยพงษ์ พิมพลักษณ์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า การผูกสัมพันธ์กับผู้นำรัสเซียอาจเป็นเรื่องที่ดี แต่ในอีกทางนึงก็มีข้อที่ควรระวัง
“เชื่อว่าการไปร่วมประชุมของไทยเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตกับนานาประเทศ แต่ก็มีข้อกังวล คือ มีคนเกรงว่าไทยอาจถูกมองว่า เห็นด้วยกับสงครามของรัสเซียในยูเครน และอาจถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกหากยังคงมีส่วนร่วมกับรัสเซีย แต่เชื่อว่า ไทยพยายามสานสัมพันธ์เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งผู้เล่นรายใหญ่ อย่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย” ผศ. ปิยพงษ์ กล่าว
“ที่เศรษฐาเคยบอกว่าเขาจะเป็นแบบเซลล์แมน ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ วิธีนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะว่ามันไม่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคนเห็นว่า เป็นก้าวสำคัญในการรักษาความสามารถในการแข่งขันในเศรษฐกิจโลก การสานความสัมพันธ์กับรัสเซียในด้านหนึ่ง น่าจะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ในทางกลับกันก็อาจทำให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศมากเกินไป” ผศ. ปิยพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
วิลาวัลย์ วัชรศักดฺ์เวช ในกรุงเทพฯ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน