แรงงานประมงต่างชาติร้องรัฐแก้ปัญหาถูกโกงค่าแรง และการละเมิดสิทธิต่าง ๆ
2021.06.29
กรุงเทพฯ และปัตตานี

แกนนำแรงงานประมงข้ามชาติ ได้เรียกร้องในวันอังคารนี้ ให้รัฐบาลไทยช่วยแก้ไขปัญหาการถูกโกงค่าแรงและละเมิดสิทธิต่าง ๆ หลังมีผลการสำรวจโดยเครือข่ายสิทธิแรงงานประมง พบว่ามีแรงงานเมียนมาและกัมพูชาจำนวนมาก ไม่ได้ถือครองสัญญาจ้างของตนเอง และไม่มีสัญญาฉบับภาษาที่ตนเข้าใจ
ด้าน นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า หากผลสำรวจดังกล่าวประกอบด้วยข้อมูลที่เป็นจริง ทางการไทยพร้อมที่จะช่วยแก้ไข ขณะที่เจ้าของกิจการเรือประมงรายใหม่ในปัตตานียืนยันว่า มีทำสัญญาสองภาษาและเซ็นต่อหน้าเจ้าหน้าที่
ในวันอังคารนี้ เครือข่ายสิทธิแรงงานประมง ภายใต้การสนับสนุนโดยสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) ได้จัดแถลงข่าวเปิดตัว รายงานผลการสำรวจแรงงานประมงต่างด้าว ในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2564 จำนวน 520 คน พบว่า ร้อยละ 87 ไม่ได้ถือครองสัญญาจ้างของตนเอง ซึ่งขัดต่อกฎหมาย และหลักการสากล ร้อยละ 96 ไม่เข้าใจสัญญาอย่างชัดเจน ร้อยละ 89 ไม่มีฉบับภาษาที่ตนเข้าใจ และร้อยละ 99 ต้องการเข้าใจสัญญาก่อนเซ็น ขณะที่ร้อยละ 33 บอกว่าสภาพการทำงานไม่เป็นไปตามสัญญา
นายเย ตุย (Ye Thwe) ประธานเครือข่ายสิทธิแรงงานประมง (Fishers’ Rights Network - FRN) ระบุว่า ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาการทำงานในภาคการประมง พ.ศ. 2550 ฉบับที่ 188 (C188) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศแล้ว ดังนั้นรัฐบาลไทยควรนำเงื่อนไขต่าง ๆ มาปฏิบัติจริง
“แรงงานประมงสัญชาติเมียนมาและกัมพูชา ยังคงเผชิญกับปัญหาที่รุนแรงอยู่ เช่น การถูกโกงค่าแรง การขาดอาหารและน้ำดื่มสะอาดที่เพียงพอ การยึดเอกสาร และการละเมิดสิทธิแรงงานในรูปแบบอื่น ๆ” นายเย กล่าว
“แรงงานประมงส่วนใหญ่ไม่มีสำเนาสัญญาจ้างที่เป็นภาษาที่ตัวเองเข้าใจ และไม่มีทางเข้าใจเงื่อนไขสภาพการจ้างและข้อกำหนดต่าง ๆ ทำให้นายจ้างและไต๋เรือสามารถโกงค่าแรงเราได้ง่ายดาย และเป็นเหตุให้แรงงานประมงไม่กล้าที่จะนำเรื่องราวการถูกกระทำความรุนแรงต่าง ๆ ร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่รัฐไทย” นายเย กล่าวเพิ่มเติม
ด้านนายจอนนี่ ฮันเซน ประธานสาขาประมง สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) ระบุว่า ผลการสำรวจสะท้อนว่า รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้
“กฎหมายแรงงานไทยและการตรวจแรงงานของไทยในปัจจุบันนั้น ยังคงไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาในการคุ้มครองแรงงานประมงจากการถูกเอารัดเอาเปรียบและการละเมิดสิทธิแรงงาน… ประเทศไทยมีโอกาสที่จะแสดงให้เห็นว่ากฎหมายพื้นฐานที่เกี่ยวกับแรงงานได้มีการบังคับใช้ รวมถึงมีการตรวจเรืออย่างมีประสิทธิภาพเพื่อระบุและลงโทษผู้ฝ่าฝืน” นายจอนนี่ กล่าว
ทั้งนี้ เครือข่ายฯ สรุปข้อเรียกร้องที่แรงงานประมงต้องการให้รัฐบาลไทยปฏิบัติเร่งด่วนคือ บังคับใช้มาตรการตามอนุสัญญาฉบับที่ 188 เพื่อให้แน่ใจว่าแรงงานทุกคนมีสำเนาสัญญาจ้างเป็นภาษาตนเอง, คุ้มครองสิทธิแรงงาน และศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO) ต้องให้แรงงานสามารถตรวจและยืนยันสัญญาจ้างจากนายจ้างระหว่างการตรวจเรือได้ และจัดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการแจ้งเรื่องการถูกละเมิดให้แก่แรงงาน
ต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกรมฯ พร้อมที่จะดำเนินการแก้ไข
“ทางเราจะดำเนินการแก้ไขปัญหาแน่นอน แต่แนวทางการแก้ปัญหาจะเป็นอย่างไรนั้น เราจำเป็นต้องเห็นข้อมูลตัวจริง แต่ดำเนินการแก้ไขแน่นอน โดยขอเวลาศึกษารายละเอียดข้อเรียกร้องก่อน” นายมีศักดิ์ ระบุ
นายสุรัตน์ รัตนศิธร เจ้าของเรือประมง น.ลาภประเสริฐ ในปัตตานี ซึ่งทั้งจังหวัดมีแรงงานกัมพูชาทำงานด้านประมงอยู่นับหมื่นคนนั้น กล่าวว่า กิจการของตนได้ให้ความเป็นธรรมในการเซ็นสัญญาอย่างถูกต้อง
“สัญญาจ้างที่เราทำกับแรงงานต่างชาติ จะมีฉบับภาษาของแรงงานสัญชาตินั้น ๆ เพราะมีลงค่าจ้างด้วย ซึ่งสัญญาจ้างเราต้องให้แรงงานเซ็นต่อหน้าเจ้าหน้าที่ด้วย ไปแอบเซ็นไม่ได้” นายสุรัตน์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมประมง รายงานว่า ในปี 2564 มีแรงงานในเรือประมงพาณิชย์ จำนวน 56,404 คน โดยไม่ได้ระบุสัญชาติ และมีเรือประมงพาณิชย์ขึ้นทะเบียนไว้ 10,310 ลำ ส่วนในปี 2562 มีแรงงานประมงทั้งสิ้น 131,505 คน เป็นแรงงานไทย 62,790 คน และแรงงานต่างด้าว 66,715 คน
ในปี 2558 สหภาพยุโรปออกใบเหลืองให้กับประเทศไทยเพราะปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, unregulated and unreported fishing – IUU Fishing) ซึ่งกระทบต่อเงื่อนไขการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลไปยังสหภาพยุโรป รัฐบาลไทยจึงพยายามแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการประมงอย่างต่อเนื่อง มีการตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เพื่อแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะ
กระทั่งเดือนมกราคม 2562 กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง (European Commissioner for Environment, Maritime Affairs, and Fisheries) ได้ประกาศยกเลิกสถานะใบเหลืองของประเทศไทย
และในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ไทยกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ลงนามในสัตยาบันอนุสัญญาการทำงานในภาคการประมง พ.ศ. 2550 ฉบับที่ 188 ซึ่งยังครอบคลุมข้อตกลงให้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงาน คุณภาพที่พักอาศัย อาหาร น้ำดื่ม การรักษาพยาบาล ระบบการตรวจแรงงาน และความเป็นอยู่บนเรือประมง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการทำประมงที่มีจริยธรรมและมีธรรมาภิบาล และจะดึงดูดแรงงานให้เข้ามาทำงานในภาคประมงมากขึ้น