ภารกิจคืนปักษานักล่าสู่พงพี

ภ. บริรักษ์วรรโณ และอานันท์ ชนมหาตระกูล
2023.06.15
กรุงเทพฯ
bird-1.jpg

สามพี่น้อง 'ลูกนกเค้าโมง' เป็นลูกนกที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ส่งมาให้หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ นครปฐม ดูแล คาดว่าพบเจอหลังมีการโค่นต้นไม้ใหญ่แหล่งอาศัย วันที่ 7 มิถุนายน 2566 (อานันท์ ชนมหาตระกูล/เบนาร์นิวส์)

bird-2.jpg

นกบางตัวติดพฤติกรรมจากการเลี้ยงดู ไม่กินเหยื่อเอง เจ้าหน้าที่ต้องนำตุ๊กตายางรูปนกสวมไว้ที่มือ แล้วนำอาหารไปซ่อนไว้ในปากของตุ๊กตา เพื่อให้นกเข้าใจว่าเป็นแม่มาป้อนอาหาร หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ นครปฐม วันที่ 7 มิถุนายน 2566 (อานันท์ ชนมหาตระกูล/เบนาร์นิวส์)

bird-3.jpg

นกเค้าจุด โตเต็มวัยและได้รับการรักษาในหน่วยมา 7 ปี ตาบอดสนิทหนึ่งข้างจากอุบัติเหตุกับรถยนต์ ที่หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ นครปฐม วันที่ 7 มิถุนายน 2566 (อานันท์ ชนมหาตระกูล/เบนาร์นิวส์)

bird-4.jpg

นกแสกโตเต็มวัย ถูกนำมารักษาตัวเมื่อเดือนเมษายน เพราะถูกสายไฟฟ้าเกี่ยวเข้าที่ปีกด้านขวาแหว่งจนพิการ เกิดแผลทางยาวและหดตัวเป็น 'พังผืดยึดปีก' ไม่สามารถบินได้เต็มที่ ต้องได้รับการดูแลจากสัตวแพทย์ตลอดชีวิต ที่หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ นครปฐม วันที่ 7 มิถุนายน 2566 (อานันท์ ชนมหาตระกูล/เบนาร์นิวส์)

bird-5.jpg

รติวรรณ สิทธิบุตร์ สัตวแพทย์ประจำหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ อธิบายว่าที่ศูนย์แห่งนี้ได้ทำงานวิจัยควบคู่ไปด้วยเพื่อศึกษาสายพันธุ์นกล่าเหยื่อชนิดต่าง ๆ ที่กำแพงแสน นครปฐม วันที่ 7 มิถุนายน 2566 (อานันท์ ชนมหาตระกูล/เบนาร์นิวส์)

bird-6.jpg

เหยี่ยวขาว ขณะฝึกบินอยู่ในกรงฝึกบิน หลังจากพักฟื้นจนแผลที่ปีกหายดี ในหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ จังหวัดนครปฐม วันที่ 7 มิถุนายน 2566 (อานันท์ ชนมหาตระกูล/เบนาร์นิวส์)

bird-7.jpg

เงา ‘เหยี่ยวแดง’ สะท้อนบนผืนผ้าใบที่ขึงไว้รอบกรงขนาดใหญ่ หนึ่งในนกที่ไม่สามารถปล่อยกลับสู่ธรรมชาติได้ เพราะไม่ปลอดภัย โดยก่อนหน้าเคยเป็นของกลางที่ยึดมาจากผู้มีสัตว์สงวนไว้ในครอบครองผิดกฎหมาย วันที่ 7 มิถุนายน 2566 (อานันท์ ชนมหาตระกูล/เบนาร์นิวส์)

bird-8.jpg

สัตวแพทย์ประจำหน่วยฯ ให้น้ำเกลือบำรุงร่างกาย 'นกเค้ากู่' ให้พร้อมสำหรับการปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ กำแพงแสน นครปฐม วันที่ 7 มิถุนายน 2566 (อานันท์ ชนมหาตระกูล/เบนาร์นิวส์)

bird-9.jpg

เจ้าหน้าที่นำนกที่จะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติมาในพื้นที่ป่าเต็งรัง ภายในค่ายลูกเสือกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม วันที่ 7 มิถุนายน 2566 (อานันท์ ชนมหาตระกูล/เบนาร์นิวส์)

bird-10.jpg

เจ้าหน้าที่ปล่อย 'นกเค้ากู่' กลับสู่ธรรมชาติในพื้นที่ป่าบริเวณใกล้เคียงกับหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ ในพื้นที่ป่าเต็งรัง ภายในค่ายลูกเสือกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม วันที่ 7 มิถุนายน 2566 (อานันท์ ชนมหาตระกูล/เบนาร์นิวส์)

นกเค้า หรือเหยี่ยว คือ นักล่าที่มีความสำคัญกับระบบนิเวศ ในฐานะสัตว์ปีกที่อยู่สูงสุดของห่วงโซ่อาหาร คอยคุมปริมาณสัตว์เลื้อยคลานและแมลง แต่เมื่อมนุษย์รุกรานเข้าสู่ป่า นกนักล่าจึงกลายเป็นเหยื่อของความเจริญ ทั้งถูกทำร้าย และได้รับผลกระทบจากมนุษย์

เมื่อนักล่ากลายเป็นเหยื่อ สัตว์แพทย์จึงต้องยื่นมือเข้ามาโอบอุ้มบริบาลพวกมัน เพื่อให้แข็งแรงเพียงพอ และคืนสู่ธรรมชาติในฐานะนักล่า รักษาสมดุลแห่งธรรมชาติเช่นที่ควรจะเป็น

ลูกนกล่าเหยื่อ ได้รับการดูแลอย่างดีภายใน 'วอร์ด' อันเปรียบเสมือนห้องผู้ป่วยในโรงพยาบาลขนาดเล็ก ตั้งอยู่ใจกลางต้นไม้น้อยใหญ่ บรรยากาศโดยรอบมิได้ต่างอะไรกับแหล่งธรรมชาติย่อม ๆ ใกล้เมืองหลวง เป็นสถานที่ตั้ง 'หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ' คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

"เขาจะอยู่กันเป็นครอบครัว การโค่นต้นไม้ของคนเพื่อสิ่งปลูกสร้าง อาจหมายถึงการทำลายบ้านของนกที่อาศัยทำรังอยู่ เสียงและแรงสั่นสะเทือนของเครื่องจักร อาจทำให้แม่นกตกใจหนี หนีไม่รอดก็พบแต่ซากแม่ที่ตายไปแล้วเหลือเพียงลูกตัวเล็ก ๆ ที่ยังอยู่ในโพรง บางตัวต้องอยู่โดยไม่มีแม่คอยดูแล" รติวรรณ สิทธิบุตร์ สัตวแพทย์ประจำหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ กล่าว

เหยี่ยว นกฮูก นกเค้ากู่ นกเค้าแมว นกเค้าโมง นกเค้าจุด หรือนกแสก แม้จะเป็นนกนักล่าก็จริง แต่การที่ต้องกำพร้าแม่ตั้งแต่ยังเล็กทำให้พวกมันเดียงสามาก จนบางครั้งทักษะพื้นฐานก็ยังไม่สามารถเรียนรู้เองได้ หน้าที่ในการฝึกฝนการบิน การกินอาหาร และการล่าเหยื่อ เพื่อให้พร้อมที่จะกลับไปทำหน้าที่จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารอย่างมีศักดิ์ศรี จึงเป็นภาระสำคัญของนักบริบาลที่นี่ 

แม้ลูกนกบางตัวที่ได้รับการรักษาจะมีหน้าตาน่ารักและเชื่องคน แต่ทุกตัวจำเป็นที่จะต้องถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพราะ “นกล่าเหยื่อทุกตัวนี้มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดูแบบถาวรของมนุษย์ย่อมส่งผลเสียต่อพฤติกรรมของสัตว์ บางตัวเราแก้นิสัยเชื่องคนไม่ได้ ก็ไม่ปล่อย เพราะหากปล่อยไปก็จะบินไปอยู่กับคน เสี่ยงต่อการถูกนำไปเลี้ยงหรือถูกทำร้ายรติวรรณ กล่าว

การปล่อยนกกลับสู่ธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องผ่านเกณฑ์สามประการคือ ผ่านการฝึกบิน ผ่านการฝึกล่าเหยื่อ และผ่านการตรวจพฤติกรรม (ว่าเชื่องคนหรือไม่) 

ปัจจุบัน นกล่าเหยื่อของไทยทุกตัวอยู่ภายใต้ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ประชาชนทั่วไปไม่สามารถมีไว้ในครอบครอง การครอบครองนกเหล่านี้จะเข้าข่ายผิดมาตรา 9 ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ดังนั้น แม้จะน่ารักหรือน่าเลี้ยงเพียงใด ที่ที่เหมาะสมสำหรับนกนักล่าเหยื่อที่สุด ก็ยังเป็นป่าธรรมชาติ ไม่ใช่ในกรง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง