'สะพานมิตรภาพ' เส้นทางหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวเมียนมา
2024.03.01
สำหรับชาวเมียนมาแล้ว สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาที่ข้ามแม่น้ำเมย เป็นเส้นทางสำคัญมากว่าสองทศวรรษแล้ว เพราะมีผู้คนจะข้ามจากเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ฝั่งเมียนมา เข้ามาทางอำเภอแม่สอดในฝั่งไทยทุกวัน เพื่อทำงาน เรียนหนังสือ ค้าขาย แม้กระทั่งหาหมอ
ที่ผ่านมาสะพานและทางหลวงเอเชียที่เชื่อมต่อกัน ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในเมียนมาตั้งแต่เปิดใช้งานในปี 2540 ต่อมาเมื่อเกิดการสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมาและกองทัพปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army) ใกล้ชายแดน ทำให้ในบางครั้งสะพานก็ต้องปิดตัวลงเป็นระยะ
เมื่อเดือนมกราคมปี 2566 สะพานได้เปิดใหม่อีกครั้ง หลังจากปิดมา 3 ปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด แต่หลังจากเปิดได้ไม่นานก็ต้องปิดอีกครั้ง เนื่องจากการต่อสู้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร ซึ่งรัฐบาลทหารเข้ามามีอำนาจในปี 2564
อย่างไรก็ตาม ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว การค้าข้ามแดนก็ต้องหยุดอีกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบ แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ความขัดแย้งระหว่างกองทัพเมียนมากับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารได้สงบลงชั่วคราวที่ชายแดนแห่งนี้ และชาวเมียนมาได้เริ่มข้ามแดนกันอีกครั้ง
ผู้คนจากฝั่งเมียนมากำลังใช้เส้นทางอื่นเข้าสู่ประเทศไทย โดยข้ามแม่น้ำเมย หรือที่รู้จักในภาษาเมียนมาว่า “แม่น้ำต่องยิน” ใกล้กับสะพาน โดยจำนวนผู้ข้ามแดนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากรัฐบาลทหารเมียนมาประกาศกฎหมายบังคับหนุ่มสาวอายุตั้งแต่ 18 ปี ต้องถูกเกณฑ์ทหาร
หนึ่งในผู้พยายามหนีข้ามแดน บอกกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า “เขาไม่ต้องการฆ่าคนในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน”
ทางการไทยได้วางลวดหนามไว้ตามแนวฝั่งแม่น้ำเมย เพื่อป้องกันการข้ามแม่น้ำเข้าไทย แม้ว่าในความเป็นจริงจะไม่สามารถขัดขวางผู้ที่พยายามหลบหนีข้ามฝั่งมาได้ก็ตาม
ห่างออกไปทางใต้ประมาณ 60 กิโลเมตรจากแม่สอด มีสะพานขนาดเล็ก เชื่อมต่อหมู่บ้านวาเล่ย์ของเมียนมากับหมู่บ้านวาเล่ย์ของไทย
วันนี้ ชาวบ้านในชุมชนกะเหรี่ยงสามารถใช้ชีวิตอย่างสงบสุขได้ระดับหนึ่ง ซึ่งแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับปี 2565 เมื่อเครื่องบินรบและทหารเมียนมาทิ้งระเบิดในพื้นที่ เผาบ้านเรือน และส่งผลให้ผู้คนนับพันต้องอพยพออกจากพื้นที่