ทางเท้าปลอดแผงลอย เป้าหมายที่ยากจะไปถึงของกรุงเทพฯ

แม้แผงลอยและอาหารริมทางเป็นอัตลักษณ์ของกรุงเทพฯ แต่ทางเท้าที่ได้มาตรฐานก็สำคัญไม่แพ้กัน
จิตต์สิรี ทองน้อย
2024.02.22
กรุงเทพฯ
ทางเท้าปลอดแผงลอย เป้าหมายที่ยากจะไปถึงของกรุงเทพฯ ลูกชายและลูกสาวของพ่อค้าขายก๋วยจั๊บรับช่วงขายที่แผงย่านเยาวราช หลังจากบิดาที่ขายมายาวนานจากไปด้วยโรคระบาดโควิด เมื่อเดือนตุลาคม 2564
อาทิตย์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์

หลังจากเลี้ยงลูกสามคนมาจนโตด้วยการขายน้ำเต้าหู้บนถนนสีลมมา 28 ปี สมศักดิ์และวรรณา ศรีทรัพย์ พบว่ารายได้จากการขายน้ำเต้าหู้ลดลงช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา หลังจากกรุงเทพมหานครให้ย้ายที่ขาย

ก่อนโควิดขายน้ำเต้าหู้ได้วันละ 2,500 บาท แต่วันก่อนขายได้ 700 บาทสมศักดิ์ เจ้าของแผงน้ำเต้าหู้วัย 65 กล่าว ที่เราไปประชุมกับกรุงเทพมหานคร เขาอยากทำให้สวยงามเหมือนต่างประเทศ ไม่ต้องมีพ่อค้าแม่ค้าบนฟุตบาท

เมื่อราวหนึ่งปีที่ผ่านมา ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ในการพัฒนาปรับปรุงทางเท้าเมืองหลวง แผงน้ำเต้าหู้ของสมศักดิ์เป็นหนึ่งในแผงขายอาหารจำนวนหนึ่งที่ต้องย้ายจากทางเท้าริมถนนสีลมด้านนอกที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานและห้างสรรพสินค้า เข้ามาอยู่ในซอยใกล้ ๆ แทน โดยสมศักดิ์กล่าวว่า “พนักงานออฟฟิศเขาไม่เดินผ่านตรงนี้

ในช่วงเดือนนี้ กรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ พ.ศ. 2566 โดยมีกำหนดการประชุมรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงร่างดังกล่าวไปจนถึงเดือนมีนาคม 2567 

240222-TH-STREETFOOD 2.jpg

สมศักดิ์ (ซ้าย) และวรรณา ศรีทรัพย์ ขายน้ำเต้าหูบนถนนสีลมมา 28 ปีแล้ว วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 (จิตต์สิรี ทองน้อย/เบนาร์นิวส์)

ปัจจุบันมีการประเมินว่ากรุงเทพฯ มีประชากรอยู่อาศัยราว 15 ล้านคน และมีเสียงเรียกร้องดังมากขึ้นให้พัฒนาปรับปรุงทางเท้าเพื่อความปลอดภัยและการใช้งานของผู้เดินและผู้อยู่อาศัย แม้ว่าหาบเร่แผงลอยจะเป็นวิถีเศรษฐกิจของชีวิตเมืองมาอย่างยาวนานก็ตาม ผู้ว่าฯ ชัชชาติเอง ในระหว่างการเดินทางไปเมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ยังได้กล่าวชื่นชมทางเท้าที่สวยงามซึ่งอาจนำมาปรับใช้กับกรุงเทพมหานครได้

ทางเท้าแน่น

ในกรุงเทพฯ ทางเท้ามักเต็มไปด้วยแผงลอย ป้ายต่าง ๆ ป้ายรถเมล์ ที่นั่งพักของวินมอเตอร์ไซค์ ถังขยะ และต้นไม้ ซึ่งโดยมากมักแบ่งปันพื้นที่ทางเท้าที่โดยมากแล้วมีความกว้างไม่เกิน 2 เมตรเท่านั้น

คนขายแผงผลไม้บนถนนสุขุมวิท กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า เธอได้เช่าพื้นที่หน้าอาคารเอกชนไว้เป็นที่วางแผง แต่เนื่องจากแผงของเธอสามารถยกขึ้นมาไว้บนทางขึ้นอาคารได้ตลอดเวลา จึงไม่ถือว่าเธอทำผิดกฏระเบียบแต่อย่างใด

240222-TH-STREETFOOD 3.jpg

แผงต้มเลือดหมูถนนศาลาแดง ย่านสีลม วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 (จิตต์สิรี ทองน้อย/เบนาร์นิวส์)

แผงค้าขายในรูปแบบดังกล่าวและสิ่งกีดขวางทางเท้าอื่น ๆ เป็นปัญหาในการเดินทางของนักเคลื่อนไหวด้านการเข้าถึงและเท่าเทียม มานิตย์ อินทร์พิมพ์ วัย 56 ปี ซึ่งใช้วีลแชร์มากว่าสามทศวรรษแล้ว

ทางเท้ากทม. ไม่เคยดีขึ้น เราเห็นมานานจนรู้สึกไม่เห็นความผิดปกติ บนพื้นที่ทางเท้าต้องมีมาตรการ ทางเท้าต้องมีมาตรฐาน ทุกคนใช้ได้ ทางเท้าในเขตเมืองกำหนดไว้ว่าต้องมีความกว้างไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร ซึ่งกว้างพอให้คนเดินสวนกันได้ ส่วนพื้นที่สำหรับวีลแชร์ต้องมีอย่างน้อย 90 เซนติเมตรขึ้นไป

กทม. มีแผนการปรับปรุงทางเท้า 1,000 กิโลเมตรโดยทำให้มีความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยและมีพื้นที่สีเขียว และแก้ไขปัญหาที่เห็นได้ทั่วไปอย่างพื้นทางเท้าไม่เรียบ เป็นหลุม กระเบื้องปูไม่เรียบสนิทและแอ่งน้ำขังด้วย

วิถีคนไทยเป็นแบบนี้

เมื่อราวต้นปี 2566 กรุงเทพมหานครมีแผนการย้ายแผงลอยราว 70 แผง ออกจากบริเวณทางเท้าถนนสีลม ซึ่งรวมถึงแผงของสมศักดิ์ด้วย โดยได้เสนอให้ย้ายเข้าสถานที่ขายอาหารโดยเฉพาะที่เรียกว่าฮอกเกอร์ เซนเตอร์ (hawker center) โดยได้เกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่กทม. และผู้ขาย สุดท้ายแล้วผู้ค้าได้ตกลงกับกทม. เพื่อย้ายแผงเข้าไปในซอยใกล้ ๆ แทน ซึ่งก็ยังขายบนทางเท้าอยู่

240222-TH-STREETFOOD 4.jpg

ลูกค้ารับประทานอาหารริมทางในย่านเยาวราช เมื่อเดือนกันยายน 2565 (ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี)

ฮอกเกอร์ เซนเตอร์ หรือศูนย์อาหาร เป็นแนวคิดที่นำมาจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งประสบความสำเร็จในการจัดการหาบเร่แผงลอยตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970

ในปี 2566 กรุงเทพมหานครประเมินว่ามีผู้ค้ากว่า 20,000 ราย โดยได้มีการสำรวจพื้นที่ที่จะทำเป็นศูนย์อาหารเพื่อรองรับผู้ค้าได้ราว 10,000 ราย แต่ผู้ค้าหลายรายได้กล่าวว่าค่าเช่าพื้นที่แพงและสถานที่ตั้งไม่ส่งเสริมในการทำการค้า

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ ชัชชาติได้เปิดฮอกเกอร์ เซนเตอร์ บริเวณริมคลองบางลำพู แต่เมื่อเบนาร์นิวส์ลงพื้นที่สำรวจเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปรากฏว่าแทบไม่มีผู้ค้าและผู้ซื้อแต่อย่างใด โดยแม่ค้ารายหนึ่งกล่าวว่าผู้ขายบางรายต้องเข็นแผงออกไปยังถนนด้านนอกเนื่องจากไม่มีลูกค้าเดินเข้ามาซื้อ

ถ้าต้องย้ายไปตรงพัฒน์พงศ์ต้องเสียค่าเช่าวันละ 1,000 บาท เพราะเป็นที่เอกชน และลูกค้าเราไม่สามารถไปได้ เวลาซื้อของคนต้องเดินผ่าน คนเลิกงานออฟฟิศใครอยากซื้อก็ซื้อ วิถีคนไทยเป็นอย่างนี้ ตอนไปประชุมกับกทม. เขาแนะนำให้ลุงไปเป็นยาม ให้ป้าเป็นแม่บ้าน อายุขนาดนี้แล้ว คุณคิดได้ยังไงสมศักดิ์ เจ้าของแผงน้ำเต้าหู้ย่านสีลมกล่าว

ในปี 2560 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครขณะนั้น พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมืองได้กำหนดให้เขตที่เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างถนนข้าวสารและย่านเยาวราชให้เป็นสถานที่ขายอาหารบนฟุตบาทได้เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแม้ว่าจะดำเนินการปราบหาบเร่แผงลอยในย่านอื่น ๆของกทม. แล้วก็ตาม

ในปี 2565 ชัชชาติกล่าวว่า มีสองมิติคือความยากลำบากของคนและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง ซึ่งต้องหาจุดสมดุลให้ได้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีนโยบายผ่อนปรนเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมืองแต่อย่างใด 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง