มาเลเซียตั้งข้อหาค้ามนุษย์กับคนไทยสี่ราย จากการขุดพบหลุมศพจำนวนมาก ปี 2558

อิลี ชาซวานี และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2023.06.23
รัฐปะลิส มาเลเซีย และกรุงเทพฯ
มาเลเซียตั้งข้อหาค้ามนุษย์กับคนไทยสี่ราย จากการขุดพบหลุมศพจำนวนมาก ปี 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจนำคนไทย 4 คน ไปขึ้นศาลเซสชัน ในปะลิส ประเทศมาเลเซีย วันที่ 23 มิถุนายน 2566
อิลี ชาซวานี/เบนาร์นิวส์

ศาลมาเลเซียตั้งข้อหาคนไทย 4 ราย เมื่อวันศุกร์ ในข้อหาค้ามนุษย์ผู้อพยพจากเมียนมา หนึ่งวันหลังจากไทยส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นครั้งแรก เพื่อแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นในการปราบปรามการลักลอบค้ามนุษย์อย่างหนัก

คนไทยถูกตั้งข้อหาในคดีที่เกี่ยวกับการค้นพบหลุมฝังศพมากกว่า 100 ศพ ของเหยื่อค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาและบังกลาเทศ ใกล้ชายแดนไทย-มาเลเซีย ในปี 2558 หากพบว่ามีความผิด อาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 15 ปีและปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ต้องหาไทยทั้งสี่ราย ไม่มีตัวแทนทนายความ ถูกตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์และการต่อต้านการลักลอบนำเข้าแรงงานข้ามชาติของมาเลเซีย ซึ่งเข้าข่ายความผิดที่ไม่สามารถประกันตัวได้

ผู้ต้องหาพยักหน้ารับทราบ เมื่อล่ามศาลอ่านข้อกล่าวหาเป็นภาษาไทย ต่อหน้าผู้พิพากษา มุสยิริ พีท ที่ศาลเซสชันส์ ที่ตั้งอยู่ทางเหนือของรัฐปะลิส

ศาลกำหนดนัดหมายครั้งต่อไปในวันที่ 25 กรกฎาคม มุสยิริ กล่าว

ผู้ต้องหาชาวไทย 4 ราย ได้แก่ อรุณ แก้วฟ้านอก อายุ 30 ปี, เจ๊ะปา ลาปีอี 51 ปี, สมพล อาดำ 51 ปี และบุญเย็น นีซาละห์ 58 ปี

อรุณ, เจ๊ะปา และสมพล ลักลอบค้ามนุษย์ โมห์ด เบลาล ชายชาวเมียนมา ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงมีนาคม 2557 ที่วังเกอเลียน ในอำเภอปาดังเบซาร์ ในปะลิส

ส่วน บุญเย็น ผู้ต้องหารายที่ 4 ถูกกล่าวหาว่าค้ามนุษย์ชาวเมียนมาอีกคนหนึ่ง ชื่อเซดุล อิสลาม ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2556 ในสถานที่เดียวกัน

ในกรุงเทพฯ วันศุกร์นี้ พล.ต.ต. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า การส่งผู้ต้องหาทั้งสี่รายไปประเทศมาเลเซีย ถือเป็น “การส่งผู้ร้ายข้ามแดนครั้งประวัติศาสตร์”

“ความร่วมมือนี้จะแสดงให้โลกเห็นว่า เราให้ความสำคัญกับปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือระหว่างประเทศในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติให้มีประสิทธิภาพต่อไป และแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในระดับชาติที่สำคัญอีกครั้ง ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ซึ่งได้ประสานความร่วมมือเช่นวันนี้” พล.ต.ต. สุรเชษฐ์ กล่าวในการแถลงข่าว

ในปี 2560 มาเลเซียได้ขอให้ส่งผู้ต้องหา 10 คนจากประเทศไทย แต่ทางการไทยระบุว่าหนึ่งในนั้นมาจากบังคลาเทศ

ผู้ต้องหา 9 คน ที่มาเลเซียได้ออกหมายจับ พบว่าการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นเรื่องการขนคน และเอาคนไปฆ่า” พล.ต.ต. สุรเชษฐ์ กล่าว

คนเหล่านี้เขามีความต้องการที่จะแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า แต่กลับถูกหลอกและถูกบังคับ ถูกกักขังอยู่ในป่า และสุดท้ายก็นำไปถึงการฆ่า

ในบรรดาผู้ต้องหาที่เหลือ พล.ต.ต. สุรเชษฐ์ กล่าวว่า มีเพียงหนึ่งหรือสองคนเท่านั้นที่ยังคงถูกจองจำในประเทศไทย ในขณะที่ที่เหลือเสียชีวิตแล้ว โดยไม่ได้ให้รายละเอียด

“เมื่อพวกเขา [รับโทษ] เสร็จสิ้น เราจะส่งพวกเขาไปยังรัฐปะลิส (ในมาเลเซีย)” พล.ต.ต. สุรเชษฐ์ กล่าว

230623-th-my-extradition-mass-graves2.jpg

เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาชาวไทย 4 ราย ในกรุงเทพฯ ขณะรอการส่งตัวไปรับการพิจารณาโทษคดีค้ามนุษย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการขุดพบศพเหยื่อชาวโรฮิงญาในพื้นที่ตำบลปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา และในวังเกอเลียน ประเทศมาเลเซีย วันที่ 22 มิถุนายน 2566 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)

ในขณะเดียวกัน ในเมืองปะลิส รองผู้บัญชาการตำรวจ บาเดรูฮิสฮัม บาฮารูดิน กล่าวกับสื่อหลังการพิจารณาคดีของศาลว่า ผู้ต้องสงสัยชาวไทยอีกคน ในคดีวังเกอเลียน ถูกจับกุมในรัฐยะโฮร์เมื่อปีที่แล้ว และถูกตั้งข้อหาค้ามนุษย์เมื่อเดือนเมษายน

สุชาติ โต๊ะห์ดิน ผู้ต้องหา วัย 34 ปี พ่อค้าแผงขายอาหาร ถูกกล่าวหาว่าค้ามนุษย์ชาวเมียนมาระหว่างเดือนสิงหาคม 2557 ถึงมีนาคม 2558 ที่บูกิตวังพม่า วังเกอเลียน ยังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาคดี บาเดรูฮิสฮัม กล่าว

ในเดือนมกราคม 2558 ทางการมาเลเซียพบหลุมฝังศพมากมายถึง 139 หลุม และค่ายกักกันร้าง 28 แห่ง กระจายอยู่ใกล้เนินหินตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่บูกิตวังพม่า ในวังเกอเลียน โดยใช้เวลาถึงสี่เดือนในการขุดศพขึ้นมา

โครงกระดูกมากกว่า 100 โครง เชื่อว่าเป็นของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญาจากเมียนมา ถูกพบในหลุมฝังศพ ขณะที่กระดูกส่วนอื่น ๆ เห็นได้ชัดว่าเป็นของผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารจากบังกลาเทศ

จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีชาวมาเลเซียถูกตั้งข้อหาเกี่ยวโยงกับการค้นพบหลุมศพหมู่ในปี 2558 มีเพียงชาวต่างชาติสี่คนเท่านั้นที่ถูกตัดสินลงโทษและจำคุก

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย อัยการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด 102 คน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ค้นพบหลุมฝังศพ 32 หลุมที่อยู่บริเวณชายแดนในฝั่งไทย โดยมีผู้ที่ถูกตัดสินลงโทษจำคุกทั้งสิ้น 62 คน โดยหนึ่งในนั้นเป็นทหารยศพลโท ซึ่งได้รับโทษจำคุก 82 ปี แต่ได้เสียชีวิตลงในขณะถูกจองจำ 2 ปีที่ผ่านมา

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง