ยูเอ็น : ประเทศเอเชียแปซิฟิกต้องฉีดวัคซีนต้านโควิด แก่แรงงานข้ามชาติทันที
2021.03.10
กรุงเทพฯ

ที่ประชุมเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ที่เริ่มต้นขึ้นในวันพุธนี้ กล่าวว่า แรงงานอพยพข้ามชาติ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และต้องตกค้างอยู่ในประเทศต่าง ๆ ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโดยด่วน เพราะแรงงานเหล่านี้มีบทบาทสำคัญกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค
นางอาร์มิดา ซัลเซียะฮ์ อาลิสจะฮ์บานา เลขาธิการบริหาร คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) กล่าวว่า แรงงานอพยพในภูมิภาคนี้ มีถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานอพยพย้ายถิ่นทั่วโลก ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่พวกเขาได้ผลกระทบอย่างรุนแรงมาก
“ผลกระทบ (ของโควิด) ต่อแรงงานนั้นมีความเสียหายหนักหน่วงมาก ด้วยธรรมชาติของการทำงาน แรงงานข้ามถิ่นต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการติดเชื้อ ตกงาน และสูญเสียสภาพความเป็นอยู่ที่ดี ตกค้างตามชายแดน บ้างก็ถูกบังคับส่งกลับ ถูกแปลกแยก ถูกกล่าวโทษ รวมทั้งถูกเหยียดเชื้อชาติ” นางอาร์มิดา กล่าว
“แรงงานอพยพจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นตัวของประเทศในระยะยาว และงานที่พวกเขาทำ จะต้องได้รับการยอมรับและเห็นคุณค่า พวกเขาจะต้องถูกรวมอยู่ในนโยบายโครงการฉีดวัคซีน... เราจะปลอดภัย ก็ต่อเมื่อทุกคนปลอดภัย” นางอาร์มิดากล่าว
ในการประชุมเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ที่มีวัตถุประสงค์ในการทบทวนความคืบหน้า และความท้าทายในการดำเนินการ เรื่องข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration in Asia and the Pacific – GCM) ที่ประเทศสมาชิกองค์กรสหประชาชาติได้ให้การสนับสนุนในปี พ.ศ. 2561 (ยังเป็นเอกสารที่ยังไม่มีข้อผูกพันธ์ทางกฎหมาย) ที่จะดำเนินไปจนถึงวันศุกร์นี้ นางอาร์มิดา ได้เสนอให้ที่ประชุมร่วมหาแนวทางบริหารจัดการในเรื่องนี้ เช่น การส่งเสริมสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามถิ่นในภูมิภาค การฉีดวัคซีนโรคโควิด การหางานและจ่ายค่าแรงงานอย่างเหมาะสม การลดค่าธรรมเนียมในการโอนเงินของแรงงาน เป็นต้น
ในปี 2562 มีผู้อพยพย้ายถิ่นระหว่างประเทศเกือบ 65 ล้านคน ในภูมิภาคนี้ ตามรายงานของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางที่ดึงดูดแรงงานย้ายถิ่น ในภูมิภาค จากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา และลาว
ด้านนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของภูมิภาค แต่โรคโควิดได้เพิ่มความอ่อนแอให้กับแรงงาน โดยเฉพาะการเผชิญสุปสรรคในการรับการบริการทางการแพทย์และประกันสังคม
“ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ ในบางกรณี มีการให้ข้อมูลที่ผิด ๆ และให้ร้ายแรงงานข้ามชาติ ว่าเป็นภัยต่อสาธารณะและความมั่นคง เรื่องนี้ต้องมีการลงสัตยาบัน และต้องมีการแก้ไข” นายดอน กล่าว
เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของไทยกล่าวว่า แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมายเป็นสาเหตุหนึ่งของการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ หลังจากที่ ในเวลานั้น พบแรงงานหลายคนติดเชื้อโควิด-19 ที่ตลาดอาหารทะเล ในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นตลาดอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมายทั้งสิ้นประมาณ 2.2 ล้านคน
เบนาร์นิวส์ได้ติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อสอบถามจำนวนแรงงานข้ามฃาติ ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนา ตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่เจ้าหน้าที่ไม่มีข้อมูลดังกล่าว
จากข้อมูลทางการ ในวันพุธที่ผ่านมา จังหวัดสมุทรสาครได้รับวัคซีนซิโนแวค จำนวน 70,000 โดส และมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 33,621 คน
ไทยแจงฮิวแมนไรท์วอทช์ ส่งเมียนมา 8 คนกลับประเทศเป็นมาตรการปกติ
ในวันพุธนี้ หน่วยงานรัฐบาลไทยยืนยันการส่งตัวชาวเมียนมาและพระสงฆ์รวม 8 ราย กลับประเทศเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2564 ว่าเป็นการส่งกลับตามมาตรการปกติ ไม่ได้เป็นการขับไล่ ตามที่องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ไทยยุติการเนรเทศผู้ลี้ภัยเมียนมากลับไป
ทั้งนี้ องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวในเอกสารข่าวโดยอ้างอิงถึงข้อมูลจากรายงานข่าวของสื่อมวลชนว่า ในช่วงดึกวันที่ 7 มีนาคม 2564 กองกำลังผาเมือง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย จับกุมตัว พระสงฆ์ 2 รูป ผู้ชาย 2 คน และผู้หญิง 4 คน ขณะกำลังเดินเท้าข้ามแม่น้ำรวก จาก จ.ท่าขี้เหล็ก เมียนมา มายังบ้านเวียงแก้ว หมู่ 5 ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน โดยหลังจากนั้นได้ทำการส่งทั้ง 8 คนกลับทางช่องทางเดิมทันที โดยระบุว่า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะตรวจพบว่า 3 ใน 8 คน มีไข้สูง
ในวันพุธนี้ พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์ว่า การส่งกลับดังกล่าวเป็นนโยบายการป้องกันโควิด-19 ของไทย เป็นประการสำคัญ
“กรณีที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าเป็นการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายหรือไม่ผ่านการตรวจคัดกรองโรค เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามกฎหมายและมาตรการป้องกันโรคของไทย โดยจะดำเนินการให้กลับประเทศตามช่องทางที่ลักลอบเข้ามาหรือที่ตรวจจับได้ ซึ่งดำเนินการในลักษณะเดียวกันทุกแนวชายแดน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นสำคัญ” พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าว
ขณะที่ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ระบุว่า “ตม. ปฏิบัติตามการส่งกลับที่สถานกักกันของ ตม. ต้องปฏิบัติปกติ ซึ่งทางการเมียนมาจะสามารถไม่รับก็สามารถทำได้ แต่หากเขารับกลับก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ตม. มีขั้นตอนการส่งกลับเป็นเรื่องปกติ คนที่เข้ามาถูกจับ ก็ต้องรอการส่งกลับตามขั้นตอนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องระบุว่าเป็นเหตุผลใด ๆ”
ด้านนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้ข้อมูลผ่านทางเมสเสจว่า ยังไม่พบว่า มีผู้ขอลี้ภัยเป็นกลุ่มจากเมียนมา
“ถึงปัจจุบัน ยังไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่ามีกลุ่มผู้ขอลี้ภัยเป็นกลุ่มใหญ่ ได้ข้ามแดนเข้ามาเพราะเหตุการณ์บ้านเมืองในประเทศเมียนมา... ที่ผ่านมา มีกลุ่มคนมากมายหลายกลุ่มที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ด้วยเหตุผลประการต่าง ๆ ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะเป็นการหนีการสู้รบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่อยู่ห่างจากเมืองย่างกุ้ง” นายธานี กล่าว
“ขอให้สบายใจได้ว่า เราได้เตรียมการต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้ต้องพิจารณาเหตุผลในการต้องข้ามแดนจากเมียนมาเข้ามา ตามที่เราเคยทำในอดีตบนพื้นฐานของมนุษยธรรม ที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ลี้ภัยทั้ง 9 แห่ง ที่มีชาวเมียนมาพักพิง 90,000 คน เป็นประจักษ์พยาน ในการที่เราให้ความช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก” นายธานี กล่าวเพิ่มเติม
การเปิดเผยของเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย สืบเนื่องจากองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดขับไล่ผู้อพยพ และให้การคุ้มครองผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวเมียนมาที่ลักลอบหนีเข้ามาในประเทศไทย หลังมีการเผยแพร่ข่าวดังกล่าว
“เจ้าหน้าที่รัฐไทยควรหยุดการผลักดันคนเมียนมากลับประเทศ รัฐบาลไทยควรเร่งให้การช่วยเหลือปกป้องผู้แสวงหาการลี้ภัยเมียนมา ซึ่งหนีความรุนแรงมายังประเทศไทย รัฐบาลไทยควรช่วยเหลือให้พวกเขามีโอกาสได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากสหประชาชาติ มาตรการชายแดนของไทยควรสอดคล้องกับหลักสากลในการปกป้องผู้ลี้ภัย” นายบิล เฟรลิก ผู้อำนวยการฝ่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุในแถลงการณ์
ทั้งนี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุตัวเลขในรายงานปี 2560 ว่า ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยในค่ายพักพิง 99,956 คน ผู้ลี้ภัยในเขตเมืองและผู้ขอลี้ภัย 6,589 คน และบุคคลไร้สัญชาติ 486,440 คน โดยในจำนวนผู้ลี้ภัยมีชาวเมียนมา 91,809 คน และจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยยังมิได้ลงนามภาคีในอนุสัญญาผู้ลี้ภัยปี ค.ศ. 1951 ของสหประชาชาติ