อดีตทหารพรานเจาะไอร้อง : ผมอยากไปช่วยยูเครนเพราะไม่ชอบการข่มเหง
2022.03.02
กรุงเทพฯ

สงวน มนละคร อดีตทหารพรานเจาะไอร้อง เดินทางไปที่สถานเอกอัครราชทูตยูเครนในวันพุธนี้ เพื่อสมัครไปเป็นกำลังพลอาสาสมัครนานาชาติ ของกองทัพยูเครนที่กำลังต่อต้านการรุกรานของรัสเซียสู้รบเพราะไม่ชอบ “การข่มเหง”
“ที่ผมอยากสมัครไปยูเครนเพราะอุดมการณ์ผมเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว ผมไม่ชอบการกดขี่ข่มเหงโดยใช้ความรุนแรง ผมมีใจรักในอาชีพ ผมเป็นอดีตทหารพราน อยู่ที่เจาะไอร้อง (จ.นราธิวาส) 6 ปี ประสบการณ์ก็อื้อ” นายสงวน มนละคร กล่าวกับเบนาร์นิวส์ระหว่างที่ไปติดต่อสถานทูต
“ผมคิดว่าสิ่งที่ปูตินทำมันไม่ถูก การตัดสินใจของปูตินเหมือนว่าเขาคิดอยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง ไม่ฟังเสียงคนอื่น แนวคิดของเขาที่จะเอาอดีตชาติในสหภาพโซเวียตกลับมาอยู่กับรัสเซียให้หมด นั่นคือการคิดจะทำสงครามแล้ว ผมเชื่อว่าไม่มีใครต้องการทำสงคราม” สงวน กล่าวเพิ่มเติม
สงวน มนละคร เป็นชาวจังหวัดหนองบัวลำภู ปัจจุบันมีอายุ 44 ปี ได้ตัดสินใจยุติอาชีพทหารพรานที่เขารักไปเมื่อราว 10 ปีก่อน เพราะครอบครัวไม่ต้องการให้เขาเสี่ยงภัย
“ตอนนั้นมีแฟน และลูกเล็ก ๆ เขาขอให้เลิกเพราะเรามีอันตราย เราก็ต้องฟัง แต่ตอนนี้ผมโสดแล้ว ผมก็เลยมาสมัคร ผมเชื่อว่าถ้าครอบครัวผมรู้ว่าผมมาสมัครไปช่วยยูเครน เขาน่าจะเห็นด้วยและดีใจ เพราะผมเต็มใจมา” สงวน กล่าว
หลังจากที่นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้เริ่มใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ไม่กี่วัน นายโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ได้ประกาศรับสมัคร “กำลังพลอาสาสมัครนานาชาติ” จากทั่วโลก ให้เดินทางไปช่วยต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย ตามรายงานของศูนย์ข่าววิกฤตยูเครน (Ukraine Crisis Media Center)
ประกาศรับสมัครดังกล่าวถูกส่งต่ออย่างแพร่หลายกลายเป็นไวรัลบนโลกอินเทอร์เน็ต ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย ทำให้ในวันพุธนี้ มีชายไทยหลายสิบคนเดินทางมายังอาคารออลซีซั่น เพลส ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศ เพื่อส่งใบสมัคร
ในวันเดียวกัน มีการเผยแพร่ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตว่า ยูเครนพร้อมให้ค่าตอบแทนแก่กำลังพลอาสาฯ เป็นเงิน 1 แสนบาทต่อเดือน และหากต้องเสียชีวิตในการสู้รบยูเครนจะจ่ายค่าชดเชย 16 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผู้สนใจอยากสมัครเป็นกำลังพลอาสาต้องผิดหวัง เนื่องจากเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตยูเครน ได้แจ้งให้พวกเขาทราบว่าทางสถานทูตฯ ยังไม่มีรายละเอียดในเรื่องนี้
“สถานทูตเองก็ยังไม่ทราบรายละเอียดการรับสมัคร ค่าตอบแทน หรือกำหนดการไปใด ๆ เพราะประธานาธิบดียูเครน เป็นคนประกาศรับสมัคร แต่ยังไม่ได้ส่งรายละเอียดมาให้สถานทูต” เจ้าหน้าที่สถานทูตฯ ผู้ไม่ประสงค์ออกนามเพื่อความปลอดภัย กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ในระหว่างนี้ สถานทูตฯ ได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่สนใจส่งสำเนาหนังสือเดินทาง และประวัติการรบไปที่อีเมลของเจ้าหน้าที่สถานทูตฯ
“เบื้องต้นก็ให้ส่งหน้าพาสปอร์ตและซีวี (ประวัติ) ไปตามอีเมลที่ประกาศ หากได้เดินทางไปยูเครนจริง ๆ อาสาสมัครจำเป็นต้องออกค่าเดินทางเอง ซึ่งค่าใช้จ่ายน่าจะตกราว ๆ 3 หมื่นกว่าบาท คนสนใจเยอะมาก วันนี้รับโทรศัพท์ไม่หวาดไม่ไหวเกินร้อยสาย” เจ้าหน้าที่สถานทูตฯ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ทั้งนี้ กลุ่มเฟซบุ๊ก “ทหารรับจ้างยูเครน” ซึ่งมีสมาชิกกว่า 1,400 คน ได้มีการสนทนากันถึงความเป็นไปได้ในการเดินทางว่า ยังมีข้อสงสัยในเรื่องการเดิน รายละเอียดเรื่องจุดรวมพล และการสนับสนุนเรื่องอาหาร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวแสดงความเป็นกังวลต่อเรื่องการสมัครเป็นทหารอาสา
“ขณะนี้ กำลังให้ความสำคัญสูงสุดในกรณีของยูเครน ซึ่งเรานำพาคนไทยออกมาได้เกินครึ่งแล้ว และทุกคนรวมถึงคนที่ยังอยู่ในยูเครนยังปลอดภัย จึงมีความเป็นห่วงกังวลมากหากจะมีคนไทยเดินทางไปสู้รบในยูเครน เกรงจะได้รับอันตราย ซึ่งเราก็ต้องดูแลอีก” นายธานีกล่าวกับเบนาร์นิวส์
อยากร่วมภารกิจด้านสิทธิมนุษยชน
นอกจากคนที่สนใจภารกิจสู้รบแล้ว ยังมีผู้ที่สนใจสมัครไปเพื่อช่วยในภารกิจด้านมนุษยธรรมโดยไม่ต้องการมีส่วนในการใช้อาวุธโดยตรง
นายเอ็ม (สงวนชื่อและนามสกุลจริงเพื่อความปลอดภัย) อดีตเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตแห่งหนึ่ง อายุ 27 ปี ได้เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า เขาเองก็สนใจประกาศรับสมัครดังกล่าว แต่ต้องผิดหวังเพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน
“ถ้าได้ไปยูเครนจริง ผมคิดว่ามันจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต ผมสงสารคนที่นั่น อยากไปช่วยเขา ไม่ได้อยากยิงใครหรอก” นายเอ็มกล่าว
“แต่คนยูเครนไม่ควรต้องมารับผิดชอบการกระทำของรัฐบาล ผมเคยฝึกการใช้อาวุธ เคยออกภาคสนามบ้าง แต่ไม่เคยรับราชการ ก็อยากไปช่วยพวกเขา ถ้าช่วยได้”
ด้าน พิงค์กี้ (สงวนชื่อและนามสกุล) ชาวจังหวัดสุโขทัย อายุ 60 ปี เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า เธอได้ส่งใบสมัครเข้าเป็นกำลังพลอาสาฯ เมื่อวันอังคารนี้ เพราะเห็นใจชาวยูเครน
“เราพูดภาษาอังกฤษได้ เป็นนักจิตวิทยา พร้อมที่จะช่วยเหลือสนับสนุนแนวหลัง หรือช่วยบำบัดจิตคน เราเองไม่กลัวตายเพราะจะช้าหรือเร็วก็ต้องตาย อยากทำประโยชน์ให้กับมนุษยชาติ และจะสะใจมากกว่าถ้าได้ตายกลางสนามรบ” พิงค์กี้ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเฟซบุ๊ก “ทหารรับจ้างยูเครน” กล่าว
ชนวนสงคราม
ชนวนของการสู้รบระหว่างยูเครนและรัสเซียครั้งนี้ สื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ทั่วโลกเชื่อว่า เกิดจากการที่ยูเครนพยายามใกล้ชิดองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization - NATO) ซึ่งปูตินเห็นว่าสถานการณ์ดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อรัสเซีย และเมื่อยูเครนไม่ยอมเปลี่ยนท่าที รัสเซียจึงเริ่มโจมตี
หลังมีการสู้รบร่วมสัปดาห์ รัฐบาลยูเครนระบุว่า มีพลเรือนยูเครนเสียชีวิตแล้วร่วม 400 คน โดยในนั้นหลายสิบคนเป็นเด็ก ขณะที่ทหารรัสเซียเสียชีวิตแล้วกว่า 5 พันนาย เครื่องบิน และเฮลิคอปเตอร์ตกกว่า 60 ลำ และรถถังถูกทำลายกว่า 150 คัน การสู้รบดังกล่าวกระทบต่อราคาน้ำมัน ราคาสินค้า และตลาดหลักทรัพย์รวมถึงเงินดิจิทัลทั่วโลก
ขณะเดียวกัน นานาชาติเองก็พยายามอย่างมากเพื่อยุติสงครามที่กำลังเกิดขึ้น โดยหลายชาติได้แถลงประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และพยายามใช้การแทรกแซงทางการทูต เศรษฐกิจ และการกีฬา
หากการสู้รบยังดำเนินต่อไป ขณะที่บางประเทศก็ได้แสดงจุดยืนสนับสนุนการกระทำของรัสเซียด้วย ด้านรัฐบาลไทยยังคงพยายามวางตัวเป็นกลางต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
“การเป็นกลางในสถานการณ์ที่อยุติธรรม เปรียบเสมือนการเลือกที่อยู่ข้างผู้กดขี่ ไทยควรรักษาบรรทัดฐานประชาคมโลกเอาไว้ โดยแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการรุกราน” รัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศคาซัคสถาน และรองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ด้านการช่วยเหลือคนไทยในยูเครน สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอร์ซอ กำลังเร่งอพยพคนไทยออกจากประเทศยูเครน เพื่อความปลอดภัย โดยในวันพุธนี้ มีคนไทย 96 คนได้เดินทางกลับถึงประเทศไทยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานทูตฯ ระบุว่าคนไทยได้อพยพออกจากยูเครนแล้วทั้งสิ้น 142 คน ขณะที่คนไทยบางส่วนกำลังได้รับการช่วยเหลือให้อพยพออกจากยูเครนอยู่
กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ก่อนการสู้รบ มีคนไทยในยูเครน 255 คน กระจายอยู่ในหลายเมือง เช่น เคียฟ, คาเคียฟ, โอเดสซ่า เป็นต้น