นักวิเคราะห์กล่าว การประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียนมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์มากกว่า

อาจเกิดผลทางรูปธรรมน้อย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ
ไชลาจา นีลากันตัน
2022.05.11
วอชิงตัน
นักวิเคราะห์กล่าว การประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียนมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์มากกว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวปราศรัย ที่ North Carolina Agricultural and Technical State ในเมืองกรีนส์โบโร รัฐนอร์ธแคโรไลนา วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2565
เอพี

สหรัฐอเมริกาจัดการประชุมสุดยอดระดับผู้นำกับประเทศสมาชิกอาเซียนในสัปดาห์นี้ ที่กรุงวอชิงตัน เพื่อเน้นย้ำความมุ่งมั่นที่มีต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้อยู่ในระหว่างการรับมือกับความวุ่นวายในยูเครน นักวิเคราะห์กล่าว

แต่ไม่น่าเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะเสนอกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน เพื่อลดการพึ่งพาจีนมากเกินไปของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนั่นจะทำให้การประชุมครั้งนี้ดูไม่น่าจะสลักสำคัญเท่าใดนัก นักวิเคราะห์กล่าวเสริม

ในการประชุมสองวันที่จะเริ่มขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ คาดว่าประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน จะหารือกันเรื่องความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิก เมียนมา ยูเครน และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ บรรดานักวิเคราะห์บอกว่าการประชุมครั้งนี้ไม่น่าจะเกิดผลลัพธ์อะไรมากนัก นอกจากแถลงการณ์ร่วมที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่จีนใช้กำลังทหารในการขยายอาณาเขตของจีนในทะเลจีนใต้

“ความสำคัญของการประชุมนี้คือว่า ได้มีการจัดการประชุมขึ้นเท่านั้น” บิลาฮารี เกาสิกัน ประธานสถาบันตะวันออกกลางที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าว

“การประชุมครั้งนี้เป็นเพียงการสื่อสารให้ทราบว่า แม้ยามสงครามกำลังโหมกระหน่ำอยู่ในยูเครน สหรัฐฯ ก็จัดการประชุมสุดยอดกับอาเซียนขึ้น และตอกย้ำว่าสหรัฐฯ สามารถทำสองสิ่งไปพร้อมกันได้” อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ กล่าวเมื่อวันอังคารในระหว่างการสัมมนาออนไลน์ ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์สติมสัน สถาบันคลังสมองในกรุงวอชิงตัน

คาดว่าผู้นำแปดประเทศจากทั้งหมดสิบประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ไม่มีการเชิญผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา และประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่กำลังพ้นจากตำแหน่งตัดสินใจที่จะไม่เข้าร่วมประชุม การประชุมครั้งนี้เป็นเพียงครั้งที่สองที่จัดขึ้นโดย สหรัฐอเมริกา และเป็นการเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 45 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อาเซียน

เกร็ก โพลิ่ง นักวิเคราะห์สถานการณ์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการต่างประเทศ (Center for Strategic and International Studies: CSIS) กล่าวว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้จัดขึ้นเป็นเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น “และสัญลักษณ์มีความสำคัญในการทูต”

“การประชุมครั้งนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะอินโด-แปซิฟิกเป็นเวทีสำคัญ และอาเซียนเป็นศูนย์กลางของกลยุทธ์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ยังไม่เคยพบปะเจอตัวกับผู้นำหลายคนของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น การประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่จะได้พบตัวกันจริง ๆ และจะแสดงให้เห็นว่าความมุ่งมั่นที่สหรัฐฯ มีต่อภูมิภาคนี้เป็นมากกว่าเพียงคำพูดเท่านั้น” เกร็ก โพลิ่ง บอกแก่เบนาร์นิวส์

ในระหว่างการประชุมสุดยอดเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ไบเดนได้พบปะทางออนไลน์กับผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน เขายังได้พบกับนายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ซึ่งเดินทางมายังกรุงวอชิงตัน เมื่อเดือนมีนาคม และพบกับนายโจโค “โจโควิ” วิโดโด นอกรอบการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ในเมืองกลาสโกว์

รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดนี้ได้ย้ำแล้วย้ำอีกว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ต่อสหรัฐฯ ภูมิภาคนี้มีความสำคัญมาก เพราะอิทธิพลอันมหาศาลของจีนที่มีต่อภูมิภาคนี้ ตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนของสหรัฐฯ รวมทั้งนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และ พล.อ. ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางไปเยือนภูมิภาคนี้

ความกังวลของจีน

สำหรับจีนแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ จีนได้ออกแถลงการณ์เตือนสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับการประชุมสุดยอดครั้งนี้ หลังจากการพูดคุยกันระหว่างนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน และรัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา ซึ่งเป็นประธานอาเซียนปีนี้

“ความพยายามเอาแนวความคิดสงครามเย็นเข้าสู่ภูมิภาคนี้ และการกระตุ้นและทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันของฝ่ายต่าง ๆ จะทำลายสันติภาพและพัฒนาการที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศในเอเชียควรระแวดระวังและปฏิเสธความพยายามเหล่านี้โดยสิ้นเชิง” แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าว

เคิร์ต แคมป์เบลล์ เจ้าหน้าที่ประสานงานกิจการอินโด-แปซิฟิกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ตอบโต้ข้อกังวลดังกล่าวของจีนเมื่อวันพุธ

“ประธานาธิบดีไบเดนจะตรงไปตรงมา เขาจะพูดถึงความปรารถนาที่จะแข่งขันอย่างสันติ เขาไม่ต้องการให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่สงครามเย็นครั้งใหม่” เคิร์ต แคมป์เบลล์ กล่าวถึงการประชุมสุดยอดครั้งนี้ในการสัมมนาออนไลน์ “เราตระหนักว่าโครงการใดก็ตามที่ทำขึ้นเพื่อการแข่งขันเพียงอย่างเดียว จะประสบความสำเร็จได้ยากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงการนั้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความต้องการและความปรารถนาของประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ทะเลจีนใต้

ฮันเตอร์ มาส์ตัน นักวิเคราะห์สถานการณ์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นคนหนึ่งที่คาดว่าแถลงการณ์ปิดการประชุมจะมีถ้อยคำรุนแรงเกี่ยวกับการที่จีนใช้กำลังทหารเพื่อขยายอาณาเขตของจีนในทะเลจีนใต้

“สำหรับการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียนนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนมีความชัดเจนเล็กน้อย ถ้าดูที่ปฏิญญาซันนีแลนด์แล้ว อาเซียนกล้าที่จะแสดงความเห็นมากกว่ามาก [และ] เห็นด้วยกับประเด็นการพูดคุยของสหรัฐฯ มากกว่า” ฮันเตอร์ มาส์ตัน นักวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าว

เขาหมายถึงการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียนเมื่อปี 2559 ที่ซันนีแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในสหรัฐอเมริกา แถลงการณ์ปิดการประชุมนั้นเน้นย้ำถึงความเคารพซึ่งกันและกันในอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และความเท่าเทียมกันของทุกประเทศ และมีสองวรรคที่พูดถึงการยึดมั่นร่วมกันต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea: UNCLOS)

แอนน์ มารี เมอร์ฟี นักวิเคราะห์คนหนึ่งกล่าวว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา อาเซียนใช้ถ้อยคำที่หนักแน่นขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์ทะเลจีนใต้

“ดังนั้น ฉันคิดว่าเราจะเห็นแถลงการณ์อันหนักแน่นที่สนับสนุนไม่เพียงแต่อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนหลักการพื้นฐานนั้นด้วย” แอนน์ มารี เมอร์ฟี อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยซีตัน ฮอลล์ กล่าว

แต่แถลงการณ์ปิดประชุมอาจมีถ้อยคำที่อ่อนลง เนื่องจากกัมพูชาซึ่งสนับสนุนจีน ทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนของปีนี้ ผู้เชี่ยวชาญอีกคนกล่าว

“สำหรับเรื่องทะเลจีนใต้ อาเซียนอาจใช้ถ้อยคำที่รุนแรง แต่ทุกประเทศต้องเห็นชอบร่วมกัน กัมพูชาไม่อยากใช้ถ้อยคำที่รุนแรง” จอช เกอแลนต์ซิก นักวิชาการอาวุโสด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สภาวิเทศสัมพันธ์ (Council on Foreign Relations: CFR) บอกกับเบนาร์นิวส์

จีนอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด รวมทั้งน่านน้ำในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของสมาชิกอาเซียนอย่างบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และของไต้หวันซึ่งไม่ใช่สมาชิกอาเซียน

แม้อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกอาเซียน จะไม่ถือว่าตัวเองเป็นภาคีในข้อพิพาททะเลจีนใต้ก็ตาม แต่จีนอ้างสิทธิ์ทางประวัติศาสตร์เหนือพื้นที่บางส่วนของทะเลจีนใต้ที่ทับซ้อนกับเขตเศรษฐกิจจำเพาะของอินโดนีเซียด้วย

ยูเครน

นักวิเคราะห์กล่าวว่า อีกหัวข้อหลักของการประชุมสุดยอดครั้งนี้คือ การรุกรานยูเครนของรัสเซีย

เดวิ ฟอร์ทูนา แอนวาร์ นักวิเคราะห์ด้านกิจการระหว่างประเทศที่สำนักงานวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (National Research and Innovation Agency: BRIN) ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาล กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่สหรัฐฯ จะเห็นชอบร่วมกันกับสมาชิกอาเซียนในเรื่องการคว่ำบาตรรัสเซีย

“ประเทศสมาชิกอาเซียนมีนโยบายของตัวเอง” เธอกล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า สมาชิกอาเซียนบางประเทศพึ่งพารัสเซียด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ หรือเป็นพันธมิตรกับรัสเซียมานานแล้ว

กระนั้นก็ตาม เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ อาจพยายามโน้มน้าวบางประเทศเป็นประเทศ ๆ ไป จอช เกอแลนต์ซิก แห่ง CFR กล่าว

“รัฐบาลสหรัฐฯ อาจพยายามกดดันบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เวียดนาม ให้ตีตัวออกห่างรัสเซีย และกดดันประเทศอื่น เช่น อินโดนีเซียและไทย ให้ใช้จุดยืนที่แข็งกร้าวขึ้น” เขากล่าว

220511-sea-us-summit-preview.jpeg

ผู้ประท้วงชาวไทยชุมนุมนอกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ในกรุงเทพฯ เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังในคดีหมิ่นสถาบันฯ ก่อนการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียน ในกรุงวอชิงตัน วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 (เอเอฟพี)

เมียนมา

วิกฤตหลังรัฐประหารในเมียนมาอาจเป็นหัวข้อสำคัญที่จะหารือกันในการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียนวาระพิเศษนี้ แต่นักวิเคราะห์ต่างทำนายว่า การหารือเรื่องนี้จะไม่เกิดผลใด ๆ

ทุกคนที่พูดคุยกับเบนาร์นิวส์ต่างกล่าวว่า ผู้เข้าร่วมประชุมจะย้ำฉันทามติห้าข้อ ซึ่งผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาและผู้นำอาเซียนได้ตกลงกันไว้เมื่อเดือนเมษายน 2564 หลังการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เพียงไม่กี่สัปดาห์ แต่รัฐบาลทหารเมียนมาไม่ปฏิบัติตามฉันทามตินี้

“ทุกคนจะพยักหน้าเห็นด้วยและย้ำฉันทามติห้าข้อนี้ ก็เท่านั้นเอง” กรอสส์แมน นักวิเคราะห์ที่ Rand Corp. กล่าว

การกระทำเพียงอย่างเดียวที่ส่งผลต่อรัฐบาลทหารเมียนมาคือ การที่อาเซียนไม่เชิญผู้นำรัฐบาลทหารและผู้แทนของรัฐบาลทหารเข้าร่วมในการประชุมสุดยอดและการประชุมอื่น ๆ ของอาเซียนเมื่อปีที่แล้ว

มาเลเซียได้พยายามกดดันสมาชิกอาเซียนประเทศอื่น เพื่อให้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) รัฐบาลพลเรือนของเมียนมา เข้ามามีส่วนร่วมด้วย

สมาชิกหลายประเทศจะไม่เห็นด้วยกับการให้ NUG เข้ามามีส่วนร่วมด้วย “เพราะอาเซียนไม่อยากเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในเมียนมา” เกร็ก โพลิ่ง แห่ง CSIS กล่าว

ข้อต่อที่หายไป

ด้านหนึ่งที่อาจเกิดพัฒนาการที่สำคัญขึ้นได้จากการประชุมสุดยอดครั้งนี้คือ การกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่า สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น

“สหรัฐฯ พลาดเรื่องนี้ไปแล้ว” ฮันเตอร์ มาส์ตัน ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าว

เขาหมายถึงกรอบงานเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ซึ่งประกาศออกมาเมื่อเดือนตุลาคม 2564 และได้รับการยกย่องว่าเป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ โดยจะคานอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนต่อภูมิภาคนี้ แต่เดิมจะเปิดตัวกรอบงานนี้ในเดือนเมษายน แต่ได้เลื่อนออกไปน่าจะจนถึงเดือนหน้านี้

แอนน์ มารี เมอร์ฟี แห่งมหาวิทยาลัยซีตัน ฮอลล์ เห็นด้วยว่า การขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งหนึ่งที่สหรัฐอเมริกาทำได้ เพื่อให้ความมั่นใจแก่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ และเพื่อลดความเสี่ยงของภูมิภาคนี้จากการถูกบีบบังคับจากจีน

อย่างไรก็ตาม “ตั้งแต่ทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลง TPP ไบเดนก็ทำอะไรไม่ได้เลย” เธอกล่าว โดยหมายถึงข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ข้อตกลงการค้าขนาดมหึมาที่ทำขึ้นในสมัยรัฐบาลบารัก โอบามา แต่ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนถัดมา ถอนตัวจากข้อตกลงนี้

เคิร์ต แคมป์เบลล์ เจ้าหน้าที่ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ แก้ต่างเรื่องกรอบงานเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก

“ผมไม่จำเป็นต้องบอกใครว่า การค้าเป็นเรื่องที่ขัดแย้งทางการเมืองในสหรัฐฯ แต่เราพบวิธีที่เอาชนะอุปสรรคมากมายที่สำคัญของการค้าและการลงทุนในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ เช่น การค้าดิจิทัล พลังงานสะอาด และอื่น ๆ” เขากล่าว

เขากล่าวว่า สิ่งที่เขาได้ยินได้ฟังมาจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ ประเทศเหล่านั้นต้องการความเกี่ยวพันทางเศรษฐกิจกับหลากหลายประเทศ ไม่ใช่กับเพียงประเทศเดียว

“ความเกี่ยวพันอย่างสม่ำเสมอกับจีน ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านทางตอนเหนือ ความเกี่ยวพันอย่างแท้จริงและต่อเนื่องกับสหรัฐฯ และยังต้องการมีบทบาทกับอินเดีย ต้องการมีบทบาทกับยุโรปด้วย ประเทศเหล่านี้ต้องการความสัมพันธ์หลากหลาย” เขากล่าว

อัลวิน ปราเซตโย และ แดนดี โคสวาราปุตรา ในกรุงจาการ์ตา ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง