ตำรวจนครศรีธรรมราช จับผู้หลบหนีเข้าเมืองจากประเทศพม่าได้จำนวน 76 คน
2015.03.30

ในวันจันทร์ที่ 30 มีนาคม 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจในจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้จับกุมผู้ต้องหาเดินทางเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายได้จำนวน 76 คน โดยในจำนวนนั้น เป็นชาวโรฮิงญ่ารวมอยู่ด้วย 6 คน โดยทั้งหมด เดินทางมาจากประเทศพม่า ตามรายงานของสำนักข่าวต่างประเทศ
พันตำรวจเอก อนุชน ชามาตย์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรนครศรีธรรมราช กล่าวต่อสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ผู้หลบหนีเข้าเมือง เดินทางโดยรถไฟมุ่งหน้าไปยังชายแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อที่จะไปหางานทำ ในขณะถูกจับในพื้นที่อำเภอทุ่งสง ขณะนี้ ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกักตัวไว้เพื่อสอบปากคำและได้ตั้งข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
“ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารเดินทาง ทั้งหมดได้นั่งปะปนอยู่กับผู้โดยสารชาวไทย แต่ไม่สามารถแสดงเอกสารเดินทางได้” พันตำรวจเอก อนุชน กล่าว
“ดูเหมือนว่าทั้งหมด ต้องการเดินทางไปหางานทำในประเทศมาเลเซีย โดยขึ้นรถไฟมาจากสถานีต่างๆ หลายสถานี แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่า มีคนนำพาในขบวนการค้ามนุษย์รวมอยู่ด้วยหรือไม่”
สำนักข่าวเอเอฟพี ได้รายงานเพิ่มเติมโดยอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่ตำรวจท่านหนึ่งว่า ชาวโรฮิงญ่าทั้งหกคน มีอายุอยู่ในช่วงยี่สิบปีต้นๆ ได้สารภาพต่อเจ้าหน้าที่ว่า ญาติของตนที่ได้อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซียอยู่ก่อนแล้ว ได้จ่ายเงินจำนวน 70,000 บาท ให้กับนายหน้านำพามนุษย์ชาวพม่า เพื่อให้นำพาตนเองไปยังประเทศมาเลเซีย ส่วนผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวพม่านั้นกล่าวว่า ตนไม่ได้จ่ายเงินให้กับใคร
ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากประเทศพม่าจำนวน 70 คน จะถูกส่งตัวกลับประเทศ ส่วนชาวโรฮิงญ่าทั้งหกคนนั้น เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะต้องทำกระบวนการพิสูจน์สัญชาติเสียก่อน เอเอฟพีรายงาน
และก่อนหน้าที่จะมีการจับกุม ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่าในวันนี้นั้น ในวันที่ 9 มีนาคม ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 437 ในจังหวัดสงขลา ได้จับกุมบุคคลต่างด้าวชาวพม่า จำนวน 36 คน ได้ที่บริเวณถนนเลียบแนวชายแดน ในตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาอีกด้วย
สำหรับชาวโรฮิงญ่านั้น เป็นชนกลุ่มน้อยที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า ซึ่งในห้วงปีที่ผ่านมาได้เผชิญกับการปะทะกันกับชนชาวพุทธในรัฐยะไข่เองอีกด้วย
ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการค้ามนุษย์มาเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 ตามรายงานการค้ามนุษย์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ลดระดับประเทศไทยไปอยู่ชั้นที่สาม (Tier 3) ฐานที่ละเลยในความพยายามที่จะยกระดับการแก้ปัญหาให้ได้มาตรฐานขั้นต่ำสุด
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยกำหนดให้มีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นต่อผู้กระทำผิดถึงชีวิตหรือการใช้แรงงานผู้อื่นเยี่ยงทาส
รายงานโดยทีมข่าวเบนานิวส์ ข้อมูลจากสำนักข่าวต่างประเทศ