ผลอันไม่พึงประสงค์จากความขัดแย้งในซีเรีย
2015.11.18

ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ผู้ก่อการร้ายชาวอัฟกานิสถานเป็นผู้กำหนดภูมิทัศน์ด้านการก่อการร้าย แต่ปัจจุบัน ผลอันไม่พึงประสงค์จากความขัดแย้งในซีเรีย กำลังเป็นตัวผลักดันภัยคุกคามของผู้ก่อการร้ายไปทั่วโลก
การโจมตีของผู้ก่อการร้ายในกรุงปารีสเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีผลทันทีและมีผลในระยะยาวแก่ทั่วโลก เพราะเป้าหมายที่อ่อนแอมีจำนวนมากเกินกว่าที่จะป้องกันได้ จึงเป็นไปได้ว่า เครือข่ายของกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) กลุ่มอัลกออิดะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มคู่แข่ง และกลุ่มอื่น ๆ จะใช้การโจมตีที่เกิดขึ้นในกรุงปารีสเป็นแม่แบบในอนาคต
เป็นไปได้อย่างที่สุดว่า การก่อเหตุรุนแรงในปารีส เป็นการเริ่มต้นของผลอันไม่พึงประสงค์จากการปราบปรามผู้ก่อการร้ายในซีเรีย เมื่อกลุ่มและบุคคลที่เป็นภัยคุกคามจากเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เดินทางไปยังซีเรียเพื่อร่วมต่อสู้ เมื่อบุคคลเหล่านี้กลับไปยังประเทศต่าง ๆ ในซีกโลกใต้จะยังคงเป็นพื้นที่ที่อ่อนแอที่สุดอยู่
ความสามารถของประเทศเจ้าบ้านในการเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของนักรบไอเอสที่เดินทางไปยังประเทศเหล่านี้ และในการสะกดรอยอิทธิพลทางออนไลน์ของบุคคลเหล่านี้ยังมีจำกัด เมื่อเทียบกับประเทศในยุโรปและอเมริกาเหนือ
ด้วยการเพิ่มขึ้นของผู้ก่อการร้ายในเอเชีย และกลุ่มต่าง ๆ กว่าสี่สิบกลุ่มที่สวามิภักดิ์แก่ผู้นำของกลุ่มไอเอส จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าภัยคุกคามดังกล่าว จะมีผลต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย
‘คำเตือนถึงผู้ที่อยากลองดีกับกลุ่มไอเอส’
การโจมตีเมื่อวันที่ 13 พ.ย. ในคาเฟ่ สนามกีฬา และสถานแสดงคอนเสิร์ต ในกรุงปารีส ทำให้มีผู้เสียชีวิต 129 คน และบาดเจ็บ 352 คน (บาดเจ็บสาหัส 99 คน) และเป็นการลอกเลียนแบบการโจมตีในกรุงมุมไบ (เมื่อวันที่ 26-29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551) ซึ่งผู้โจมตีที่ยอมพลีชีพจำนวน 10 คน ได้คร่าชีวิตเหยื่อจำนวน 166 คน และทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายร้อยคน ในคาเฟ่ สถานีรถไฟ โรงพยาบาล และโรงแรมสองแห่ง
ในทั้งสองเมืองดังกล่าว ผู้โจมตีพลีชีพได้ถือปืนกลเป็นอาวุธ และจับตัวประกันไว้ ก่อนที่จะฆ่าตัวประกันเหล่านั้นอย่างเลือดเย็น การวางแผนการโจมตีทำขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกันกับประเทศเป้าหมาย ในกรณีเหตุที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสนี้ คือ เบลเยียม และในกรณีเหตุที่เกิดขึ้นในอินเดีย คือ ปากีสถาน จึงทำให้ยากแก่การตรวจพบ
กลุ่มไอเอสออกมาประกาศว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีในกรุงปารีส โดยพูดถึงผู้ก่อการร้ายที่ลงมือว่าเป็น “กลุ่มที่เลื่อมใสในระบอบกาหลิบ” และ “กำหนดเป้าหมายที่เมืองหลวงแห่งการค้าประเวณีและความลามกอนาจาร”
ตามรายงานของเว็บไซต์ SITE Intelligence Group กลุ่มไอเอสเสริมว่า “สหายจำนวนแปดคนที่ผูกวัตถุระเบิดไว้ที่เอวและถือปืนไรเฟิล มุ่งเป้าหมายที่สถานที่ที่ถูกเลือกมาอย่างแม่นยำ ในใจกลางเมืองหลวงของฝรั่งเศส รวมทั้งสนามกีฬาแห่งชาติของฝรั่งเศส ในระหว่างที่กำลังมีการแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตรระหว่างทีมเยอรมนีและฝรั่งเศส โดยนายฟร็องซัว ออล็องด์ ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส กำลังร่วมชมอยู่ในสนามด้วย”
กลุ่มไอเอสอ้างเหตุผลของการโจมตี “ศูนย์ประชุมบาตาคล็อง” โดยกล่าวว่า “ผู้ไม่เห็นด้วยหลายร้อยคนได้ชุมนุมกันในงานเลี้ยงการค้าประเวณีที่หลงระเริง และในพื้นที่อื่น ๆ ในเขตการปกครองที่ 10 และ 11 และ 18…”
กลุ่มไอเอสกล่าวสรุปว่า “ขอให้ฝรั่งเศสและผู้ที่เดินรอยตามฝรั่งเศสรู้ว่า จะยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของกลุ่มรัฐอิสลาม... การโจมตีนี้ เป็นเพียงระลอกแรกเท่านั้น และเป็นคำเตือนถึงผู้ที่อยากลองดี”
เครือข่ายของกลุ่มไอเอสในยุโรปมุ่งโจมตีฝรั่งเศส ขณะที่ฝรั่งเศสเริ่มเพิ่มการเฝ้าระวังและเที่ยวบินปฏิบัติการเหนือดินแดนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มไอเอส
จุดเปลี่ยน
การโจมตีดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถของกลุ่มไอเอสในการจู่โจมในพื้นที่ที่ห่างจากพื้นที่หลักในอิรักและซีเรีย ความโหดเหี้ยมของกลุ่มไอเอส สะท้อนให้เห็นถึงการกระจายของแนวความคิดและวิธีการของกลุ่มไอเอส ขอบข่ายการโจมตีของกลุ่มนี้ชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคามอย่างต่อเนื่องที่เกิดจากชาวยิวพลัดถิ่นและชุมชนผู้อพยพที่หัวรุนแรงและใช้วิธีแบบทหาร ซึ่งถูกผลักดันโดยพัฒนาการในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง
ไม่เหมือนกับในสหรัฐฯ ชาวมุสลิมที่เป็นชาวยิวพลัดถิ่นและผู้อพยพในยุโรป อาศัยอยู่ในดินแดนแทรก ชาวยิวพลัดถิ่นเหล่านี้จำนวนเล็กน้อยถูกชักจูงใจอย่างหนักโดยอุดมการณ์ของกลุ่มอัลกออิดะห์และไอเอส
ยุโรปให้ความสำคัญแก่เรื่องสิทธิมนุษยชนมากกว่าการรักษาความปลอดภัยมาโดยตลอด แต่เป็นไปได้ว่า เหตุโจมตีในกรุงปารีสจะเป็นจุดเปลี่ยนในการต่อสู้ของยุโรปกับการก่อการร้าย การโจมตีที่เกิดขึ้นน่าจะกระตุ้นให้มีการเรียกร้องให้ออกกฎหมายที่รุนแรงสำหรับการกักขังเชิงป้องกัน คีย์การถอดรหัสข้อมูล และการควบคุมการอพยพ ก่อนหน้าที่จะเกิดการโจมตีเหล่านี้ คนในยุโรปมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปเกี่ยวกับผู้อพยพจากซีเรียและอิรัก ขณะนี้ เยอรมนีอาจถูกกดดันให้เข้าร่วมกับประเทศที่เหลือในยุโรป และเข้าใจแนวคิดการสร้างกำแพงกีดกันของยุโรป
เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงมุมไบ เหตุที่เกิดในกรุงปารีสเป็นการโจมตีแบบผสม โดยผู้ก่อการร้ายใช้ทักษะสองชุดผสมกัน นั่นคือ การโจมตีด้วยอาวุธและการฆ่าตัวตาย เมื่อผู้ก่อการร้ายใช้การโจมตีด้วยอาวุธผสมกับการฆ่าตัวตาย เจ้าหน้าที่ตำรวจธรรมดา ๆ จะไม่พร้อมที่จะเข้าแทรกแซง เพราะไม่ได้รับการฝึกฝนมาให้เผชิญหน้ากับผู้ก่อการร้ายที่มีแรงดลใจสูง ซึ่งติดอาวุธอัตโนมัติและสวมเสื้อกั๊กหรือคาดเข็มขัดติดวัตถุระเบิด และจับตัวประกันเอาไว้ การที่จะต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายที่เต็มใจที่จะฆ่าคนและยอมตายนั้น จำเป็นต้องใช้กำลังของรัฐบาลที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีและที่มีอุปกรณ์พิเศษ รัฐบาลทั่วโลกจะต้องจัดตั้งและขยายทีมผู้เชี่ยวชาญในการตอบโต้ เพื่อต่อสู้กับการก่อการร้ายในลักษณะนี้
เป้าหมายที่อ่อนแอ
การโจมตีเหล่านี้เผยให้เห็นช่องโหว่ในมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ฝรั่งเศสได้พัฒนาขึ้น หลังเหตุยิงสำนักงานของหนังสือพิมพ์ชาร์ลี เอ็บโด เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2558 ขณะที่ฝรั่งเศสมุ่งเน้นที่การป้องกันเป้าหมายทางการทูตและรัฐบาล กลุ่มไอเอสกลับโจมตีเป้าหมายที่เป็นชุมชนและความบันเทิง
การโจมตีในกรุงปารีสแสดงให้เห็นถึงความท้าทายของการป้องกันเป้าหมายชุมชน รัฐบาลควรใช้กลยุทธ์ในการพัฒนาโครงการที่แข็งแกร่งซึ่งให้ชุมชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เพื่อกระตุ้นให้พลเมือง ราษฎร และนักท่องเที่ยว รายงานเหตุการณ์ที่น่าสงสัยให้รัฐบาลทราบ
การโจมตีทุกครั้งของผู้ก่อการร้ายเกี่ยวข้องกับวงจรความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นก่อนการโจมตี อันได้แก่ การโฆษณาชวนเชื่อ การเกณฑ์คน การหาทุน การจัดซื้อ การขนส่ง สถานที่ปกปิดอำพราง การฝึก การสื่อสาร การเดินทาง การใช้ชื่อหลายชื่อ การสังเกตเป้าหมาย และการซักซ้อม การเพิ่มความระแวดระวังของสาธารณชนและการคงความตื่นตัว จะทำให้พบความเคลื่อนไหวในการดำเนินการและการสนับสนุนผู้ก่อการร้ายและพวกหัวรุนแรงได้ก่อนที่จะเกิดการโจมตีขึ้น
การโจมตีของผู้ก่อการร้ายจะประสบความสำเร็จไม่ได้ หากชุมชนไม่ปล่อยให้เกิดขึ้น ผู้ก่อการร้ายปลูกฝังความเชื่อให้แก่และเกณฑ์คนจากชุมชนนั้น ชุมชนนั้นเป็นฐานทรัพยากรของผู้ก่อการร้ายเหล่านั้น ทั้งผู้ก่อการร้ายและรัฐบาลกำลังแข่งกันมีอิทธิพลต่อประชาชนในพื้นที่นั้น หากอุดมการณ์ของผู้ก่อการร้ายและพวกหัวรุนแรงแพร่กระจายในชุมชนหนึ่ง คนในชุมชนจะเห็นอกเห็นใจ เป็นปากเป็นเสียงให้สนับสนุน และเข้าร่วมในกิจกรรมของพวกหัวรุนแรงและผู้ก่อการร้าย ที่กระทำต่อชุมชนอื่นและประเทศนั้น
ทุกครั้งที่ผู้ก่อการร้ายโจมตีเป็นผลสำเร็จ นั่นหมายถึงความล้มเหลวของงานการข่าว
การถูกโจมตีครั้งใหญ่สองครั้งมาแล้วในปี 2558 ทำให้รัฐบาลและชาวฝรั่งเศสจะจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบการรักษาความปลอดภัยและงานการข่าว โดยควรรวมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่ไม่เพียงแต่ปรับปรุงการเก็บรวบรวมการข่าวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเก็บรวบรวมเชิงวิทยาการด้วย
ความก้าวหน้าในการเข้ารหัสข้อมูลทำให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถอ่านการสื่อสารจำนวนมากของกลุ่มไอเอสได้ รัฐบาลควรผ่านกฎหมาย เพื่อให้แน่ใจว่าบรรดาบริษัทในศูนย์กลางเทคโนโลยีที่อยู่ทางตอนใต้ของอ่าวซานฟรานซิสโก หรือที่เรียกว่าแถบซิลิคอนวัลเล่ย์ ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทำให้บรรดาหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติ สามารถคอยจับตามองการสื่อสารของผู้ก่อการร้ายได้
ผลที่เกิดขึ้นต่อเอเชีย
ทั้งซีกโลกตะวันตกและตะวันออกต่างก็อยู่ภายใต้ภัยคุกคามที่ต่อเนื่องและรุนแรงจากกลุ่มไอเอสทั้งสิ้น ไม่มีประเทศใดที่ปลอดจากภัยคุกคามนี้
การถูกท้าทายด้วยความสำเร็จของกลุ่มไอเอส ทำให้กลุ่มที่แข่งขันกับไอเอส ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ กลุ่มอัลกออิดะห์ มีแนวโน้มที่จะโจมตีพื้นที่อื่นนอกเหนือจากยุโรป การเดินทางและการสื่อสารอย่างกว้างขวางระหว่างตะวันออกกลางและแอฟริกากับเอเชีย ทำให้ภัยคุกคามนี้กำลังแพร่ขยายออกไป ชาวมุสลิมจำนวนเล็กน้อยตั้งแต่ในกรุงโตรอนโตไปจนถึงปารีส และจาการ์ตาไปจนถึงซิดนีย์ มีความรู้สึกร่วมในอุดมการณ์ของกลุ่มไอเอส
รัฐบาลของประเทศในเอเชียแปซิฟิก ควรแลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดกัน เพื่อสร้างขีดความสามารถในการต่อต้านการก่อการร้าย รัฐบาลที่มีความก้าวหน้าในการต่อต้านการก่อการร้ายจะจำเป็นต้องกระชับความร่วมมือที่มีอยู่ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับหน่วยงานเกิดใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีหน้าที่ปราบปรามผู้ก่อการร้าย และขยายความสัมพันธ์กับหน่วยงานดังกล่าวในตะวันออกกลางและแอฟริกา
นอกจากนี้แล้ว ควรพัฒนากลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อให้ชุมชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง และเพื่อหาทางทำให้ผู้ก่อการร้ายกลับใจ รัฐบาลในภูมิภาคนั้นควรลงทุนมากขึ้นในการต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อทางออนไลน์ของกลุ่มหัวรุนแรงและผู้ก่อการร้าย อุดมการณ์ของกลุ่มไอเอสกำลังรุนแรงขึ้น ขณะที่รัฐบาลกำลังคลานต้วมเตี้ยม
ฝรั่งเศสไม่ใช่ข้อยกเว้น รัฐบาลทั่วโลกไม่มีความพร้อมและยังไม่ได้เตรียมพร้อมพอที่จะรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากกลุ่มไอเอส กลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายของกลุ่มไอเอสในประเทศของตน การโจมตีในกรุงปารีสเป็นผลมาจากความล้มเหลวของระบบนานาชาติ ในการจัดทำและนำกลยุทธ์สากลไปปฏิบัติ เพื่อทำให้เขตที่มีความขัดแย้งเกิดเสถียรภาพ และเพื่อต่อสู้กับผลพวงอันโหดร้ายของความขัดแย้งเหล่านั้น ซึ่งก็คือ การก่อการร้ายทั่วโลก
การโจมตีที่สำเร็จผลของผู้ก่อการร้ายแต่ละครั้ง ถือเป็นการโจมตีต่อมนุษยชาติ โลกต้องร่วมมือกันต่อสู้กับการก่อการร้ายที่กระทำโดยกลุ่มและบุคคลต่าง ๆ
โรฮัน กูนารัทนา หัวหน้าศูนย์นานาชาติเพื่อการค้นคว้าด้านความรุนแรงทางการเมืองและการก่อการร้าย ประจำสำนักวิชาวิทยาการ เอส. ราชารัตนาม ด้านวิเทศศึกษา ในสิงคโปร์
ความคิดเห็นที่แสดงในอรรถกถานี้เป็นของผู้เขียน ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์