วิดีโอชั่วโมงสุดท้ายของผู้ก่อความไม่สงบก่อนเสียชีวิต กระตุ้นความรู้สึกคนชายแดนใต้

บทวิเคราะห์โดย ดอน ปาทาน
2021.05.14
กรงปินัง ยะลา
วิดีโอชั่วโมงสุดท้ายของผู้ก่อความไม่สงบก่อนเสียชีวิต กระตุ้นความรู้สึกคนชายแดนใต้ ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 แสดงให้เห็นรูกระสุนทะลุฝาบ้านหลังหนึ่ง ในอำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา ที่ซึ่งผู้ก่อความไม่สงบสองราย ใช้เวลาช่วงสุดท้าย ก่อนที่จะถูกสังหารจากเหตุปะทะกับกองกำลังรัฐบาล เมื่อสามวันก่อน
ดอน ปาทาน/เบนาร์นิวส์

เวลาใกล้จะหมดแล้วสำหรับนักต่อสู้แบ่งแยกดินแดนทั้งสองคน ซึ่งทั้งคู่ต่างก็รู้ดี ผนังสังกะสีของบ้านหลังที่พวกเขาใช้เป็นที่ซ่อนตัวช่วงก่อนเสียชีวิต พรุนไปด้วยรูกระสุน

เจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความมั่นคงไทยจำนวนสิบกว่าคน ได้เข้าล้อมบ้านหลังนั้น หลังจากที่ชายในบ้านยิงนายนพฤทธิ์ สุขสอน อายุ 27 ปี หนึ่งในกองกำลังทหารพรานไทยเสียชีวิต ร่างของเขาอยู่ห่างออกไปไม่กี่เมตรบนเนินในป่า ริมเขตหมู่บ้านกรงปินัง จังหวัดยะลา ในจังหวัดชายแดนใต้ 

เจ้าหน้าที่ยังเรียกอิหม่ามมา เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ก่อความไม่สงบยอมจำนน ผู้ก่อความไม่สงบรายที่สามได้ยอมมอบตัวแล้ว หลังจากนั้นไม่นาน ข่าวสารนิเทศจากกองทัพอ้างคำพูดของชายคนนี้ที่บอกว่า ผู้ก่อความไม่สงบสองคนนั้นเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

ชายสองคนที่ซ่อนตัวอยู่ในบ้านหลังนั้นไม่ยอมจำนน แต่กลับเริ่มวิดีโอคอลล์แทน

พวกเขาพูดจาสบาย ๆ โดยถามเพื่อน ๆ และคนในครอบครัวว่าทำอะไรกันบ้างวันนั้น ราวกับว่านี่เป็นการสนทนาปกติ แทนที่จะเป็นการกล่าวคำอำลา ตามคำบอกเล่าของคนที่คุยกับชายสองคนนี้ ทั้งคู่เสียชีวิตจากการยิงปะทะกับกองกำลังรักษาความมั่นคงไทย เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม

นายอิลยัส วอกะ อายุ 32 ปี และนายริดวัน เจ๊ะโซะ อายุ 31 ปี ยังได้ขออภัยโทษต่อพระอัลลอฮ์ด้วย ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญในศาสนาอิสลาม และเป็นคำขอทั่วไปในหมู่เพื่อนและครอบครัวโดยเฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอน เมื่อชาวมุสลิมถือศีลอดตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก

เขาทั้งคู่บอกคนที่คุยด้วยทางโทรศัพท์ว่า ไม่ต้องกลัวว่าทางการจะรู้เบอร์โทรศัพท์ของคนที่พวกเขาคุยด้วย เพราะเขาจะทำลายโทรศัพท์และซิมการ์ดของตัวเองทิ้งแน่นอน

แต่หนึ่งในบรรดาคนที่ชายสองคนนี้คุยด้วย ได้เริ่มบันทึกวิดีโอการโทรครั้งนั้นลงบนโทรศัพท์มือถืออีกเครื่องหนึ่ง ไม่นานหลังจากนั้น วิดีโอที่บันทึกไว้ก็แพร่สะพัด ในสื่อสังคมออนไลน์ แม้จะไม่มีเสียงในวิดีโอก็ตาม

วิดีโอหลายเวอร์ชัน ถูกเผยแพร่ออกไปทางออนไลน์ มีการใส่เสียงเพลงปลุกใจในวิดีโอ พร้อมกับคำบรรยายภาพ เช่น “รอยยิ้มสุดท้ายของผู้พลีชีพ” และข้อความสั่งลาที่ปลุกระดมให้ “ชาวปาตานี” ต่อสู้กับ “ผู้ล่าอาณานิคมจากสยาม” ต่อไป

ในวิดีโอนั้น เห็นภาพชายหนึ่งในสอง ถือปืนเอเค-47 อยู่ ดูสงบนิ่งอย่างน่าฉงน มีรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเวลาชั่วขณะหนึ่งที่ (ในสายตาของผู้ชมวิดีโอบางคน) เห็นความเป็นมนุษย์ธรรมดาของนักสู้ที่กำลังหลบหนีสองคนนี้

มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนจะเลือกหนทางหยิบอาวุธขึ้นมาต่อสู้ เพราะมันหมายถึงความยากลำบาก ชีวิตที่ต้องหลบหนี อาจจะลงเอยที่คุกหรือไม่ก็ความตาย” นวลน้อย ธรรมเสถียร สื่อในปัตตานี ที่รายงานในพื้นที่ความขัดแย้งนี้มากว่าสิบปีให้ความเห็นหลังจากดูวิดีโอนี้

หลังจากถูกปิดล้อมอยู่สามชั่วโมง ชายทั้งคู่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิต ขณะพยายามวิ่งหนีขึ้นเนิน เข้าไปยังป่าลึก

คนในชุมชนถือว่า ชายทั้งสองเป็นผู้พลีชีพ และฝังศพทั้งสองอย่างสมเกียรติ

210514-TH-deepsouth-residents.jpg

ชาวบ้านในพื้นที่นั่งกันอยู่บริเวณหลุมฝังศพของนายอิลยัส วอกะ วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 (ดอน ปาทาน/เบนาร์นิวส์)

วิดีโอดังกล่าว กระตุ้นความรู้สึกของชาวมลายู ในพื้นที่ชายแดนใต้ พื้นที่ที่เกิดเหตุขัดแย้งและความรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 7,000 ราย จากสถานการณ์รุนแรงที่เกี่ยวกับการก่อความไม่สงบ นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นเวลาที่กลุ่มกองกำลังแบ่งแยกดินแดนรุ่นใหม่ปรากฏขึ้น เพื่อสานภารกิจต่อจากที่คนรุ่นก่อนได้ทิ้งไว้ เมื่อกว่าทศวรรษมาแล้ว

ในสามวันแรก หลังงานศพของชายทั้งสอง ครอบครัวของคนทั้งคู่ได้รับเงินบริจาคจำนวนหลายแสนบาท ผู้อาวุโสของหมู่บ้านและญาติของทั้งสองกล่าว

ผู้ปรารถนาดีโดยเฉลี่ยเกือบ 1,000 คนต่อวัน เดินผ่านบ้านของผู้เสียชีวิต บ้านที่คนทั้งคู่ซ่อนตัวอยู่ในระหว่างการถูกปิดล้อมโดยเจ้าหน้าที่ จุดที่คนทั้งคู่ถูกยิงเสียชีวิต ก็มีผู้มาเยี่ยมชมเช่นกัน

“การแสดงออกถึงการสนับสนุนทางศีลธรรมต่อกลุ่มต่อสู้เพื่อเอกราช ที่ถูกวิสามัญโดยกองกำลังความมั่นคงของรัฐ ไม่ใช่เรื่องใหม่” ซูกริฟฟี ลาเตะ ประธาน PerMAS (สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี) กล่าว “แต่วิดีโอคอลล์ที่เผยแพร่สู่สาธารณะ ได้สร้างความเห็นอกเห็นใจและการสนับสนุนอย่างมหาศาลจากชาวบ้านในพื้นที่”

ซูกริฟฟี ลาเตะ นำกลุ่มนักศึกษาประมาณ 15 คน ไปเยี่ยมสถานที่ฝังศพและครอบครัวของชายที่เสียชีวิตทั้งสอง โดยกล่าวว่า “ผู้คนที่นี่ไม่ได้หวาดกลัวที่จะแสดงความรู้สึกของตัวเองอีกต่อไป”

วิดีโอดังกล่าวและการได้รับกำลังใจอย่างล้นหลาม และการเปิดเผยจากชาวบ้าน สร้างความตระหนกให้แก่เจ้าหน้าที่ความมั่นคง ผู้ที่ต้องการทราบว่าผู้ก่อความไม่สงบทั้งสองจงใจสละชีวิตของตนเอง เพื่อดึงดูดความสนใจของคนหรือไม่ และนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งใหม่ ๆ ในความขัดแย้งในชายแดนใต้หรือไม่

ขณะเดียวกัน คนในพื้นที่ต่างพากันเดือดดาล เมื่อ กอ.รมน.ภาค 4 ซึ่งเป็นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในพื้นที่นั้น ระบุว่า ผู้ก่อความไม่สงบที่ถูกสังหารทั้งสองคนมีความเชื่อมโยงกับการสังหารโหดครอบครัวชาวไทยพุทธ จำนวน 3 คน ในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 เมษายน ข่าวสารนิเทศของ กอ.รมน.ภาค 4 ไม่ได้กล่าวถึงหลักฐานใด ๆ ที่เป็นการยืนยันการเชื่อมโยงนั้น ชื่อของชายทั้งสองไม่ได้อยู่ในหมายจับที่เกี่ยวข้องกับเหตุสังหารโหดนั้น คนในพื้นที่กล่าว

แหล่งข่าวไม่ได้บอกอย่างชัดเจนว่า ชายทั้งสองเป็นสมาชิกของขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น) มานานเพียงใดแล้ว ขบวนการลับนี้ เป็นกลุ่มก่อความไม่สงบปฏิบัติการทางอาวุธ และเป็นกลุ่มกบฏใหญ่ที่สุดในชายแดนภาคใต้

ชายผู้ตายทั้งคู่ ได้หลบหนีมาเป็นเวลาสองปีแล้ว แต่มักจะแอบกลับไปที่บ้าน เพื่อเยี่ยมครอบครัว

เพื่อนและครอบครัวบอกว่า เมื่อวัยยี่สิบต้น ๆ นายอิลยัส วอกะ เคยใช้ยาเสพติด และถูกจำคุก เมื่อออกจากคุก เขาอยากเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับผู้คนที่นั่นและปัญหาในภูมิภาคนี้ เขามีภรรยาและบุตรสามคน อายุแปดปี ห้าปี และสามปี

นายริดวัน เจ๊ะโซะ สอนตาดีกาที่ศูนย์สอนศาสนาอิสลามและอัตลักษณ์ของชาวมลายูให้แก่เด็กสัปดาห์ละครั้ง เขาโสด และพยายามโทรศัพท์หาพ่อ เพื่อบอกลา ญาติสาวที่รับโทรศัพท์ร้องโวยวายอย่างบ้าคลั่ง เมื่อเธอตระหนักถึงสถานการณ์ของเขา

ภาพช่วงเวลาก่อนเสียชีวิตของทั้งสอง ดูเหมือนจะกระตุ้นความรู้สึกของคนในพื้นที่ชายแดนใต้ไทย พื้นที่ที่พูดภาษามลายูเป็นหลัก ในลักษณะที่โฆษกทางการของบีอาร์เอ็น ผู้ที่ออกแถลงการณ์ด้วยวิดีโอทาง YouTube ปีละครั้งหรือสองครั้ง ไม่สามารถทำได้ในช่วงเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา

“สิ่งที่พวกเขาสื่อสารต่อคนมลายู มันชัดว่า ‘จงต่อสู้เพื่อเอกราชต่อไป อัสมาดี บือเฮง สมาชิกเดอะ ปาตานี กลุ่มปฏิบัติการทางการเมืองในท้องที่ที่รณรงค์ด้านสิทธิในการกำหนดอนาคตการปกครองของตนเอง สำหรับประชาชนในภูมิภาคนี้ กล่าว

“นี่เป็นความท้าทายสำหรับกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน ผู้ที่ต้องการเห็นการระงับข้อพิพาททางการเมืองกับรัฐไทย ด้วยวิธีการที่ไม่ใช่การสู้รบ” อัสมาดีกล่าวเสริม

การพูดคุยเพื่อสันติสุขรอบต่อไประหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็น ได้รับการกำหนดไว้อย่างคร่าว ๆ ว่าจะมีขึ้นในปลายเดือนพฤษภาคม

แต่เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม วันเดียวกับที่เกิดเหตุที่กรงปินัง นายอับดุล ราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซีย ระบุว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ว่าการพบกันครั้งต่อไปควรจะเป็นแบบพบหน้ากัน หรือทางออนไลน์ ดังนั้น จึงมีการเลื่อนการพบปะกันออกไป

ขณะเดียวกัน วิดีโอจากชาวบ้านธรรมดา ๆ ที่ส่งจากพื้นที่จริงที่เกิดเหตุ ได้กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอันไม่คาดคิด ต่อสิ่งที่น่าจะเป็นเพียงแค่เหตุสังหารอีกครั้งหนึ่ง ในการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับนักสู้ระดับล่างที่เกิดขึ้นปีแล้วปีเล่า

ดอน ปาทาน เป็นนักวิเคราะห์เรื่องความมั่นคงที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ความคิดเห็นที่แสดงในงานเขียนชิ้นนี้ เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง