ความพยายามในการหยุดยิงช่วงรอมฎอนล้มเหลว ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

ความรุนแรงรอบใหม่ปะทุขึ้นไม่กี่วัน หลังตัวกลางเจรจาของมาเลเซีย ส่งข้อเรียกร้องโต้กลับจากบีอาร์เอ็น ไปยังฝ่ายไทย
บทวิเคราะห์โดย ดอน ปาทาน
2025.03.15
กรุงเทพฯ
ความพยายามในการหยุดยิงช่วงรอมฎอนล้มเหลว ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่ส่งสุนัขทหารเข้าตรวจสอบพื้นที่ หลังเกิดเหตุระเบิดในพื้นที่หมู่ 2 ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา วันที่ 6 ธันวาคม 2565
เบนาร์นิวส์

เมื่อพูดถึงความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย แม้จะไม่มีวี่แววด้านการพูดคุยสันติสุข แต่ก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย

เหตุการณ์รุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาเป็นเครื่องเตือนใจว่า จุดยืนที่ไม่มีท่าทีประนีประนอมของรัฐบาลไทยในการเจรจากับขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติหรือกลุ่มบีอาร์เอ็น (BRN - Barisan Revolusi Nasional) มีราคาที่ต้องจ่าย

ตั้งแต่คืนวันที่ 8 มีนาคม กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้เปิดฉากโจมตีหลายครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย ภายในวันที่ 10 มีนาคม

เหตุการณ์ความรุนแรงนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่ โมฮัมหมัด ราบิน บาเซียร์ (Mohd Rabin Basir) ผู้ประสานงานจากมาเลเซีย ได้ส่งข้อเรียกร้องโต้กลับของกลุ่มบีอาร์เอ็น เกี่ยวกับการหยุดยิงช่วงรอมฎอนไปยังฝ่ายไทย โดยมีข้อเรียกร้องเพื่อขอแลกเปลี่ยนบางอย่าง รวมถึงการปล่อยตัวนักโทษของกลุ่มบีอาร์เอ็น เช่น ลดระยะเวลาหยุดยิงเหลือ 15 วัน แต่งตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติเพื่อเฝ้าสังเกตการณ์ข้อตกลงหยุดยิง อนุญาตให้องค์กรเอ็นจีโอในพื้นที่เข้ามามีบทบาทในกระบวนการนี้

อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรี ภูมิธรรม เวชยชัย ได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องทั้งหมด โดยยืนยันว่าบีอาร์เอ็นควรแสดงความจริงใจโดยการหยุดปฏิบัติการในช่วงรอมฎอนเอง

ความพยายามทางการทูตแบบกระสวย หรือการเดินทางทางการทูตเพื่อคลี่คลายปัญหาหรือกรณีพิพาท โดยผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องเดินทางไป-มาระหว่างประเทศ หรือคู่กรณีที่มีความขัดแย้ง เพื่อผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับข้อตกลงหยุดยิง เริ่มต้นขึ้นกลางเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อนายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้พบกับ อานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าผู้แทนเจรจาของบีอาร์เอ็น ที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อเสนอของ สมช. ซึ่งรวมถึงการหยุดยิงในช่วงรอมฎอน

commentary deep south 2.jpeg
อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าทีมเจรจาสันติสุขของบีอาร์เอ็น (คนกลาง) และคณะ แถลงข่าวในโรงแรมแห่งหนึ่งในกัวลาลัมเปอร์ หลังจากเสร็จสิ้นการพูดคุยกับฝ่ายไทยหนึ่งวัน วันที่ 3 สิงหาคม 2565 (เอส. มาฟุซ/เบนาร์นิวส์)

อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งหัวหน้าผู้แทนพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้สิ้นสุดลงโดยอัตโนมัติ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ เศรษฐา และคณะรัฐบาลพ้นจากตำแหน่ง

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ออกแถลงการณ์ต่อสาธารณะ ระบุว่า สมช. และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จะทำอย่างเต็มที่เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอนนี้

รัฐบาลจะปรับเปลี่ยนภารกิจการทำงานโดยมุ่งเน้นไปที่ปฏิบัติการอย่างสันติและการอำนวยความสะดวกเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเต็มที่ในพื้นที่สมช. ระบุในแถลงการณ์

แหล่งข่าวจากบีอาร์เอ็นที่ไม่ประสงค์ออกนามเปิดเผยว่า ฝ่ายไทยถือว่าแถลงการณ์เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เป็นการประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวสำหรับช่วงรอมฎอนปีนี้ และฝ่ายบีอาร์เอ็นควรทำเช่นเดียวกันเพื่อเป็นประโยชน์สูงสุดต่อกลุ่มตนเอง

อย่างไรก็ตาม ความพยายามทางการทูตแบบกระสวยนี้ ไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นจากการพบกันในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ระหว่างฉัตรชัย บางชวด และ อานัส อับดุลเราะห์มาน ที่กัวลาลัมเปอร์ เท่านั้น แต่มีจุดเริ่มต้นจากแถลงการณ์ต่อสาธารณะเมื่อเดือนธันวาคม 2567 โดยอุสตาซ นิคมะตุลเลาะ บิน เสรี สมาชิกอาวุโส ในฐานะตัวแทนคณะพูดคุยของบีอาร์เอ็น ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยว่า ล่าช้าในการเดินหน้ากระบวนการสันติภาพ อุสตาซ นิคมะตุลเลาะ กล่าวว่า บีอาร์เอ็นพร้อมที่จะถอนตัวออกจากกระบวนการสันติภาพ และอาจทบทวนการตัดสินใจของกลุ่มในการเจรจากับรัฐบาลไทยภายใต้รัฐธรรมนูญไทย

เจ้าหน้าที่ของบีอาร์เอ็นระบุว่า การแก้ไขความขัดแย้ง รวมถึงการหยุดยิงในช่วงรอมฎอน จำเป็นต้องมีการหารือกับหัวหน้าผู้แทนเจรจาของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งจนถึงขณะนี้รัฐบาลไทยยังไม่ได้แต่งตั้งใครขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ภูมิธรรม เวชยชัย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 12 มีนาคมว่า หัวหน้าผู้แทนเจรจาคนใหม่สำหรับการพูดคุยสันติสุขกับบีอาร์เอ็นจะยังไม่ได้รับการแต่งตั้ง จนกว่ารัฐบาลจะสรุปแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ครอบคลุมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้จนเสร็จสิ้น

เจ้าหน้าที่ไทยที่ทำงานด้านการแก้ไขความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้เปิดเผยว่า รัฐบาลจะไม่แต่งตั้งทีมเจรจาชุดใหม่จนกว่าบีอาร์เอ็นจะลดระดับความรุนแรงลง ขณะที่บีอาร์เอ็นมองว่า การเรียกร้องให้พวกเขาวางอาวุธก่อนที่จะเข้าสู่โต๊ะเจรจาเป็นเหมือนการ เอารถลากมาแซงหน้าม้าหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นเงื่อนไขที่ไม่สมเหตุสมผล บีอาร์เอ็นย้ำว่า การลดระดับความรุนแรงเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการเจรจา และควรเป็นการเจรจากับผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลไทย ตามคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ไทยคนดังกล่าว

แหล่งข่าวจากทางฝ่ายไทยเปิดเผยว่า ภูมิธรรม ยังมีแผนที่จะยุติบทบาทของผู้เชี่ยวชาญด้านสันติภาพและความขัดแย้งจากนานาชาติ ไม่ให้เข้าร่วมสังเกตการณ์การเจรจาระดับสูงระหว่างไทยกับบีอาร์เอ็นอีกต่อไป นอกจากนี้ ช่องทางการเจรจาลับ (back channels) จะถูกตัดออก ซึ่งหมายความว่า บทบาทขององค์กรเอ็นจีโอระหว่างประเทศจะสิ้นสุดลง

ผู้สังเกตการณ์กระบวนการสันติภาพกล่าวว่า พวกเขาไม่แปลกใจที่บีอาร์เอ็นปฏิเสธข้อเสนอของฝ่ายไทยเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์

อาเต็ฟ โซห์โกะ ประธานกลุ่มเดอะปาตานี (The Patani) ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มุ่งเน้นสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองของประชาชนในดินแดนประวัติศาสตร์แห่งนี้ อธิบายว่า รัฐบาลไทยมักใช้การหยุดยิงช่วงรอมฎอนเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองระยะสั้น บีอาร์เอ็นเชื่อว่า ไทยใช้เวทีพูดคุยสันติสุขเป็นเครื่องมือในการรวบรวมข่าวกรอง เพื่อตามล่าผู้นำของบีอาร์เอ็นในภายหลัง อาเต็ฟกล่าว

commentary deep south 3.jpeg
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่หลังเกิดเหตุระเบิดบนเส้นทางรถไฟ ในพื้นที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตสามราย วันที่ 6 ธันวาคม 2565 (เบนาร์นิวส์)

กลุ่มบีอาร์เอ็นกล่าวว่า ยังจดจำได้ถึงเหตุการณ์ในช่วงการระบาดโควิด-19 เมื่อพวกเขาประกาศ หยุดยิงอยู่ฝ่ายเดียว เพื่อขานรับต่อข้อเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทั่วโลกของ อันโตนิโอ กูเตอเรซ เลขาธิการสหประชาชาติ แต่กองทัพไทยกลับเพิกเฉยต่อท่าทีดังกล่าว โดยอาเต็ฟเห็นว่ามันเป็นโอกาสที่ถูกมองข้าม เขากล่าวว่าฝ่ายไทยสามารถใช้โอกาสนั้นแสดงท่าทีตอบรับความจริงใจของบีอาร์เอ็นและนำไปสู่การสร้างความไว้วางใจต่อกันได้ 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม กองทัพไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้กลับเดินหน้าปฏิบัติการ ค้นหาและทำลาย” (search-and-destroy operations) โดยไล่สังหารนักต่อสู้กลุ่มบีอาร์เอ็น ในขณะที่พวกเขาหลบซ่อนตัวอยู่ในหมู่บ้านของพวกเขา ระหว่างช่วงหยุดยิงฝ่ายเดียว

สิ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงหลายคนประหลาดใจคือ แม้จะถูกล้อมด้วยกำลังที่เหนือกว่าถึง 60-70 ต่อ 1 แต่นักต่อสู้กลุ่มบีอาร์เอ็นเกือบทั้งหมดเลือกที่จะต่อสู้จนตัวตายแทนที่จะยอมจำนน แม้ว่าพวกเขาจะมีโอกาสรอดชีวิตแทบไม่มีเลยก็ตาม ในช่วงเวลาสองปีนั้น (ตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงต้นปี 2565) ได้มีนักต่อสู้จากกลุ่มบีอาร์เอ็นเสียชีวิตไปทั้งสิ้น 60 คน จากเหตุปะทะที่เกิดขึ้น

แต่ในช่วงรอมฎอนปี 2565 ไม่มีพัฒนาการสำคัญใด ๆ ที่นำไปสู่กระบวนการสันติภาพ ตั้งแต่นั้นมาบีอาร์เอ็นปฏิเสธข้อเสนอของไทยเกี่ยวกับการหยุดยิงช่วงรอมฎอน เพราะมองว่าเป็นเพียงการสร้างภาพเพื่อให้ประชาชนชาวไทยพอใจเท่านั้น

ในขณะที่รอมฎอนเป็นช่วงเวลาสำคัญทางศาสนาของชาวมุสลิมทั่วโลก ชาวไทยเชื้อสายมลายูที่ปัตตานีกลับจดจำเดือนนี้ในอีกด้านหนึ่ง นั่นคือ เหตุการณ์สังหารหมู่ตากใบในเดือนตุลาคม 2547 ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงรอมฎอน โดยมีชายชาวมุสลิมมลายู 78 คน เสียชีวิตจากการถูกมัดมือไพล่หลัง และวางซ้อนทับกันเหมือนท่อนไม้ บนรถบรรทุกทหาร หลังจากถูกควบคุมตัวจากการประท้วง ในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ขณะที่ อีก 7 คน ถูกยิงเสียชีวิต ในที่เกิดเหตุ โดยเจ้าหน้าที่ทหาร

เพียงไม่กี่เดือนก่อน อายุความของคดีที่ตากใบได้หมดอายุลงหลัง 20 ปี ศาลจังหวัดนราธิวาสเพิ่งแจ้งข้อหานายทหารไทยกลุ่มหนึ่งด้วยข้อหาทำให้ผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ และสุดท้ายคดีก็หมดอายุความลง

ผ่านมากว่าสองสัปดาห์ นับตั้งแต่เริ่มต้นเดือนรอมฎอนปี 2568 ยังไม่มีวี่แววของข้อตกลงหยุดยิง ขณะที่ฝ่ายผู้ต่อต้านยังคงเดินหน้าปฏิบัติการโจมตีต่อเนื่อง เพื่อกดดันให้รัฐบาลไทยกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา

ดอน ปาทาน เป็นนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงในประเทศไทยที่ทำงานเกี่ยวกับความขัดแย้งและการก่อความไม่สงบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความคิดเห็นในงานเขียนนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเอง ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง