จับตา กมธ. วิสามัญสันติภาพเสนอทางออกสันติสุขชายแดนใต้
2024.06.17
ยะลา

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ. วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้) ที่ได้รับมอบหมายให้ศึกษาแนวทางการเสริมสร้างกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ ใกล้จะได้ข้อสรุปภารกิจ คาดว่าจะมีการเสนอแนะแนวทางที่ไกลกว่าที่คิด ซึ่งรวมถึงการเผชิญหน้ากับปัญหาความขัดแย้งที่เป็นประเด็นรากเหง้าของการก่อความไม่สงบ
หลังจากการหารืออย่างกว้างขวางยาวนานกับผู้เชี่ยวชาญด้านความขัดแย้งและผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงการประชุมที่ประเทศมาเลเซียกับตัวแทนเจรจาจากกลุ่มบีอาร์เอ็น กมธ. จะส่งข้อเสนอแนะให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาก่อนที่จะสิ้นสภาพในเดือนหน้า
ทั้งนี้ กมธ. สันติภาพชายแดนใต้ที่จัดตั้งขึ้นโดยสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน ยังมีหน้าที่เสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการหารือสาธารณะ ให้เป็นเวทีสำหรับประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ พื้นที่ขัดแย้ง ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิมให้มีโอกาสมีส่วนร่วมกับผู้แทนคณะพูดคุยฯ จากฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็น
คาดว่าสมาชิกบางรายใน กมธ. ชุดนี้ 35 คน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีมุมมองก้าวหน้าจะผลักดันให้การเจรจาสันติสุขก้าวไปไกลกว่าระดับการสร้างความเชื่อมั่น และหยิบยกประเด็นที่เป็นรากเหง้าของความขัดแย้งอันยาวนานหลายทศวรรษขึ้นมาพิจารณา
อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องดังกล่าวสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอาจเผชิญกับการต่อต้าน เนื่องจากข้าราชการบางคน รวมถึงบางคนในคณะกรรมการ มีแนวโน้มที่จะรักษาโครงสร้างการบริหารประเทศแบบรวมศูนย์ พวกเขากังวลเกี่ยวกับการให้สถานะพิเศษแก่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งอาจกลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับภูมิภาคอื่น ๆ

ขบวนการบีอาร์เอ็น กลุ่มแบ่งแยกดินแดนมาเลย์ปาตานี ที่มีความเป็นมายาวนาน และควบคุมนักรบเกือบทั้งหมดในพื้นที่ ได้เริ่มการพูดคุยโดยตรงกับคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย ในเดือนมกราคม 2563 กระบวนการพูดคุยฯ เป็นไปอย่างยากลำบาก ทั้งการไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอหลากประการของต่างฝ่ายระหว่างกองทัพไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น
แม้การพูดคุยจะมีความคืบหน้าบ้าง แต่ก็ยังคงความตึงเครียดที่ฝังลึกเกี่ยวกับความชอบธรรมของการเจรจาต่อรอง และแรงจูงใจทางการเมืองที่อยู่เบื้องหลังความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้
ประการหนึ่งในนั้น ก็คือ ตั้งแต่เริ่มต้น กองทัพไม่ได้สนับสนุนกระบวนการพูดคุยอย่างเต็มที่ เพราะยังคงต้องการใช้กำลังทหารในการปราบปรามการก่อความไม่สงบ เหล่าชนชั้นนำทางการเมืองและกองทัพไทยไม่เคยพอใจกับแนวคิดที่จะพูดคุยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน และมองว่าเป็นการรับรองกลุ่มบีอาร์เอ็นโดยไม่จำเป็น พวกเขาไม่ต้องการยอมรับพื้นฐานทางการเมืองของความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้

ในอีกด้านหนึ่ง นักรบบีอาร์เอ็นเริ่มสงสัยว่า เอกราชยังคงเป็นเป้าหมายของขบวนการหรือไม่ หลังจากที่แกนนำฝ่ายการเมืองของพวกเขาได้ตกลงที่จะพูดคุยภายใต้รัฐธรรมนูญไทย
ตัวแทนคณะพูดคุยฯ ของบีอาร์เอ็น อาศัยการหารือสาธารณะเป็นวิถีในการจัดการเรื่องนี้ตามครรลอง ซึ่งถ้าประชาชนในพื้นที่ต้องการเอกราช ก็คงต้องเป็นไปตามนั้น
ขณะเดียวกัน นักรบบีอาร์เอ็นก็ยังคงเดินหน้าเคลื่อนไหวด้วยความรุนแรงต่อไป การโจมตีกลายเป็นส่วนสำคัญของการสื่อสารทางการเมืองของฝ่ายผู้เห็นต่างมากกว่าที่เคยเป็นมา
เหตุการณ์ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา และลักษณะรุนแรงของการโจมตีบางครั้งที่มีการวางแผน ประสานงาน และก่อเหตุพร้อมกัน บางครั้งกินเวลานานถึง 30 นาที โดยมีสมาชิกก่อการร่วมหลายสิบคน เป้าหมายการโจมตียังรวมถึง เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ลาดตระเวนในพื้นที่ และสถานที่ราชการทั้งระดับท้องถิ่นและในตัวเมือง
การก่อเหตุลักษณะนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากเหตุปกติ ที่เป็นการวางระเบิดริมถนน ตามด้วยการยิงปืนต่อสู้โต้ตอบกัน 3 นาที แล้วหลบหนีเข้าป่า
นอกเหนือจากความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นแล้ว เอกสารเกี่ยวกับการสนองตอบต่อแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan towards Peace - JCPP) ที่หลุดออกมา ยังสะท้อนถึงความเปราะบางของกระบวนการสันติภาพ
นักวิจารณ์หน้าเดิม ๆ ออกมาแสดงความคิดเห็น แต่ สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โต้กลับด้วยความเห็นที่สร้างความขุ่นเคืองให้กับหลาย ๆ คน ว่า คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังดำเนินการด้วยวิธีที่ผิดพลาด และยังตั้งคำถามว่า คณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย กำลังทำงานเกินหน้าที่ของพวกเขาด้วยแผนแม่บทการสร้างสันติสุขฉบับนี้หรือไม่
เอกสารดังกล่าวซึ่งถูกปล่อยออกมาโดยบีอาร์เอ็น มีเนื้อหาเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการลดความรุนแรง นอกจากนี้ ยังพูดถึงกรอบเวลาสำหรับการปล่อยตัวผู้ต้องหา รวมถึงแนวทางในการเฝ้าติดตามการหยุดยิง
แม้ เอกสาร JCPP ฉบับนี้จะไม่ใช่เอกสารแถลงการณ์ทางการเมือง แต่ก็ทำให้กลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์กระบวนการสันติภาพมองมันเป็นอื่นไม่ได้ สำหรับนักนโยบายและชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมของไทยแล้วนั้น ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษามลายู และทุกการติดต่อกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ล้วนมีนัยทางการเมือง

กมธ. วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ชุดนี้นำโดย จาตุรนต์ ฉายแสง ผู้แทนหลายสมัย ซึ่งชาวมุสลิมมลายูในชายแดนใต้ให้ความนับถือ
เมื่อ 20 กว่าปีก่อน จาตุรนต์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เขาเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนอัตลักษณ์ท้องถิ่นและมอบพื้นที่ทางวัฒนธรรมให้กับชาวมลายูมากขึ้น เพื่อเป็นการลดช่องว่างสร้างความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่
แต่กองทัพไทยก็ปฏิเสธคำแนะนำของเขาอย่างรวดเร็ว
ในวันนี้ จาตุรนต์ ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีอีกต่อไป และก็ไม่ได้มีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลหรือพรรคเหมือนในอดีตแล้ว ทำให้ไม่มีใครคาดหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะก็ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลนี้เต็มใจที่จะให้สิทธิประโยชน์ใดกับชาวมลายูปาตานีบ้าง
ยิ่งไปกว่านั้น วาระแค่ 3 เดือนของ กมธ. วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ ก็อาจจะน้อยเกินไปสำหรับความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นมาร่วม 20 ปีที่แล้ว และมีผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์การก่อความไม่สงบมากกว่า 7,500 คน
กรรมาธิการในคณะทำงานชุดนี้มาจากคนหลากหลายกลุ่ม ทั้งจากกลุ่มคนที่ทำงานด้วยความเชื่ออย่างเต็มที่ว่าสามารถส่งเสริมศักยภาพ อัตลักษณ์ และวัฒนธรรมของคนมลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ และคนจากกลุ่มที่เชื่อว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถประนีประนอมกับรัฐบาลได้ หากรัฐปรับปรุงให้พวกเขาสามารถเข้าถึงสิทธิและบริการอย่างเหมาะสม

โดยทั่วไป เจ้าหน้ารัฐบาลยังคงแน่วแน่ในการใช้นโยบายกลืนกลายระยะยาว มุ่งเน้นการเสริมสร้างความเป็นไทยให้กับชาวมลายู โดยไม่เข้าใจว่า สำหรับชาวมุสลิมในพื้นที่แห่งความขัดแย้งยาวนานนี้ ศาสนาอิสลามและอัตลักษณ์ความเป็นมลายูของพวกเขานั้น เป็นหนึ่งเดียวไม่สามารถแยกจากกันได้
นอกจากนี้ ดูเหมือนว่าในหมู่ สส. นักการเมือง รวมถึงผู้ที่อยู่ใน กมธ. ชุดนี้ ไม่ได้ให้ความสนใจมากนักในประเด็นดังกล่าว หลายคนดูเหมือนจะมีธุระอื่นที่สำคัญกว่าการมาเข้าร่วมประชุม
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าข้อเสนอแนะของ กมธ. วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ชุดนี้ จะมุ่งมั่นหาญกล้าเพียงใด การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับสภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลว่าจะดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กมธ. หรือไม่
เมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์ทางการเมือง ประกอบกับความไม่สนใจใยดีของของ สส. รุ่นปัจจุบัน และกรอบความคิดของกองทัพและชนชั้นนำทางการเมืองที่ไม่เต็มใจยินยอมให้สิทธิประโยชน์กับชาวมลายูปาตานีอย่างจริงจัง นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนการบริหารเพียงเล็กน้อย ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คงจะดำเนินต่อไป
ดอน ปาทาน เป็นนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงในประเทศไทยที่ทำงานเกี่ยวกับความขัดแย้งและการก่อความไม่สงบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความคิดเห็นในงานเขียนนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเอง ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์