ว่าที่นายกฯ ไทย ถูกบีบให้ตอบคำถามประเด็นความไม่สงบชายแดนใต้

บทวิเคราะห์โดย ดอน ปาทาน
2023.06.07
ว่าที่นายกฯ ไทย ถูกบีบให้ตอบคำถามประเด็นความไม่สงบชายแดนใต้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ตอบคำถามนักข่าวในกรุงเทพฯ หลังลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อพยายามจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคอื่น ๆ หลังการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ศักดิ์ชัย ลลิต/AP
ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี

เวทีของพรรคการเมืองไทย ไม่มีการเอ่ยถึงประเด็นปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะทางออกของปัญหาความขัดแย้งแบ่งแยกดินแดน อาจต้องการการประนีประนอม ซึ่งประชาชนที่ลงคะแนนเลือกตั้งอาจไม่ยอมรับ

ดังนั้น นักการเมืองจึงหยุดพูดถึงต้นตอของปัญหา ซึ่งทำให้วิถีแห่งการแก้ปัญหานั้นยิ่งน้อยลงไปอีก เนื่องจากการพูดคุยในลักษณะนี้ นักการเมืองจำเป็นต้องพูดถึงการประนีประนอมนานาประการที่ควรต้องมี เพื่อให้เกิดข้อตกลงสู่สันติภาพในพื้นที่

ในบางเวลาที่มีคำถามในประเด็นนี้ บ่อยครั้งมักเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด และผู้สมัครท้าชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีจะถูกวางให้เป็นผู้ตอบและจะต้องตอบด้วยไหวพริบอันรวดเร็ว การเผชิญหน้ากันในประเด็นดังกล่าวระหว่างผู้สื่อข่าว และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นกรณีตัวอย่าง

ผู้สื่อข่าวถามนายพิธาว่า พรรคก้าวไกลจะอนุญาตให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แยกการปกครองออกจากประเทศไทยหรือไม่ และพรรคก้าวไกลจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จหรือเปล่า

นายพิธาพยายามตอบคำถามด้วยท่าทีระมัดระวัง โดยบอกว่าปัญหาขึ้นอยู่กับวิถีการดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่น คำตอบของนายพิธาไม่เป็นที่ถูกใจนักสำหรับนักเคลื่อนไหวในพื้นที่ที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งหลายคนได้ลงคะแนนเสียงให้กับเขา

“ผู้นำที่เข้ามาต้องหนักแน่น บุคคลนั้นต้องไม่กระทำการตามข่าวลือเพราะอาจส่งผลในทางที่ผิดได้ เพราะเราอาจหันไปให้งบประมาณมากขึ้นแก่กองทัพเพื่อแก้ไขปัญหา” นายพิธากล่าว ระหว่างแถลงข่าวในวันลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคร่วมกัน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา

“และปัญหาจะไม่มีทางจบ ความเป็นจริงคือปัญหาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ และสาธารณสุข”

หลังการแถลงดังกล่าว สื่อสังคมออนไลน์เต็มไปด้วยข้อความเสียดสีล้อเลียนคำพูดของพิธา โดยกล่าวหาว่านายพิธาไม่มีความคิดสร้างสรรค์หรือไม่มีความกล้ามากพอ

ซับซ้อน, เข้าใจผิด

สำหรับใครหลายคน การแถลงในสิ่งที่ไม่ได้การเตรียมการล่วงหน้าคือสิ่งที่ให้อภัยได้ เพราะอย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและบ่อยครั้งทำให้เข้าใจผิดได้

“แม้ว่านักการเมืองที่เจนจัดมากประสบการณ์อย่าง วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ที่นำเสนอความเป็นตัวแทนของชาวมลายู ยังเลือกที่จะพูดถึงอย่างระมัดระวังโดยกล่าวว่า คนส่วนใหญ่ในภูมิภาคที่มีการช่วงชิงประวัติศาสตร์นั้น ไม่ต้องการเอกราชแต่อย่างใด” นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานคณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์ของกลุ่ม “เดอะ ปาตานี” ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อกำหนดอนาคตของตนเองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าว

แน่นอนว่าไม่มีรัฐบาลไทยสมัยไหนเคยดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลงได้สำเร็จลุล่วง และข้อตกลงดังกล่าวเป็นการประเมินจากสิ่งที่คนในพื้นที่ต้องการ แต่ที่ใกล้เคียงที่สุดคือโครงการวิจัยซึ่งนำโดย รศ.ดร. มารค ตามไท นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสันติภาพและการศึกษาด้านความขัดแย้ง

รายงานการวิจัยของ รศ.ดร. มารค ในหัวข้อ “สานฝันปาตานีโดยไม่ใช้ความรุนแรง : การวิเคราะห์จากบทสนทนาเพื่อสร้างจินตนาการใหม่ (ปี 2562)” มีการสอบถามประชาชนจำนวน 1,000 คนที่สนับสนุนการได้รับเอกราชของพื้นที่ ว่าเหตุใดพวกเขาจึงสนับสนุนแนวคิดนี้ โดยผู้ร่วมตอบแบบสอบถามงานวิจัยชิ้นนี้ ส่วนใหญ่ระบุว่าเป็น “คุณค่าอันศักดิ์สิทธิ์”

รศ.ดร. มารค เป็นอดีตหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายรัฐบาลไทยในสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี

สำหรับชาวมุสลิมมลายู ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนนั้น ประชาธิปไตยและชาตินิยมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566

“เห็นได้ว่าลำดับความสำคัญของพวกเขาอยู่ที่ประเด็นอื่น ๆ เนื่องจากความเป็นประชาธิปไตย และชาตินิยม มิได้ถูกกล่าวถึงอย่างเหมาะสมในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา” อัสมาดี บือเฮง ผู้เขียน “Rawang Thang Sata” (“Along the Road of Faith”) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กล่าว

ไม่มีใครยอมพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาเรื่องคับข้องใจทางประวัติศาสตร์ หรือเหตุใดกลุ่มคนเชื้อสายมลายูจึงปฏิเสธนโยบายกลืนชาติของรัฐไทย โดยชาวมลายูบอกว่านโยบายดังกล่าวทำให้พวกเขาต้องสูญเสียอัตลักษณ์ทางศาสนาและชาติพันธุ์

ในทางกลับกัน รัฐไทยมองว่าการปฏิเสธนโยบายดังกล่าวถือเป็นการบ่อนทำลายความเป็นชาติ

230607-th-deep-south-violence2.jpg

ชาวมุสลิมในพื้นที่จับจ่ายซื้อของที่ตลาด ในจังหวัดปัตตานี วันที่ 16 มีนาคม 2562 (ภาณุ วงศ์ชะอุ่ม/รอยเตอร์)

นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา กระแสความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่พูดภาษามลายูและนับถือศาสนาอิสลาม ทำให้ประชาชนเสียชีวิตกว่า 7,300 คน จากสถานการณ์ความไม่สงบ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นกับประชาชนนอกภูมิภาคนี้

อีกเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลอีกหลายสมัยต่อมา ก็ไม่ต้องการมีส่วนร่วมในการพูดคุยที่สำคัญเกี่ยวกับความคับข้องใจของชนชาวมลายู เพราะกลัวว่าการพูดคุยดังกล่าวจะก่อความชอบธรรมให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน

ยิ่งไปกว่านั้น ตลอดระยะเวลากว่า 19 ปีมานี้ ไม่ว่าไทยจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยหรือมีอำนาจจากการรัฐประหาร ความริเริ่มกระบวนสันติภาพได้มีขึ้น และผ่านไป และไม่มีครั้งไหนที่สร้างแรงจูงใจมากพอที่จะก้าวไปสู่การพูดคุยระดับอื่นนอกเหนือจากวิธีสร้างความเชื่อมั่น (confidence-building measure - CBM) อีกทั้งทหาร ก็เป็นตัวเลือกที่คงอยู่บนโต๊ะเจรจาเสมอ

กระบวนการสันติภาพ

หากนายพิธาและพรรคก้าวไกลสามารถจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคร่วมอื่น ๆ ได้ พวกเขาจะสานต่อกระบวนการสันติภาพ ซึ่งยังไปไม่พ้นกระบวนการเริ่มพูดคุยที่โต๊ะเจรจา  

แต่หากพรรคก้าวไกลมีความมุ่งมั่นด้านการเมืองตามที่เคยกล่าวไว้ การแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยน การยินยอมที่มีความหมายอาจเกิดขึ้นได้อย่างดี และประชาชนเชื้อสายมลายูในพื้นที่ รวมถึงกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (Barisan Revolusi Nasional) หรือบีอาร์เอ็น (BRN) อาจถูกบังคับให้ออกมาแสดงท่าทีต่อเรื่องนี้

ถ้อยแถลงของนายพิธาที่ระบุว่า วิถีชีวิตของคนในพื้นที่เป็นสาเหตุของความขัดแย้งอาจทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ แย่ลงได้ แต่ก็ไม่อาจเทียบได้กับความโกรธเคืองที่มาจากกลุ่มคนไทยชาตินิยม รวมถึงผู้นำกองทัพ ซึ่งเขาและนักการเมืองหน้าใหม่ต้องเผชิญ หากพรรคก้าวไกลถูกมองว่า มีความผ่อนปรนมากเกินไปต่อประชาชนเชื้อสายมลายู ที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

คนไทยดำรงชีวิตสอดคล้องกับนโยบายความเป็นไทยมาเป็นเวลายาวนาน เนื่องจากการบอกเล่าเรื่องราวและการสร้างอัตลักษณ์โดยรัฐไทย ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่โหดร้ายอย่างใหญ่หลวงต่อกลุ่มคนที่ท้าทายโครงสร้างนี้ ความเป็นไทยคือ การเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย ให้สามารถเรียกตนเองว่า คนไทยได้อย่างเต็มปาก

อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนเชื้อสายมลายูในพื้นที่ชายแดนใต้ ได้รับการบอกเล่าเรื่องราวที่ต่างกัน อัตลักษณ์ทางศาสนาและชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่แบ่งแยกมิได้ และเมื่อคนไทยพยายามจะเปลี่ยนแปลงเพียงด้านเดียว กลับเกิดผลกระทบตามมาในอีกหลายด้าน

แม้ว่าจะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากฉันทามติของประชาชนอย่างแท้จริง แต่การแก้ไขปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยังคงไม่ราบรื่น

เหตุการณ์ระเบิดในอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้อาสาสมัครทหารพรานที่มารักษาความปลอดภัยให้แก่พระสงฆ์ที่ออกบิณฑบาตในตอนเช้า ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย เหตุการณ์นี้เป็นเครื่องย้ำเตือนแก่รัฐบาลชุดใหม่ว่า เส้นทางในการแก้ไขปัญหายังคงเป็นไปอย่างยากลำบาก

ดอน ปาทาน เป็นนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงในประเทศไทยที่ทำงานเกี่ยวกับความขัดแย้งและการก่อความไม่สงบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความคิดเห็นในงานเขียนนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเอง ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง