การสังหารพระภิกษุในแดนใต้สะเทือนขวัญประชาชน
2019.01.22
ยะลา

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผู้ต้องสงสัยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบแบ่งแยกดินแดน บุกยิงพระภิกษุสองรูป ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาส รวมทั้งพระภิกษุลูกวัดอีกสองรูปได้รับบาดเจ็บ ในวัดไทยพุทธ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส
การบุกเข้ากราดยิงครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในช่วงเวลา 5 ปี ที่มีเป้าหมายเป็นพระภิกษุในชายแดนใต้
กล่าวกันว่า พระครูประโชติ รัตนานุรักษ์ ซึ่งถึงแก่มรณภาพในครั้งนี้ เป็นพระนักพัฒนาที่ทำงานร่วมกับชาวบ้านอย่างใกล้ชิด ทั้งในชุมชนชาวมุสลิมและชาวพุทธ และได้รับคำยกย่องว่าเป็นพระภิกษุที่มองโลกด้านบวก ไม่ว่าสถานการณ์ในชายแดนใต้ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่และมีข้อขัดแย้งมายาวนานแต่อดีต จะมีความเลวร้ายเพียงใด
องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างพากันประณามผู้ก่อเหตุครั้งนี้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกันกับนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีคำสั่งให้ตามล่าตัวมือสังหาร และขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในการดำเนินงานของรัฐบาลที่จะยุติความขัดแย้งในชายแดนใต้
ในแถลงการณ์ที่ออกเผยแพร่ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีระบุว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมีความพยายามในการสร้างสถานการณ์เอื้อประโยชน์ต่อตนเอง และพยายามดึงเข้าสู่เงื่อนไขความขัดแย้ง อันจะทำให้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยไปสู่สากล
หลังจากพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก เดินทางลงพื้นที่เยี่ยมประชาชนหลังเหตุกราดยิงพระสงฆ์ ได้บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ตนเองมีแผนที่จะส่งทหารที่จะสมัครใจบวชพระตามเวลาปกติอยู่แล้ว จำวัดในสามจังหวัด เพื่อให้ชาวบ้านรู้สึกปลอดภัยยิ่งขึ้น แต่ไม่ได้ชี้แจงว่า ทหารนอกเครื่องแบบเหล่านั้นจะติดอาวุธด้วยหรือไม่
แหล่งข่าวที่มีความคุ้นเคยกับ ขบวนการบีอาร์เอ็น กล่าวว่า ผู้ก่อความไม่สงบได้พุ่งเป้าไปที่พระสงฆ์ในเหตุการณ์บุกกราดยิงในวัด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อตอบโต้การสังหารผู้นำศาสนาของชาวมุสลิมในชายแดนใต้ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ และเพื่อปฏิเสธแรงกดดัน ที่จะให้ผู้นำกลุ่มบีอาร์เอ็นเข้าร่วมในการเจรจาเพื่อสันติสุขที่มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก
บีอาร์เอ็นเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนติดอาวุธที่ปฏิบัติการมายาวนาน และควบคุมกองกำลังผู้ก่อความไม่สงบเกือบทั้งหมดในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย
แหล่งข่าวยังกล่าวด้วยว่า ผู้นำระดับสูงของบีอาร์เอ็นอยู่ในระหว่างการซ่อนตัว เพราะรู้สึกเบื่อหน่ายกับแรงกดดันที่น่ารำคาญที่ไม่สิ้นสุด เพื่อให้เข้าร่วมโต๊ะเจรจากับฝ่ายไทย
แต่สิ่งที่ยังคงไม่มีความชัดเจนคือ เหตุการณ์ยิงสังหารในวันศุกร์เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว หรือเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงการย้ำรอยประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นนานกว่าทศวรรษมาแล้ว ซึ่งผู้ก่อการร้ายมุ่งโจมตีวัดและพระสงฆ์เป็นประจำ เพื่อฉีกหน้ากองกำลังรักษาความปลอดภัยของรัฐบาลในชายแดนใต้
การโจมตีในอดีต
ในปี 2549-50 พื้นที่ชายแดนใต้ถูกกระหน่ำจากการโจมตีด้วยอาวุธ ซึ่งมีโรงเรียนรัฐมากกว่า 100 แห่งเป็นเป้าหมาย ในช่วงเวลาดังกล่าวศพทหารถูกตัดแขนขาหรือศีรษะอย่างน่าอนาถ แต่ทุกอย่างยุติลง หลังจากที่ผู้นำชาวมุสลิมและนักรณรงค์ออกมาขอให้ผู้ก่อความไม่สงบระงับการใช้ความโหดเหี้ยม เพราะรังแต่จะเป็นผลเสียต่อเป้าหมายทางการเมืองของพวกตนเท่านั้น
นับแต่นั้นมา ก็มีความเข้าใจกันระหว่างคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ในทำนองกฎเบื้องต้นที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรว่า ต้องไม่ทำร้ายเด็ก บุคคลทางศาสนา พระภิกษุและอิหม่าม อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่ามีการละเมิดกฎดังกล่าว ซึ่งกระพือให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น
ในวันที่ 11 มกราคม 2562 นายดอเลาะ สะไร โต๊ะอิหม่ามรายสุดท้ายในสามรายที่ถูกสังหาร เมื่อไม่นานมานี้ โดยการลอบยิงจนเสียชีวิต ขณะที่ขี่รถจักรยานยนต์บนถนนสายรือเสาะ-จะกว๊ะ ในพื้นที่อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส
ผู้ก่อการร้ายในการโจมตีครั้งนั้นใช้อาวุธสงครามยิงในระยะห่างจากด่านตรวจของทหารประมาณ 200 เมตร (656 ฟุต) ชาวบ้านและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกล่าวว่า หน่วยสังหารของรัฐบาลหรือฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
นายสุไฮมี ดูละสะ นักรณรงค์ชาวมุสลิมในท้องที่กล่าวว่า ภายหลังการเสียชีวิตของผู้นำชาวมุสลิมทั้งสาม ผู้นำรัฐบาลแสดงความเห็นใจน้อยมากหรือแทบไม่แสดงเลย และดูเหมือนการสืบสวนสอบสวนคดีสังหารดังกล่าวไม่คืบหน้าไปถึงไหน
“สันติภาพจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจตรงกันว่าชีวิตมนุษย์ทุกคนมีค่า ไม่ว่าผู้เคราะห์ร้ายเป็นใครก็ตาม” นายสุไฮมีกล่าว เขาเป็นสมาชิกอาวุโสของ “เดอะ ปาตานี” กลุ่มทางการเมืองที่ส่งเสริมสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง เพื่อประชาชนในพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบนี้
ครั้งสุดท้ายที่พระสงฆ์ตกเป็นเหยื่อการสังหารโหดในเหตุการณ์การก่อความไม่สงบ เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2558 ที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เมื่อระเบิดแสวงเครื่องที่ซุกไว้ในถังขยะได้ระเบิดขึ้น เป้าหมายคือ กลุ่มทหารที่เดินลาดตระเวน ไม่ใช่พระสงฆ์
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ผู้ก่อความไม่สงบที่สวมใส่เสื้อผ้าเครื่องแบบทหารเริ่มสาดกระสุนใส่ชาวบ้านที่กำลังตักบาตรในอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย รวมทั้งพระสงฆ์หนึ่งรูป และเด็กชายคนหนึ่ง
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเวลาไม่กี่วัน หลังจากที่เด็กชายอายุต่ำกว่า 10 ปี จำนวน 3 คน ถูกสังหารในอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ทหารพราน 2 นายให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุ โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อยุติการโจมตีตอบโต้ แต่หลายเดือนต่อมาได้กลับคำให้การในชั้นศาล
ในเดือนพฤศจิกายน 2555 อิหม่ามอับดุลลาเต๊ะ โต๊ะเดร์ ซึ่งเป็นสมาชิกของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ถูกยิงเสียชีวิตที่อำเภอยะหา
การเสียชีวิตครั้งนั้นจุดชนวนความรุนแรงให้พุ่งพรวดขึ้นเป็นเวลานานถึง 6 สัปดาห์ และเป็นเหตุให้ผู้นำชาวมุสลิมในพื้นที่ดังกล่าวปฏิเสธที่จะสนับสนุนโครงการสันติภาพที่อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเสนอและเปิดตัวอย่างเป็นทางการที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556
ในเดือนพฤษภาคม 2554 ผู้ก่อความไม่สงบที่ซ่อนตัวอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุได้จุดชนวนระเบิดที่ลอบวางไว้ข้างทาง เป็นเหตุให้พระสงฆ์สองรูป ในอำเภอยะหาเสียชีวิต เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันที่สำคัญที่สุดทางพุทธศาสนา
หลังจากนั้น สื่อมวลชนของไทยพากันลงข่าวกันอย่างครึกโครมเป็นเวลาหลายวัน โดยสรุปว่าการโจมตีครั้งนี้เกิดจากเจตนาที่จะเพิ่มรอยร้าวระหว่างชาวไทยพุทธและชาวมุสลิม แต่เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนกล่าวว่า คนร้ายไม่มีโอกาสเห็นว่ามีพระสงฆ์นั่งอยู่ในรถแท็กซี่
‘ถึงเวลาที่ควรเลิกกดดัน’
การลอบสังหารพระภิกษุในวันศุกร์ที่ผ่านมา เกิดขึ้นท่ามกลางความรุนแรงที่ผู้ก่อความไม่สงบกระพือให้หนักขึ้น นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จากการสนทนากับแหล่งข่าวทั้งสองฝ่ายทำให้ทราบว่า เป็นสัญญาณที่กลุ่มผู้เห็นต่างแสดงให้รัฐบาลที่กรุงเทพฯ และกัวลาลัมเปอร์รู้ว่า ต้องหยุดใช้แรงกดดันกับผู้นำของตนให้เข้าร่วมโต๊ะเจรจา
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า การลอบสังหารอิหม่ามทั้งสามในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เพราะเป็นการละเมิดกฎไม่เป็นลายลักษณ์อักษรดังกล่าวข้างต้น ความรุนแรงที่ยกระดับขึ้นในพื้นที่สถานการณ์ความไม่สงบนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลทหารในปัจจุบัน กำลังจะประกาศกำหนดการเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงในเร็ววันนี้
เท่าที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีผลงานที่น่าประทับใจฝากไว้ในด้านการปราบปรามการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบที่ชายแดนใต้ ดังนั้น การพบปะตัวต่อตัวระหว่างผู้นำบีอาร์เอ็นกับตัวแทนของไทยน่าจะถือเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญ และบางทีอาจมีค่าเพียงพอที่พล.อ. ประยุทธ์จะใช้อ้างเป็นความก้าวหน้าได้
เมื่อเร็ว ๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขที่ปฏิบัติงานมา 3 ปี เป็น พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ นายทหารนอกราชการอีกคนหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนพยายามขอคำแนะนำจากประชาคมระหว่างประเทศเกี่ยวกับวิธีการที่จะช่วยให้การเจรจาเดินหน้าต่อไป แต่ไม่ใช่การไกล่เกลี่ย
นอกเหนือจากนั้นแล้ว ดูเหมือนรัฐทางกรุงเทพฯ ไม่ต้องการที่จะยอมตามข้อเรียกร้องใด ๆ ของบีอาร์เอ็น ซึ่งได้กล่าวไว้แล้วว่า ไม่สนใจที่จะเจรจาต่อรองกับฝ่ายไทยตอนนี้
หากและเมื่อบีอาร์เอ็นตัดสินใจที่จะมาร่วมโต๊ะเจรจาด้วย บีอาร์เอ็นก็ต้องการให้กระบวนการสันติภาพดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากลที่สุด ซึ่งหมายความว่า มีตัวแทนจากองค์การระหว่างประเทศเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ย
เหตุการณ์สังหารพระภิกษุเมื่อวันศุกร์สร้างความสะเทือนขวัญไปทั้งประเทศ ซึ่งรวมถึงตัวแทนจากกลุ่มภาคประชาสังคม ซึ่งพยายามดำเนินการอย่างเงียบ ๆ เพื่อโน้มน้าวผู้ก่อความไม่สงบให้หันมาเคารพหลักมนุษยธรรมและบรรทัดฐานสากล
“พวกเขาได้แจงความประสงค์แล้ว ตอนนี้ถึงคราวที่ต้องชะลอการกดดันบ้าง” เป็นคำกล่าวของหนึ่งในสมาชิกกลุ่มประชาสังคม ที่แสดงความเห็นโดยไม่ประสงค์ออกนาม
“การนำหลักขันติธรรมบางระดับมาใช้ นับเป็นปัญหาที่ท้าทายอย่างยิ่ง กลุ่มก่อเหตุการณ์รุนแรงจำนวนไม่น้อยที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวยังคงเห็นว่าหลักการมนุษยธรรม อย่างเช่น กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎการปะทะเป็นความคิดแปลกแยก ที่เป็นการมัดมือชก ในสนามการต่อสู้ที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อพวกตนเป็นทุนอยู่แล้ว” แหล่งข่าวกล่าวปิดท้าย
ดอน ปาทาน เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงและการพัฒนาให้แก่องค์การระหว่างประเทศ ข้อคิดความเห็นที่แสดงไว้ในข้อคิดเห็นนี้เป็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์