ไทยและบีอาร์เอ็นเห็นต่างกันมากเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในการพูดคุยเพื่อสันติสุข

ข้อเรียกร้องของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ต้องการปกครองตนเอง เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทย 'รับไม่ได้' อาบูซากล่าว
บทวิเคราะห์โดย ซาคารี อาบูซา
2022.01.19
ไทยและบีอาร์เอ็นเห็นต่างกันมากเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในการพูดคุยเพื่อสันติสุข ชาวบ้านโคกสะตอ ในจังหวัดนราธิวาส ขณะยืนเฝ้าดูเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนที่เกิดเหตุ ที่มีเด็กชาย วัย 8 ขวบ และญาติอีก 3 คน ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างทางไปโรงเรียน วันที่ 2 มีนาคม 2560
เอเอฟพี

คณะผู้แทนของรัฐบาลไทยและกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู (บีอาร์เอ็น) พบปะกันในกรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นับเป็นการพูดคุยเพื่อสันติสุขแบบพบตัวกันครั้งแรกในรอบสองปี

ตามความคาดหมาย ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ในการเจรจาฯ ที่มาเลเซียเป็นตัวกลางอำนวยความสะดวก เพื่อยุติการก่อความไม่สงบที่มีมานานหลายสิบปีของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย แม้ทั้งสองฝ่ายจะตกลงจัดตั้งคณะทำงานร่วมสำหรับการพูดคุยหารือในอนาคตขึ้นมาก็ตาม

เมื่ออ่านแถลงการณ์และข้อคิดเห็นของแต่ละฝ่ายอย่างละเอียดแล้ว เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็นมีความเห็นที่แตกต่างกันมากเกี่ยวกับประเด็นสำคัญ ๆ

สิ่งสำคัญสำหรับบีอาร์เอ็น

ตามคำกล่าวของนายอานัส อับดุลเราะห์มาน (หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ฮีพนี มะเระห์) หัวหน้าคณะพูดคุยของกลุ่มบีอาร์เอ็น ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะพูดคุยกันเกี่ยวกับสี่หัวข้อที่กลุ่มบีอาร์เอ็นเห็นว่าสำคัญ นั่นคือ การปกครอง การศึกษา การยอมรับอัตลักษณ์มลายูปัตตานี และระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมของชาวมลายูปัตตานี

เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 กลุ่มบีอาร์เอ็นได้ยื่นข้อเสนอการหยุดยิง ถ้าได้รับอนุญาตให้ “จัดตั้งเขตปกครองตนเอง “ปาตานีดารุสซาลาม” พร้อมอำนาจในการพัฒนาระบบการศึกษาของตนเอง ซึ่งจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาอิสลามและเป็นภาษามลายู และที่ซึ่ง “ภาษาและอัตลักษณ์มลายูจะเป็นที่ยอมรับและอนุรักษ์ไว้อย่างเป็นทางการ”

แต่ข้อเรียกร้องของกลุ่มบีอาร์เอ็นในการปกครองตนเอง เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยรับไม่ได้

ประเทศไทยมีการปกครองแบบรวมอำนาจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่มีการนำรัฐธรรมนูญฉบับที่สนับสนุนโดยกองทัพมาใช้ในปี 2560

รัฐบาลชุดนี้จะไม่มีวันยอมให้สามจังหวัดชายแดนใต้มีการปกครองตนเอง กล่าวตามตรง แม้รัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก็จะไม่สนับสนุนให้สามจังหวัดชายแดนใต้ปกครองตนเองอย่างเต็มที่ เพราะเกรงว่าทหารจะแทรกแซงการเมืองมากขึ้น การยอมให้ชาวมลายูปัตตานีปกครองตนเองได้จะเท่ากับเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่รัฐบาลไทยยอมรับไม่ได้โดยเด็ดขาด

รัฐบาลไทยเคยกล่าวว่า จะพิจารณาปรับภาษามลายูให้เป็นภาษาแบบแผนภาษาที่สอง

เจ้าหน้าที่ไทยรู้ว่าควรจะทำเช่นนั้น แต่ก็ไม่ทำ

คนไทยจะไม่มีวันละทิ้งระบบการศึกษาใด ๆ เพราะนั่นเป็นวิธีสำคัญอย่างหนึ่งในการปลูกฝังความคิดแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การปกครองของรัฐบาลที่มีกองทัพหนุนหลัง ไม่เป็นที่แน่ชัดว่ารัฐบาลกลางจะยอมให้โรงเรียนอิสลามในสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้รับการยกเว้นจากข้อกำหนดด้านการศึกษาของประเทศหรือไม่ รวมทั้งการเรียนการสอนเป็นภาษาไทย

กลุ่มบีอาร์เอ็นได้พยายามผลักดันให้มีการยอมรับวัฒนธรรมและค่านิยมมลายูปัตตานีอย่างเป็นทางการ สำหรับกลุ่มนี้ รัฐไทยเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ พวกเขาดิ้นรนต่อสู้เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมของตนเอาไว้

รัฐบาลไทยรู้สึกคับข้องใจกับชาวมลายูปัตตานีมานานแล้ว เพราะคนกลุ่มนี้เป็นชนกลุ่มน้อยเพียงกลุ่มเดียวในประเทศไทยที่ต่อต้านการกลืนกลายวัฒนธรรม ที่จริงแล้ว ชาวมลายูปัตตานีเชื่อว่าวัฒนธรรมไทยมีการทุจริตมาก ส่งผลและคุกคามค่านิยมชาฟีที่เก่าแก่และเป็นอนุรักษ์นิยมของตน

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญสำหรับกลุ่มบีอาร์เอ็นคือ การคุ้มครองเศรษฐกิจแบบเกษตรกรรมดั้งเดิมของพื้นที่ กลุ่มบีอาร์เอ็นได้ปฏิเสธโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ รวมทั้งการก่อสร้างเขตอุตสาหกรรม

รัฐบาลเชื่อว่าการด้อยพัฒนา เป็นสาเหตุของความไม่สงบในพื้นที่นั้น ขณะที่กลุ่มบีอาร์เอ็นเชื่อว่า โครงการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยเป็นภัยคุกคามวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวมลายูปัตตานี และว่าโครงการพัฒนาต่าง ๆ จะเป็นประโยชน์ต่อประชากรไทยเท่านั้น

ไทยมีท่าทีอ่อนลง

รัฐบาลไทยมีท่าทีอ่อนลงในการพูดคุยครั้งล่าสุด

ในแถลงการณ์ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ รัฐบาลไทยกล่าวว่า “โครงร่างที่เสนอมานั้นรวมถึงการลดความรุนแรง การมีส่วนร่วมในการเมือง และวิธีการหารือในพื้นที่ [สามจังหวัดชายแดนใต้]

รัฐบาลไทยได้ใช้การยุติการหยุดยิงเป็นเงื่อนไขของการพูดคุยมาโดยตลอด เพื่อแสดงให้เห็นถึงไม่เพียงความมีไมตรีจิตและความตั้งใจจริงต่อสันติสุข แต่ยังให้เห็นถึงอำนาจและการควบคุมของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่มีต่อกำลังรบของกลุ่มด้วย

อันที่จริง ในระหว่างการพูดคุยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย ไม่มีผู้แทนจากฝ่ายกำลังรบของกลุ่มบีอาร์เอ็นอยู่ในคณะพูดคุยจำนวนเจ็ดคนของกลุ่มเลย

แถลงการณ์ของไทยไม่ได้กล่าวถึงภาษา อัตลักษณ์มลายูปัตตานี หรือการอนุรักษ์เศรษฐกิจแบบดั้งเดิม

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นน้อยครั้งเป็นประวัติการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ทำให้รัฐบาลไทยไม่ได้อยู่ภายใต้แรงกดดันเท่าใดนักที่ทำให้ต้องยอมตามข้อเรียกร้องของกลุ่มบีอาร์เอ็น

รัฐบาลคงจะเดินหน้าผลักดันนโยบายปัจจุบันด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงในภาคใต้ต่อไป อาจมีช่องทางในการปรับปรุงวิธีการแก้ไขความขัดแย้งได้บ้าง เห็นได้ชัดว่านี่จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทย

วัฒนธรรมการงดเว้นโทษ

แม้สองฝ่ายจะเห็นต่างกัน แต่ก็ควรมองว่าการกลับมาพูดคุยกันอีกครั้งเป็นสิ่งดี แต่ก็ยังคงมีเรื่องที่ไม่น่าพอใจอยู่ 

ความคับข้องใจสำคัญอย่างหนึ่งของชาวมลายูปัตตานีและกลุ่มบีอาร์เอ็นคือ การที่กองกำลังรักษาความมั่นคงไม่ต้องรับโทษใด ๆ

ภายใต้พระราชกำหนดปีพ.ศ. 2548 ที่ยังคงมีผลบังคับใช้ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของสามจังหวัดชายแดนใต้ การกระทำของกองกำลังรักษาความมั่นคงของรัฐบาลได้รับความคุ้มครองแทบจะเกือบทั้งหมด เมื่อทำผิด คนเหล่านี้แทบจะไม่ถูกดำเนินคดีเลย จึงทำให้มีข้อหากล่าวหาว่าใช้กำลังเกินควรและละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เสมอ ๆ

การคุ้มครองดังกล่าวได้รับการยกเว้นเพียงไม่กี่ครั้ง นับตั้งแต่ความขัดแย้งปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ได้มีการพิพากษาลงโทษเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความมั่นคง แต่ทุกคดีก็ได้รับการอุทธรณ์ให้พ้นโทษ

ที่พบบ่อยก็คือ เมื่อเกิดเหตุหนึ่งขึ้น มีการดำเนินการสืบสวนขึ้น แต่หลังจากที่คนลืมเรื่องนั้นไปแล้ว ข้อกล่าวหาต่าง ๆ ก็ถูกยกเลิก

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจสามนายถูกตั้งข้อหาพยายามฆ่า เมื่อยิงปืนใส่รถบรรทุกคันหนึ่งที่บรรทุกวัยรุ่นชาวมุสลิมจำนวนห้าคน ขณะที่รถคันนั้นแล่นผ่านด่านตรวจโดยไม่หยุดให้ตรวจ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสองคน ตำรวจเหล่านั้นไม่ได้สวมเครื่องแบบ คนในรถบรรทุกจึงคิดว่าพวกเขาเป็นผู้ก่อการร้าย

การตัดสินใจอย่างรวดเร็วของรัฐบาลในการตั้งข้อหาเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสามนายเป็นที่พอใจของคนในพื้นที่ แต่เป็นไปได้สูงว่าตำรวจเหล่านี้จะไม่มีวันถูกดำเนินคดี เมื่อทบทวนคดีนี้แล้ว และหลังจากที่เวลาผ่านไประยะหนึ่ง ข้อกล่าวหาต่อตำรวจทั้งสามนายนี้คงจะถูกยกเลิก

แต่ในเหตุหนึ่งที่แย่กว่านั้น เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ยุติการสืบสวนโดยไม่ตั้งข้อหา ในเหตุเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 เมื่อนายอับดุลเลาะห์ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยว่ารายหนึ่งที่อยู่ในความควบคุมตัวของทหาร ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน ขณะหมดสติ

ในระหว่างการสอบปากคำ ชายวัย 34 ปี ผู้นี้ได้ถูกถ่ายรูป ซึ่งขณะนั้นเห็นได้ชัดว่า เขายังดี ๆ อยู่เลย มีการอ้างว่ากล้องโทรทัศน์วงจรปิดในห้องขังของเขาไม่ทำงาน

คืนนั้น เขาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างรีบด่วน อาการของเขาใกล้เคียงกับการขาดออกซิเจน เขาอยู่ในภาวะโคม่า และเสียชีวิตลงในเดือนถัดมา ผลการชันสูตรศพของรัฐบาลไม่พบร่องรอยการถูกทรมาน

การยกเลิกวัฒนธรรมการงดเว้นโทษในประเทศไทยจะช่วยสร้างความศรัทธาของประชาชนได้มาก

แต่นั่นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายยังเห็นต่างกันมาก ในการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้

ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ และอาจารย์พิเศษ ที่มหาวิทยาลัยจอร์จ ทาวน์ ในกรุงวอชิงตัน ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของผู้เขียนเอง และไม่ได้สะท้อนถึงจุดยืนของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยจอร์จ ทาวน์ หรือ เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง