ชาวเรือประมงปัตตานีเตรียมลงชื่อร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ในวันศุกร์นี้
2015.07.02

นายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมการประมง จังหวัดปัตตานี กล่าวในวันพฤหัสบดีที่ 2 ก.ค. 2558 นี้ว่า ชาวประมงในจังหวัดปัตตานี จะนัดรวมตัวกันหน้าศาลากลางจังหวัดในวันศุกร์นี้ เพื่อลงชื่อในคำร้องทุกข์ที่ศูนย์ดำรงธรรม ผ่านไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขอลดหย่อนความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย และยืดระยะเวลาการดำเนินปรับสภาพเรือประมงให้ถูกต้องตามกฎหมายออกไป
โดยนายภูเบศ ได้กล่าวว่าต่อผู้สื่อข่าวว่า “ขณะนี้ น่าจะไม่มีปัญหาอะไรมากมายแล้ว แต่ก็ยังพร้อมที่จะรวมตัวกันหน้าลานอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 หน้าศาลากลางปัตตานี ในวันที่ 3 ก.ค. เวลา 09.00 น. เพื่อลงชื่อกลุ่มเรือประมงจังหวัดปัตตานี ส่งให้กับนายวีรพงค์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี”
ในเรื่องนี้ นายวัชรินทร์ รักษ์ยอดจิตร ประมงจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลมีการบังคับทางกฎหมายต่อชาวประมงเป็นวันที่สอง สำหรับชาวประมงปัตตานี ได้รับผลกระทบบ้าง แต่ไม่มากนัก เนื่องจากว่าเรือประมงส่วนใหญ่ได้มีการจดทะเบียนที่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่ก่อนแล้ว และทางผู้ประกอบการเรือประมง ได้ทยอยมาสอบถามข้อมูลและจัดทำเอกสารสำหรับเรือที่ยังไม่ถูกต้อง ให้ถูกต้องตามนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
นายวัชรินทร์ กล่าวว่า “จนถึงขณะนี้ เรือประมงยังออกเดินเรือตามปกติ ยกเว้นเรือที่มีปัญหา ประมาณ 54 ลำ คือ ยังไม่มีอาชญาบัตร หรือใช้เครื่องมือผิดประเภท เขาก็ไม่กล้าออกเรือต้องจอดอยู่แล้ว ซึ่งปัตตานี มีเรือทั้งหมดประมาณ 3,000 ลำ เป็นเรือประมงเชิงพาณิชย์ ประมาณ 2,700 ลำ”
ส่วนที่มีข่าวว่าชาวประมงจะมีการชุมนุมที่หน้าศาลากลาง จังหวัดปัตตานี ในวันพรุ่งนี้นั้น ได้สอบถามไปยังแกนนำชาวประมงแล้ว ไม่ได้เป็นการประท้วงหรือนัดปิดอ่าว แต่เป็นเพียงการรวมตัวเพื่อมายื่นหนังสือต่อท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ศูนย์ดำรงธรรม หน้าศาลากลางจังหวัด เพื่อแสดงให้รัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบว่า ชาวประมงมีความเดือดร้อน ซึ่งเป็นสิทธิที่สามารถแสดงออกได้ และทางจังหวัดได้ชี้แจงถึงขอบเขตของการชุมนุมเพื่อไม่ให้เข้าข่าย ม. 44 และกังวลว่ากลัวจะมีบุคคลที่สามฉวยโอกาสก่อกวน
เจ้าหน้าที่แรงงาน จังหวัดปัตตานี ผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่ง กล่าวว่า สำนักงานแรงงานจังหวัดปัตตานี ได้มีการรับลงทะเบียนแรงงานประมงต่างด้าว จำนวน 10,501 ราย ก็ถือว่าแรงงานเหล่านี้ เป็นแรงงานในภาคการประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย
อาหารทะเลเริ่มลดน้อยลง และมีราคาสูงขึ้น
ในวันพฤหัสบดีนี้ สื่อมวลชนท้องถิ่น ได้รายงานข่าวว่า ชาวเรือประมงทั่วประเทศ อาจจะทำการประท้วงรัฐบาล ด้วยการหยุดการทำประมงเป็นเวลาสองเดือน โดยจะเริ่มต้นในวันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคมนี้ หรือเรือประมงหลายๆ ลำ ต้องยุติการทำประมง เพราะกลัวถูกจับ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ทำให้มีความกังวลว่าจะเกิดการขาดแคลนอาหารทะเล และทำให้มีราคาสูงขึ้น
นางบีเดาะ ตาเยะ แม่ค้าขายปลา ในตลาดเทพวิวัฒน์ จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า “ตอนนี้ ปลาเริ่มมีน้อยลง ถ้าประมงหยุดตามที่ประกาศจริง ก็ถือว่า แม่ค้าและประชาชนได้รับผลกระทบอย่างมาก อย่างตอนนี้ ราคาอาหารทะเล เริ่มมีราคาสูงต่อเนื่องที่ 5-10 บาทต่อรายการ โดยเฉพาะช่วงนี้ เป็นช่วงที่พี่น้องมุสลิมถือศีลอด อาหารทะเลถือว่ามีความต้องการสูงในช่วงอาหารกลางคืน”
นางรอซีดะ ลาเต๊ะ แม่ค้าขายปลา ในตลาดเทพวิวัฒน์อีกคนหนึ่ง กล่าวว่า “ปลาเริ่มไม่สดแล้ว ราคาก็ขึ้นสูง ต่อไปคนปัตตานีไม้ต้องกินปลากัน คงกินได้แค่ยอดผักตามรั้วบ้าน เพราะถ้าไม่มีปลาแม่ค้าขายปลาจะขายอะไร ก็ต้องเลิกขาย”
ชาวประมงท้อแท้กับปัญหาที่เกิดขึ้น
ด้าน นางเรณู ปิ่นทอง เจ้าของเรือในเครือไทยประดิษฐ์ ที่ได้เดินทางมาขึ้นทะเบียนเรือประมง กล่าวว่า การที่รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามมาตรฐานการควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย การขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal, unregulated, and unreported (IUU) fishing practices) ที่ทางกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ได้ให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทยมาเมื่อวันที่ 21 เมษายน เป็นสิ่งที่ดี มิฉะนั้น ทางอียู อาจจะยกเลิกการนำเข้าอาหารทะเลได้ แต่ขณะเดียวกัน ตนมีความยากลำบากในการจัดเตรียมเอกสารที่ใช้ในการดำเนินการให้ครบตามข้อกำหนด
“เป็นเรื่องดีที่เรามาทำให้ถูกต้องตามกฎหมายบ้านเมือง จะเหนื่อยต่อการจัดหาเอกสาร เพราะมีเยอะเหลือเกิน แต่ก็จะพยายามทำให้ครบ เขาผ่อนมาแล้ว 2 เดือน แต่เราก็ไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง วันนี้ จึงต้องมาสอบถามเองถึงที่” นางเรณูกล่าว
“อยากเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยชาวประมงบ้าง ช่วยในการติดตั้งเครื่องวิทยุเรือให้ฟรี แล้วไม่ต้องมีค่ารายเดือนได้ไหม เพราะวันนี้ ต้องยอมรับว่าเรือแต่ละลำมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากทีเดียวต่อลำประมาณเดือนละ 7-8 แสนบาท เฉพาะค่าลูกเรือต่างด้าว 230,000 ต่อเดือน ยังไม่รวมค่าไต้ก๋งกับท้ายเรือ ซึ่งต้องเป็นคนไทย” นางเรณูกล่าวเพิ่มเติม
ขณะที่ นางมีเนาะ สา ชาวประมงเรือเล็กบ้านตันหยงเปาว์ กล่าวว่า ตัวเธอเองทำอาชีพประมงเรือเล็กมานาน สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ได้กำไรพอเลี้ยงครอบครัว แต่บางช่วงรายได้ไม่คุ้มค่าน้ำมัน แต่ต้องทำเพื่อครอบครัว โดยต้องออกเรือตั้งแต่รุ่งเช้า โดยได้หาปลารอบๆ อ่าวปัตตานี ได้ปลาไม่มาก
นางมีนะ กล่าวว่า “ยังไม่รู้ว่ามีปัญหานี้ แต่ก็รู้สึกไม่สบายใจ เพราะว่าถ้าเรือใหญ่มีปัญหา ก็อาจจะมีผลกระทบต่อเรือเล็กด้วย ยิ่งถ้าต้องมีการดำเนินการ ก็เกรงว่า อาจต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางค่าธรรมเนียม ครอบครัวคงต้องไปมาเลเซีย หางานอื่นทำแน่นอน”
ความคืบหน้าของทางฝั่งรัฐบาล
ในวันก่อนหน้านี้ พลเรือเอก ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การจดทะเบียนเรือประมง และการขออาชญาบัตร เป็นเรื่องราวที่คั่งค้างมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2539 และในการดำเนินการเพื่อให้ประเทศไทยได้มาตรฐานการควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย การขาดการรายงาน และไร้การควบคุมนั้น มีการแจ้งให้ผู้ประกอบการทราบมาสองเดือนแล้ว จึงไม่มีการยืดระยะเวลาอีกต่อไป
และในวันนี้ พลเรือเอก ไกรสร ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฏหมาย (ศป.มผ.) ได้เป็นประธานในการประชุม ศป.มผ. ครั้งที่ 9 โดยมี นายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมด้วย โดยที่ประชุมมสาระสำคัญเรื่องหนึ่ง คือการที่จะต้องศึกษาว่า ประเทศไทยควรจะมีเรือประมงจำนวนเท่าไร และเครื่องมือในการประมงควรจะเป็นชนิดใด
ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาวถึง 2,614 กิโลเมตร ประชากรกว่า 27 ล้านคน อาศัยอยู่ในจังหวัดที่มีชายฝั่งทะเล เป็นประเทศที่มีความสามารถส่งออกอาหารทะเลได้เป็นอันดับสามของโลก มีขนาดอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ารวมอยู่ที่สองแสนล้านบาทต่อปี