นายกฯ : ลูกเรือที่ถูกเมียนมาจับเมื่อ พ.ย. 67 ได้อภัยโทษแล้ว

รุจน์ ชื่นบาน
2025.03.28
กรุงเทพฯ
นายกฯ : ลูกเรือที่ถูกเมียนมาจับเมื่อ พ.ย. 67 ได้อภัยโทษแล้ว เจ้าหน้าที่กู้ภัยช่วยเหลือกัปตันเรือประมงไทยซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการยิงของเรือเมียนมา วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567
เฟซบุ๊กรวมพลคนรักทหารเรือ

น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ลูกเรือประมงชาวไทย 4 คน ที่ถูกทหารเรือเมียนมาควบคุมตัว ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. 2567 และถูกตัดสินจำคุกข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย ได้รับการอภัยโทษแล้ว และรัฐบาลไทยเตรียมรับกลับเร็ว ๆ นี้ แต่ยังไม่ระบุวันที่แน่ชัด

“ยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะ ที่ได้รับแจ้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่า เมื่อวันที่ 27 มี.ค. รัฐบาลเมียนมาได้ออกคำสั่งอภัยโทษลูกเรือประมงไทยทั้ง 4 คน บนพื้นฐานของความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับเมียนมา ซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามติดต่อหารืออย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องของกระทรวงการต่างประเทศ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและทางการเมียนมา” น.ส. แพทองธาร กล่าว

กรณีที่เกิดขึ้น สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่า เมื่อเวลา 00.45 น. ของวันที่ 30 พ.ย. 2567 เรือประมงไทยถูกเรือรบเมียนมาโจมตี บริเวณทะเลอันดามัน ห่างจากเกาะพยาม จ.ระนอง ประมาณ 12 ไมล์ทะเล (22 กิโลเมตร) ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต รวมทั้งมีเรือประมงไทยที่ถูกควบคุมไว้ 1 ลำ

ต่อมา เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2567 ศาลจังหวัดเกาะสอง ได้พิพากษาจำคุกลูกเรือทั้ง 4 คน เป็นเวลา 4-6 ปี และปรับตั้งแต่ 500-3,200 บาท จากความผิดข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และลักลอบทำประมงโดยไม่ได้รับอนุญาต

อย่างไรก็ตาม นายมาริษ เสงี่ยมพงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า ลูกเรือทั้งหมดจะไม่ต้องติดคุก และได้รับอภัยโทษกลับประเทศในวันที่ 4 ม.ค. 2568 แต่กระบวนการไม่ได้เป็นไปตามที่คาด กระทั่งมีความล่าช้าจนถึงปัจจุบัน 

“ดิฉันได้มอบหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้เร่งดำเนินการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการนำลูกเรือประมงไทยทั้ง 4 คน กลับสู่ครอบครัวโดยเร็วที่สุด ขอขอบคุณรัฐบาลเมียนมาต่อการตัดสินใจดังกล่าวค่ะ” นายกรัฐมนตรี เปิดเผยในเช้าวันที่ 28 มี.ค. นี้

สื่อมวลชนหลายแห่ง ระบุตรงกันว่า การอภัยโทษดังกล่าว สืบเนื่องจาก พระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 27/2568 ของสภาการวางแผนและบริหารแห่งรัฐ แห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ที่สั่งให้มีการอภัยโทษคนไทย 4 คน และคนฟิลิปปินส์อีก 3 คน ที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำบนเกาะสอง ของเมียนมา บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และหลักมนุษยธรรม โดย นายออง ลิน ดเว เลขานุการสภาฯ เป็นผู้ลงนาม

สำหรับลูกเรือประมงไทยที่ได้รับการปล่อยตัว ประกอบด้วย 1. นายวิโรจน์ (สงวนนามสกุล) 2. นายสุนันท์ (สงวนนามสกุล) 3. นายสมปอง (สงวนนามสกุล) และ 4. นายถาวร (สงวนนามสกุล)

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยและเมียนมายังไม่ได้เปิดเผยว่า ลูกเรือทั้ง 4 คนจะได้รับการส่งตัวกลับประเทศไทยเมื่อใด 

กองทัพเรือ (ทร.) ชี้แจงในเดือน ธ.ค. 2567 ว่า กรณีที่เกิดขึ้นมีเรือที่ถูกควบคุม โดยกองทัพเมียนมา 1 ลำ ชื่อว่า เรือ ส.เจริญชัย 8 มีลูกเรือ 31 คน ในนั้นมีลูกเรือชาวไทย 4 คน และเรือที่ถูกโจมตี คือ เรือดวงทวีผล 333 มีลูกเรือ 29 คน เสียชีวิต 1 คน จากการจมน้ำ และเรือมหาลาภธนวัฒน์ 4 มีลูกเรือ 33 คน บาดเจ็บ 2 คน

ก่อนหน้านี้ ฝ่ายไทยพยายามประสานกับเมียนมาทั้งการเชิญเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยมาหารือ การให้เอกอัครราชทูตไทยในนครย่างกุ้งเข้าพบปลัดกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาเพื่อหาทางแก้ปัญหา และการหารือของเจ้าหน้าที่ทหารผ่านกลไก คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น

ต่อมา พล.ต. จ่อ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า เรือตรวจการณ์ของกองทัพเรือเมียนมาพบกิจกรรมที่น่าสงสัยนอกชายฝั่งเกาะสองบนเรดาร์ เป็นเรือประมงอวนลาก เมื่อฝ่ายเมียนมาส่งสัญญาณให้เรือประมงหยุดเพื่อเข้าตรวจสอบ เรือกลุ่มนั้นได้หลบหนี เรือของกองทัพจึงต้องติดตามและเข้าจับกุม กระทั่งคดีขึ้นสู่ศาล ลูกเรือทั้งหมดถูกตัดสินจำคุก ก่อนได้รับอภัยโทษในวันที่ 27 มี.ค. นี้ 

ปลายปี 2563 เรือรบเมียนมาเคยควบคุมตัว เรือตกปลาไทย ซึ่งมีนักท่องเที่ยวไทย-จีน 20 คน โดยอ้างว่า เรือตกปลาได้ล้ำน่านน้ำเมียนมา นักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าว ถูกควบคุมตัวอยู่ในเมียนมาอยู่ประมาณ 1 เดือน ก่อนได้รับการปล่อยตัวกลับประเทศไทยในเวลาต่อมา หลังการเจรจาของรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเมียนมา

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง