เหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวจีนจากเมียนมาถูกส่งกลับประเทศแล้ววันนี้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และ ภิมุข รักขนาม
2025.02.20
แม่สอด, ตาก
เหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวจีนจากเมียนมาถูกส่งกลับประเทศแล้ววันนี้ ชาวจีนกลุ่มที่สอง จำนวน 50 คน ทยอยเดินขึ้นเครื่องบินของสายการบินไชน่าเซาท์เทิร์นแอร์ไลน์ในช่วงบ่าย เพื่อเดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอดกลับไปประเทศจีน วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568
สาโรช เมฆโสภาวรรณกุล-ไทยนิวส์พิกซ์/เบนาร์นิวส์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คนจีนซึ่งเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศเมียนมา ได้ขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับประเทศจีนแล้ว ด้านรองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไทยพร้อมประสานงานร่วมกับจีน และเมียนมาในการแก้ไขปัญหาคอลเซ็นเตอร์ และสแกมเมอร์ผิดกฎหมายในเมียนมา

“ชุดนี้ทั้งหมด 200 คน แบ่งเป็น 4 เที่ยว เที่ยวละ 50 คน มาแล้วก็มีกระบวนการตรวจสอบที่ชายแดนพม่า จนจบแล้วก็มีเจ้าหน้าที่เราเข้าไปร่วมตรวจสอบด้วย และก็มีกระบวนการเข้าเมืองถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชน ชุดนี้ที่ออกไปเราถือเป็นบุคคลต้องห้ามไม่สามารถเข้าประเทศไทยได้อีก” นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

การส่งตัวคนจีนกลับประเทศครั้งนี้ รัฐบาลจีนได้ดำเนินการส่งเครื่องบินโดยสารมายังท่าอากาศยานแม่สอด จ.ตาก โดยมีเป้าหมายนำคนจีน 1,041 คน เดินทางกลับจีน ซึ่งลำแรกได้ออกเดินทางไปยังจีนในเวลา 11.40 น. โดยในวันที่ 20 ก.พ. นี้จะมีเที่ยวบินกลับจีน 4 เที่ยวบิน แต่ละเที่ยวรับคนจีน 50 คน รวมวันแรก 200 คน ส่วนในวันที่ 21-22 ก.พ. จะมีเครื่องบินจีนวันละ 6 เที่ยวบิน สำหรับรองรับคนจีนทั้งหมด

“โดยหลักเราไม่ให้เข้ามาตั้งค่าย เพราะเราไม่มีศักยภาพจะรับผู้อพยพ เพราะที่มีอยู่เวลานี้ยังมีปัญหา ถ้าเขาจะส่งให้เราก็ต่อเมื่อมีกระบวนที่พร้อมรับไว้ เช่น ถ้าไม่ใช่จีน เราก็จะติดต่อสถานทูตมารับออกไป” นายภูมิธรรม กล่าวเพิ่มเติม

นายภูมิธรรม ชี้แจงว่าเหตุผลที่รัฐบาลจีนได้ประสานให้ไทยอำนวยความสะดวกในการส่งคนจีนกลับเนื่องจากเป็นเส้นทางที่ปลอดภัยกว่าส่งจากเมียนมา

“ทางเมียนมาและกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Force - BGF) นำบุคคลสัญชาติจีนเดินทางมาสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 และส่งตัวให้กับทางเจ้าหน้าที่ไทย และดำเนินการตามขั้นตอนคนเข้าเมือง จะเดินทางกลับประเทศ 200 คน โดยทยอยส่งมาชุดละ 50 คน ห่างกันทุก 2 ชั่วโมง” พล.ต. ไมตรี ชูปรีชา ผู้บัญชาการกองกำลังนเรศวร (ผบ.กกล.นเรศวร) เปิดเผย

ต่อการส่งตัวกลับครั้งนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลจีนได้ประสานให้ไทยอำนวยความสะดวกในการส่งคนจีนกลับ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ปลอดภัยกว่าส่งจากเมียนมา

“การส่งตัวคนจีนที่ประสบภัยครั้งนี้ ท่าน (หลิว จงอี) ระบุว่า ความยากลำบากในการที่จะส่งคนจีนกลับผ่านจากเมียวดีไปจีน มีความอันตราย มีระเบิด มีอะไรหลาย ๆ อย่าง เขาก็ห่วงใย เลยเจรจากับเราเลยขอผ่านประเทศไทย เรามีเงื่อนไขว่า การมาขึ้นเครื่องบินที่ไทย ต้องผ่านกระบวนการคัดกรองเรียบร้อย” นายภูมิธรรม กล่าว

การส่งเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลับจีนครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ นายหวัง ซิง (ซิงซิง) นักแสดงชาวจีน ถูกล่อลวงให้มารับงานแสดงในประเทศไทย และลักพาตัวต่อไปใช้งานในพื้นที่สีเทาในเมียนมา ใกล้ชายแดน อ.แม่สอด กลายเป็นข่าวโด่งดังทั้งในประเทศจีนและไทย เมื่อต้นเดือน ม.ค. 2568

ในกรณีดังกล่าว รัฐบาลไทยได้ประสานกับฝ่ายเมียนมา กระทั่งสามารถช่วยเหลือ นายหวัง ซิง กลับจากเมียนมาได้ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ในปลายเดือน ม.ค. นายหลิว จงอี ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงและสาธารณะ จีน เดินทางมาเยือนไทย 

นายหลิวได้หารือกับข้าราชการและตัวแทนรัฐบาลไทยถึงความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ต่อมาเมื่อปลายเดือน ม.ค. 2568 ไทยได้ตัดไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และห้ามขายน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับเมียนมาเพื่อป้องกันการนำระบบสาธารณูปโภคนี้ไปใช้ในพื้นที่ผิดกฎหมาย 

ในวันที่ 19 ก.พ. นายหลิว ได้เข้าหารือกับ นายภูมิธรรม โดยขอความช่วยเหลือ 4 ข้อ ประกอบด้วย 1. ขอให้ไทยเสริมสร้างกลไกไตรภาคี โดยจัดประชุมเตรียมความพร้อมร่วมกับจีนและเมียนมา 2. ขอให้ไทยดำเนินการตัดไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ส่งไปยังเมียนมาต่อไป 3. ขอให้ไทยสกัดกั้นและควบคุมไม่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการหลบหนี และ 4. ขอให้ไทยช่วยสนับสนุนการส่งกลับคนจีน โดยการอำนวยความสะดวก และคุ้มครองความปลอดภัยในบริเวณชายแดน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จีนกดดันไทยให้จัดการแหล่งสแกมเซ็นเตอร์แนวชายแดน

ภูมิธรรม ลงพื้นที่แม่สอด รับเหยื่อคอลเซ็นเตอร์ 61 คน กลับจากเมียนมา

ศูนย์หลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต คืออะไรกันแน่


“ไทยพร้อมเปิดการเจรจาไตรภาคีร่วมกัน โดยจะเชิญทางเมียนมาด้วย ถ้าไม่มีอะไรคลาดเคลื่อนภายในสัปดาห์หน้าน่าจะจัดไตรภาคีขึ้นได้… การขอให้เราปิดกั้นไม่ส่งอุปโภคบริโภคไปเมียนมาเลย ผมได้เรียนไปว่า เรื่องสามตัดเรายังคงไว้ (ไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และน้ำมัน) แต่ให้ตัดเรื่องอุปโภคบริโภคทั้งหมดเลย เราเป็นห่วงเรื่องมนุษยธรรม ประชาชนที่เป็นคนบริสุทธิ์ไม่ควรได้รับผลอย่างนี้” นายภูมิธรรม เปิดเผยหลังการหารือ

โรมย้ำต้องแยกอาชญากรออกจากเหยื่อ

ธุรกิจผิดกฎหมาย และการล่อลวงคนไปทำงานในเมียนมารุนแรงขึ้นหลังจากเกิดรัฐประหารในเมียนมาเมื่อ ก.พ. 2564 โดยเฉพาะในพื้นที่เมียวดี ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ยาไถ ชเวโก๊กโก ของบริษัท ยาไถ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิง กรุ๊ป ของจีน และบริษัท ชิด ลิน เมียง ของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริการะบุว่า เป็นศูนย์กลางอาชญากรรมและกิจกรรมผิดกฎหมาย 

นายรังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธาน คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ (กมธ.ความมั่นคงฯ) ชี้ว่า สิ่งที่ไทยควรดำเนินการอย่างเคร่งครัดก่อนส่งเหยื่อขบวนการคอลเซ็นเตอร์กลับประเทศคือการซักถาม และเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล

“ความน่ากังวลของการส่งคน (จีน) กลับประเทศคือ การเก็บข้อมูล (ของไทย) เพราะเราจะต้องมีการสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ ว่า ตกลงแล้วคุณเป็นเหยื่อหรืออาชญากร แล้วรู้หรือไม่ว่าใครเป็นขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ข้อมูลนี้สำคัญที่เราจะต้องนำมาใช้ในการปราบปรามทลายโครงสร้างของอาชญากรรมข้ามชาตินี้” นายรังสิมันต์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ คนไทยเคยได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจผิดกฎหมายในเมียนมาเช่นกัน ในปี 2566 มีคนไทย 266 คน ที่เชื่อว่าถูกล่อลวงไปทำงานและกระทำทารุณในเครือข่ายผิดกฎหมาย ร้องขอความช่วยเหลือมายังรัฐบาลไทยและจีน กระทั่งได้รับความช่วยเหลือออกจากเมืองเล้าก์ก่ายของเมียนมาในที่สุด

“ในวันที่จีนเขากลับไปแล้ว ถ้าเรายังไม่มีข้อมูลเหล่านี้ คำถามคือยังมีจีนเทาอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ แล้วเราจะจัดการปราบปรามได้อย่างไร นี่คือผลประโยชน์ของประเทศไทย เรื่องการเก็บข้อมูลอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถเพิกเฉยได้” นายรังสิมันต์ ระบุ 

ต้นเดือน ก.พ. 2568 เหยื่อขบวนการคอลเซ็นเตอร์ และสแกมเมอร์ในเมียนมา 61 คน ถูกส่งมายังประเทศไทยผ่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 อ.แม่สอด โดยการช่วยเหลือของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) โดยในนั้นส่วนใหญ่เป็นคนจีน รองลงมาคืออินเดีย และอินโดนีเซีย

ต่อการรับเหยื่อขบวนการคอลเซ็นเตอร์ชาติต่าง ๆ จากเมียนมาเข้ามายังไทย พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ชี้ว่า เมียนมาเองก็ควรมีมาตรการคัดกรองเช่นเดียวกับของไทย เพื่อลดภาระของเจ้าหน้าที่ไทยด้วย 

“มาตรการรับคนจากเมียนมา ต้องประเมินว่าจะเกิดภาระอะไรเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ประเทศไทยหรือไม่ ผมคิดว่า ประเทศเพื่อนบ้านจะต้องคัดแยกมาก่อน  ถ้าหากพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับคนไทยในฐานะเป็นผู้เสียหาย ก็ส่งกลับมา เราก็จะเข้าสู่กระบวนการคัดแยกซักถาม เรื่องของการค้ามนุษย์เพื่อหาว่าตัวการคือใคร” พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ กล่าว

ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ สตช. ระบุว่า ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565 - มิ.ย. 2567 มีคนไทยตกเป็นเหยื่อขบวนการคอลเซ็นเตอร์กว่า 575,500 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 65,715 ล้านบาท เฉลี่ยความเสียหายวันละกว่า 80 ล้านบาท

สาโรช เมฆโสภาวรรณกุล ในจังหวัดตาก ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง