นักข่าวเผย ไม่ได้อิสระในการนำเสนอข่าวทริปภูมิธรรมเยี่ยมอุยกูร์ในจีน
2025.03.20
กรุงเทพฯ

ผู้สื่อข่าวเผย ไม่ได้อิสระในการเสนอข่าวการเยือนประเทศจีนเพื่อเยี่ยมคนอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับจากไทยของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและคณะ โดยอ้างว่ารัฐบาลจีนขอตรวจสอบภาพก่อนเผยแพร่
“ทริปอุยกูร์นักข่าวไทยที่ไปโดนหน่วยความมั่นคงจีนประกบ แถมขอสแกนภาพที่จะส่งกลับไทยด้วย” นายประณต วิเลปสุวรรณ ผู้อำนวยการข่าวจากไทยรัฐ เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว
นายประณต ระบุว่า สื่อมวลชนที่ร่วมเดินทางไปจีนถูกขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามข้อกำหนด คือ 1. เบลอหน้าชาวอุยกูร์และครอบครัว 2. เบลอหน้าเจ้าหน้าที่จีน หรือหลีกเลี่ยงการถ่ายภาพเจ้าหน้าที่จีน
“ก่อนที่รัฐบาลไทยจะพานักข่าวเดินทางไปซินเจียง มีการเลือกนักข่าวไป มีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ซึ่งกระทรวงกลาโหมเข้ามามีบทบาทในการคัดกรองนักข่าวที่จะเดินทางไปด้วย โดยการสัมภาษณ์ก่อนไป ฉะนั้นจึงหมายความว่าหน่วยงานความมั่นคงเป็นคนคัดกรองสื่อ” นายประณต เปิดเผย
นายภูมิธรรม รวมถึง พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เดินทางเยือนจีนระหว่างวันที่ 18 - 20 มี.ค. 2568 เพื่อเยี่ยมชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งจากห้องกัก สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในไทยกลับไปจีน เมื่อปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา
ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 40 คน ถูกส่งจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กลับไปยังประเทศจีนเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา ท่ามกลางความกังวลของนานาชาติ และองค์กรสิทธิมนุษยชนว่า คนอุยกูร์เหล่านั้นจะต้องเผชิญกับอันตรายเมื่อถึงประเทศจีน
หลังการส่งกลับ รัฐบาลสหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป, องค์กรสิทธิมนุษยชน และองค์กรอิสลามหลายองค์กรจากนานาชาติ ได้ประณามการตัดสินใจของรัฐบาลไทย และแสดงความกังวลว่า คนอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับไปทั้งหมดอาจต้องเผชิญความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดด้านร่างกาย และสิทธิเสรีภาพ
รัฐสภายุโรป ยังเสนอให้ใช้การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement-FTA) เพื่อกดดันให้ไทยปรับตัวเรื่องสิทธิและเสรีภาพ ขณะที่ รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศลงโทษด้วยมาตรการวีซ่า ต่อเจ้าหน้าที่ของไทยที่เกี่ยวข้องกับการส่งชาวอุยกูร์ไปจีน
จีน-ไทยย้ำทำตามกฎหมาย
“สิ่งที่เราทำครั้งนี้ เราทำด้วยการตั้งใจจริง ต้องการดูให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ที่ ต้องโทษในเรื่องการเข้าเมืองผิดกฎหมายในประเทศไทย และคิดว่า จะเป็นทางเลือกที่พี่น้องชาวอุยกูร์ได้เลือกให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตที่เขาเลือกที่จะมาอยู่ ซึ่งการมาเยี่ยมเยียนครั้งนี้ก็จะได้เห็นสภาพความเป็นจริง” นายภูมิธรรม กล่าวระหว่างการเยี่ยมคนอุยกูร์ ในซินเจียง

การเยือนจีนของ นายภูมิธรรมและคณะ ได้เชิญสื่อมวลชนบางสำนักที่ถูกคัดเลือกไว้ให้ร่วมเดินทางไปยังเมืองคาซือ มณฑลซินเจียงด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เห็นความเป็นอยู่ของคนอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับครั้งล่าสุด และอีกจำนวนหนึ่งซึ่งถูกส่งกลับตั้งแต่ปี 2558 ท่ามกลางเสียงติติงจากองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติว่า เป็นเพียงการแก้ภาพลักษณ์ที่ไทย-จีนสูญเสียไปจากการตัดสินใจส่งกลับ
ด้าน นายฉี หยานจุน รองเลขาธิการคณะกรรมการพรรค และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน ได้แถลงชื่นชมรัฐบาลไทยที่ร่วมมือส่งกลับชาวอุยกูร์ 40 คน เพื่อให้ได้ใช้ชีวิตปกติในจีน
“มีบางประเทศตำหนิความร่วมมือระหว่างไทยและจีน ทั้งที่ทั้งสองประเทศเพียงบังคับใช้กฎหมายปกติ โดยอ้างว่า เป็นเรื่องที่ไม่ดีที่ทั้งสองประเทศดำเนินการอย่างเข้มข้น ดังนั้นทั้ง ไทยและจีน ต้องต่อต้านอย่างเข้มแข็ง สิ่งที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปอ้างว่า จีนกระทำไม่เหมาะสมกับชาวอุยกูร์ ไม่เป็นความจริง ความจริงคือความจริง ทุกคนจะได้เห็น ประตูซินเจียงเปิดต้อนรับทุกคน” รองเลขาธิการคณะกรรมการพรรค ระบุ
ขณะที่ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวภายหลังจากได้เยี่ยมชายชาวอุยกูร์ซึ่งเชื่อว่าเป็น 1 ใน 40 คนที่ถูกส่งกลับครั้งล่าสุด “วันนี้ที่มาเยี่ยมเยือน ได้เห็นว่าเขาได้อยู่กับครอบครัว มีความรู้สึกขอบคุณรัฐบาลทั้งสองประเทศที่ได้ดูแล เราเห็นภาษากาย สีหน้าแววตาของครอบครัว แสดงออกถึงความตื้นตันใจที่ได้มีวันนี้เกิดขึ้น”
พ.ต.อ. ทวี ยืนยันว่า รัฐบาลไทยมีความจริงใจในการตัดสินใจเรื่องนี้ แม้หลายประเทศจะทัดทาน
“รัฐบาลของทั้งสองประเทศ(จีน-ไทย) มีความจริงใจ การตัดสินใจของรัฐบาลในการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับนั้น ตัดสินใจบนพื้นฐานว่าพวกเขาจะไม่ถูกทรมาน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุ
ในเดือน ก.ค. 2558 ไทยเคยผลักดันคนอุยกูร์เพศชาย 109 คน กลับไปยังจีน ขณะที่ส่งคนอุยกูร์เพศหญิง และเด็กไปยังประเทศที่สาม คือ ตุรกี 173 คน มีการเปิดเผยภาพว่า คนอุยกูร์ที่ถูกส่งไปจีนถูกคลุมศีรษะ และคุมตัวคล้ายนักโทษ
ต่อมา ส.ค. 2558 ได้เกิดเหตุระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่า เป็นการกระทำเพื่อตอบโต้การส่งคนอุยกูร์กลับจีน เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งได้รับความนิยมจากคนจีน ปัจจุบัน คดีระเบิดราชประสงค์ยังคงอยู่ในการพิจารณาของศาลอาญากรุงเทพใต้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ภูมิธรรม-ทวี ไปจีน เยี่ยมอุยกูร์ที่ถูกส่งจากไทย
สภายุโรป ประณามไทยส่งอุยกูร์กลับจีน อาจใช้ FTA กดดันไทยเรื่องสิทธิเสรีภาพ
นักสิทธิร้อง UN ถอดไทยจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ หลังส่งอุยกูร์ไปจีน
ด้าน นายภูมิธรรม เปิดเผยว่า ได้วิดีโอคอลกับคนอุยกูร์ 6 คนซึ่งถูกส่งกลับจากไทย และในนั้นมี 1 คนที่ถูกส่งกลับตั้งแต่ ปี 2558 ทำให้ทราบว่า หลังถูกส่งกลับคนอุยกูร์คนนั้นได้แต่งงาน ปัจจุบัน มีลูกอายุ 1 เดือน และรัฐบาลจีนได้ช่วยสร้างบ้านให้กับครอบครัวของเขา
“ผมมาเยือนและอยากได้คำตอบ เราทราบว่าซินเจียงเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ก็น่าจะดีกับตัวเขาที่กลับมา และดีกับทั้งสองประเทศที่ได้ตัดสินใจในครั้งนี้ และเราก็อยากรู้สภาพเขาที่กลับมา มีการรักษาพยาบาลอย่างไร ความเป็นอยู่อย่างไร” นายภูมิธรรมกล่าว
เยือนจีนแค่โฆษณาชวนเชื่อ
ต่อการเยือนจีนของตัวแทนรัฐบาลไทย นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย มองว่า เป็นเพียงการจัดฉากเพื่อฟอกขาวภาพลักษณ์ให้กับรัฐบาลจีน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการโฆษณาชวนเชื่อและการร่วมอาชญากรรมที่มีต่อชาวอุยกูร์
“การเยือนจีนครั้งนี้ ถือว่า ไทยยังสอบไม่ผ่าน เพราะการขั้นตอนต่าง ๆ ทางการจีนควบคุมอย่างเข้มงวด ทั้งคนที่ได้พบมีน้อยมากๆ มีเจ้าหน้าที่จีนตามประกบ ประเด็นคำถามของรัฐบาลและสื่อมวลชนถูกควบคุม ภาพการเยือนครั้งนี้ จึงเป็นเพียงการตอบเส้นเรื่องที่ทางการจีนเขียนให้ไทยเดินตาม” นายสุณัย กล่าว
นายสุณัย ยังระบุว่า “สิ่งที่ไทยควรจะทำ คือ พิสูจน์ข้อเท็จจริง ทำให้การเยือนมีความหมาย โดยตั้งเงื่อนไขกลับไป เช่น ขอให้คณะทำงานอยู่ในพื้นที่ต่อเนื่อง วางแผนการเดินทางครั้งต่อไปให้นานขึ้น 7-10 วัน ขอพบคนมากขึ้น และให้ผู้แทนไทยจากสถานทูตฯ ไปตรวจสอบความเป็นอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะข้อเท็จจริงที่ว่าคนอุยกูร์จะปลอดภัยไม่สามารถตอบได้ด้วยการเยือนแค่ข้ามคืน”
ชาวอุยกูร์ คือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (Xinjiang Uyghur Autonomous Region - XUAR) ในภาคตะวันตกของจีน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่นับถือศาสนาอิสลาม และมีภาษาพูดเป็นของตัวเอง
สหประชาชาติ (UN) เคยรายงานว่า จีนกักขังชาวอุยกูร์ และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ 1.8 ล้านคน ในค่ายกักกันมีการทรมาน บังคับทำหมัน บังคับใช้แรงงาน รวมถึงห้ามให้ปฏิบัติตามประเพณี ภาษา วัฒนธรรม และศาสนา