สภายุโรป ประณามไทยส่งอุยกูร์กลับจีน อาจใช้ FTA กดดันไทยเรื่องสิทธิเสรีภาพ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2025.03.14
กรุงเทพฯ
สภายุโรป ประณามไทยส่งอุยกูร์กลับจีน อาจใช้ FTA กดดันไทยเรื่องสิทธิเสรีภาพ กลุ่มผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายชาวอุยกูร์ถูกส่งตัวกลับไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสงขลา วันที่ 26 มีนาคม 2557
รอยเตอร์

รัฐสภายุโรป มีมติประณามไทย กรณีเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่รัฐบาลไทยตัดสินใจส่งตัวคนอุยกูร์ 40 คนจากกรุงเทพฯ ไปยังประเทศจีน และมีการเสนอให้ใช้การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement-FTA) เพื่อกดดันให้ไทยปรับตัวเรื่องสิทธิและเสรีภาพ

“รัฐสภาประณามการเนรเทศผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ไปยังประเทศจีน และเรียกร้องให้ประเทศไทยหยุดการบังคับส่งตัวกลับประเทศที่ชีวิตของประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยงอีกต่อไป” เว็บไซต์ รัฐสภายุโรป ระบุ

การลงคะแนนมีขึ้นในวันที่ 14 มี.ค. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งญัตติประณามไทยเรื่องการส่งชาวอุยกูร์ไปยังจีน และเรียกร้องให้ไทยยุติการบังคับเนรเทศบุคคลไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงต่อชีวิต ได้รับการสนับสนุน 482 เสียง ต่อ 57 เสียงที่ไม่เห็นด้วย และอีก 68 คนงดออกเสียง

“สมาชิกรัฐสภาฯ เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการใช้ประโยชน์จากการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีเพื่อกดดันให้ประเทศไทยปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ปล่อยตัวนักโทษการเมือง หยุดการเนรเทศผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ และให้สัตยาบันอนุสัญญาหลักทั้งหมดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization-ILO)” รัฐสภายุโรป ระบุ

สมาชิกรัฐสภายุโรป เรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้สิทธิ์สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees-UNHCR) ในการเข้าถึงผู้ขอสถานะผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมดโดยไม่จำกัด และเปิดเผยข้อมูลสถานะของผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์

“สมาชิกรัฐสภาฯ ต้องการให้ไทยเสริมสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชน และนิรโทษกรรม นักการเมือง และนักกิจกรรม ซึ่งถูกใช้กฎหมายที่กดขี่ และถูกลงโทษจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ขณะเดียวกัน ต้องการให้ระงับสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจีน และจีนต้องเคารพสิทธิพื้นฐานของชาวอุยกูร์ รวมทั้งปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว” ข้อเรียกร้อง ตอนหนึ่ง

การประณามครั้งนี้เกี่ยวข้องกับ กรณีเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่มีรถบรรทุกซึ่งถูกปิดเทปสีดำ 6 คัน เคลื่อนออกจาก สตม. สวนพลู มุ่งหน้าไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง ต่อมารัฐบาลไทยได้แถลงในภายหลังว่า ได้ตกลงร่วมกับรัฐบาลจีนในการส่งคนอุยกูร์ 40 คนกลับไปยังจีน ท่ามกลางความกังวลของนานาชาติว่า คนอุยกูร์เหล่านี้จะได้รับอันตราย

ต่อการประณามครั้งนี้ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า รัฐบาลจะได้หารือร่วมกันเพื่อชี้แจงกรณีดังกล่าวต่อสหภาพยุโรปต่อไป

“ยังไม่ได้ดูในรายละเอียด ว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และ FTA ด้วยหรือไม่ ต้องพูดคุยในรัฐบาล และฟังจากกระทรวงต่างประเทศที่เตรียมการเรื่องนี้อยู่แล้ว คิดว่า เราสามารถชี้แจงได้ว่าเราปฏิบัติตามกฎหมาย” พ.ต.อ. ทวี กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักสิทธิร้อง UN ถอดไทยจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ หลังส่งอุยกูร์ไปจีน

องค์กรสิทธิกังวล ไทยส่งอุยกูร์ 40 คน กลับจีน

เปิดหลักฐาน กต. ระบุ มี 3 ประเทศ ยินดีให้คนอุยกูร์ไปลี้ภัย


ด้าน นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้าน ชี้ว่า การถูกประณามครั้งนี้อาจสะท้อนว่าการตัดสินใจที่เกิดขึ้น รัฐบาลดำเนินการผิดพลาด

“สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายของไทยบางเรื่อง และการปฏิบัติของรัฐบาลไทยหลายกรณีไม่ได้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน การเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ว่าจีน หรือสหรัฐอเมริกา จะหนีไม่พ้นการถูกวิพากษณ์วิจารณ์จากอีกฝ่าย แต่หากดำเนินนโยบายโดยมีหลัก เช่น หลักสิทธิมนุษยชนสากล ประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็จะไม่สามารถว่าไทยได้ เนื่องจากเป็นหลักที่สากลให้การยอมรับ” นายณัฐพงษ์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐฯ, สหภาพยุโรป, องค์กรสิทธิมนุษยชน และองค์กรอิสลามหลายองค์กรจากนานาชาติ ได้ประณามการตัดสินใจของรัฐบาลไทย และแสดงความกังวลว่า คนอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับไปทั้งหมดอาจต้องเผชิญความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดด้านร่างกาย และสิทธิเสรีภาพ

ในปี 2557 ไทยเคยผลักดันคนอุยกูร์เพศชาย 109 คน กลับไปยังจีน ขณะที่ส่งคนอุยกูร์เพศหญิง และเด็กไปยังประเทศที่สาม คือ ตุรกี 173 คน มีการเปิดเผยภาพว่า คนอุยกูร์ที่ถูกส่งไปจีนถูกคลุมศีรษะ และคุมตัวคล้ายนักโทษ

ต่อมา เดือน ส.ค. 2558 ได้เกิดเหตุระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่า เป็นการกระทำเพื่อตอบโต้การส่งคนอุยกูร์กลับจีน เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งได้รับความนิยมจากคนจีน ปัจจุบัน คดีระเบิดราชประสงค์ยังคงอยู่ในการพิจารณาของศาลอาญากรุงเทพใต้

ชาวอุยกูร์ คือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (Xinjiang Uyghur Autonomous Region - XUAR) ในภาคตะวันตกของจีน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่นับถือศาสนาอิสลาม และมีภาษาพูดเป็นของตัวเอง

สหประชาชาติ (UN) เคยรายงานว่า จีนกักขังชาวอุยกูร์ และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ 1.8 ล้านคน ในค่ายกักกันมีการทรมาน บังคับทำหมัน บังคับใช้แรงงาน รวมถึงห้ามให้ปฏิบัติตามประเพณี ภาษา วัฒนธรรม และศาสนา

“ถ้าไทยไม่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนสากล ไทยจะเสียภาพลักษณ์ในเวทีระหว่างประเทศ รัฐบาลไม่ควรมัวแต่พร่ำบอกว่า คนอุยกูร์สมัครใจเดินทางกลับจีน หรือไม่มีประเทศไหนพร้อมรับ เพราะไทยรู้อยู่แล้วว่า แนวทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนไม่ใช่การส่งพวกเขากลับไปจีน แต่เป็นการส่งเขาไปประเทศที่สามเพื่อตั้งถิ่นฐานใหม่” นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์

ปัจจุบัน มูลนิธิศักยภาพชุมชน ระบุว่า มีคนอุยกูร์เหลืออยู่ในประเทศไทย 10 คน ประกอบด้วย คนอุยกูร์ 5 คน ที่อยู่ในเรือนจำคลองเปรม จากความผิดฐานแหกห้องกัก สตม. จ.มุกดาหาร เมื่อเดือน ม.ค. 2563 คนอุยกูร์ 2 คนซึ่งเป็นจำเลยคดีระเบิดราชประสงค์ ปี 2558 และอีก 3 คนซึ่งอยู่ในห้องกัก สตม. สวนพลู เนื่องจากถือหนังสือเดินทางของชาติอื่นที่ไม่ใช่จีน

“กรณีนี้ ยังมองไม่เห็นว่า ไทยหรือคนอุยกูร์ได้ประโยชน์อะไรจากการส่งกลับ การถูกประณามจากรัฐสภายุโรป และการที่ไทยอาจถูกผลกระทบจากมาตรการของประเทศยุโรป ยิ่งตอกย้ำว่า การส่งกลับคนอุยกูร์ครั้งนี้ไทยได้ไม่คุ้มเสีย เพราะชัดเจนมากว่า ไทยละเมิดหลักการไม่ส่งกลับคนไปเผชิญอันตราย” น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์

รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง