ภูมิธรรม-ทวี ไปจีน เยี่ยมอุยกูร์ที่ถูกส่งจากไทย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และ ภิมุข รักขนาม
2025.03.18
กรุงเทพฯ
ภูมิธรรม-ทวี ไปจีน เยี่ยมอุยกูร์ที่ถูกส่งจากไทย รถบรรทุกของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สวนพลู ซึ่งมีการปิดกระจกด้วยเทปดำ ออกจาก ตม. ในกรุงเทพฯ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568
ณัฐพล เมฆโสภณ/เบนาร์นิวส์

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึง พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางไปยังประเทศจีนในวันอังคารนี้ เพื่อเยี่ยมชาวอุยกูร์ซึ่งถูกส่งจากห้องกัก สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในไทยกลับไปจีน เมื่อปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา

“เราส่งตัว 40 ชาวอุยกูร์ให้ทางการจีนแล้ว ทางจีนดำเนินการอย่างไรบ้าง และเดินทางลงพื้นที่ ไปเยี่ยมบ้านพัก และหากเป็นไปได้ เราแจ้งทางการจีนว่า อยากไปเยี่ยมชาวอุยกูร์ ที่ประเทศไทยส่งไปเมื่อปี 2557 ซึ่งทางการจีนได้รับปากว่าจะหาให้ 1 คน จากที่ขอไป 2 คน” นายภูมิธรรม กล่าว

การเดินทางไปจีนครั้งนี้ เพื่อติดตามผลของการส่งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 40 คน จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทยกลับไปยังประเทศจีนเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา ท่ามกลางความกังวลของนานาชาติ และองค์กรสิทธิมนุษยชนว่า คนอุยกูร์เหล่านั้นจะต้องเผชิญกับอันตรายเมื่อถึงประเทศจีน 

“ในจำนวน 40 คนนี้ ทางการจีนบอกว่า มีปัญหาเรื่องระยะทาง เพราะซินเจียง มีพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทยถึง 3 เท่า แต่ละคนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งผมก็ระบุว่าเนื่องจากเรามีเวลาจำกัด หากเป็นไปได้ อยากใช้เป็นระบบซูม และขอให้สื่อได้เข้าไปถ่ายบรรยากาศเพื่อให้เห็นข้อเท็จจริง” รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติม

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป, องค์กรสิทธิมนุษยชน และองค์กรอิสลามหลายองค์กรจากนานาชาติ ได้ประณามการตัดสินใจของรัฐบาลไทย และแสดงความกังวลว่า คนอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับไปทั้งหมดอาจต้องเผชิญความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดด้านร่างกาย และสิทธิเสรีภาพ

รัฐสภายุโรป ยังเสนอให้ใช้การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement-FTA) เพื่อกดดันให้ไทยปรับตัวเรื่องสิทธิและเสรีภาพ ขณะที่ รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศลงโทษด้วยมาตรการวีซ่า ต่อเจ้าหน้าที่ของไทยที่เกี่ยวข้องกับการส่งชาวอุยกูร์ไปจีน

“เราคาดหวังและจะพยายาม ทำให้ชาติตะวันตกเข้าใจมากที่สุด สหรัฐฯ ถือเป็นมหามิตรของไทยมายาวนาน ส่วนจีนก็เป็นประเทศที่อยู่ใกล้เคียง และมีความสัมพันธ์ยาวนานเช่นกัน ประเทศไทยไม่ได้คิดเป็นศัตรูกับใคร เรารักษาสายสัมพันธ์ให้อยู่ในจุดที่เหมาะสม หากมีประเทศที่สามรับ ผมก็พร้อมส่งไป แต่ผมคงไม่รอ เพราะผมก็โดนบีบ เพราะจีนอ้างว่าชาวอุยกูร์ 40 คน เป็นพลเมืองของเขา” นายภูมิธรรม ระบุ

เบื้องต้น คณะจากไทยจะออกเดินทางจาก ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ในเวลา 23.00 น. ของวันที่ 18 มี.ค. ถึงท่าอากาศยานเมืองคาซือ เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ของจีน ประมาณ 07.00 น. ของวันที่ 19 มี.ค. ตามเวลาท้องถิ่น เข้าเยี่ยมสถานพยาบาล และฟังข้อสรุปว่า การส่งตัวคนอุยกูร์จากไทยไปจีน และการดำเนินการหลังจากนั้น เสร็จจากนั้นเดินทางไปเยี่ยมบ้านพักของคนอุยกูร์

คณะยังมีกำหนดเข้าพบผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ และผู้ว่าการเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ รวมทั้งเยี่ยมชมมัสยิดอิดกะฮ์ (Id Kah) หารือกับผู้นำศาสนาอิสลาม และเยี่ยมชมพื้นที่พัฒนาทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจของมณฑลซินเจียง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

2 ปีให้หลัง พ.ร.บ. ป้องกันซ้อมทรมาน ไทยลดการทารุณได้ไหม?

สภายุโรป ประณามไทยส่งอุยกูร์กลับจีน อาจใช้ FTA กดดันไทยเรื่องสิทธิเสรีภาพ

เปิดหลักฐาน กต. ระบุ มี 3 ประเทศ ยินดีให้คนอุยกูร์ไปลี้ภัย


ด้าน นางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศ ได้แถลงในวันจันทร์ที่ผ่านมาตอบโต้สหรัฐฯ ที่ออกมาตรการกดดันรัฐบาลไทย โดยชี้ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่มีสิทธิแทรกแซงความร่วมมือจีน-ไทย

“สหรัฐฯดำเนินการเนรเทศผู้อพยพผิดกฎหมายโดยไม่เลือกหน้า แต่กลับใส่ร้ายความร่วมมือทางกฎหมายของประเทศอื่น ทั้งยังใช้มาตรการคว่ำบาตรกดดัน นี่คือการกลั่นแกล้งอย่างชัดเจน จีนประณามอย่างรุนแรงต่อการทำลายชื่อเสียง และการคว่ำบาตรต่อจีน-ไทย รวมทั้ง คัดค้านการที่สหรัฐฯบิดเบือนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับซินเจียงด้วยข้ออ้างเรื่องสิทธิมนุษยชนเพื่อแทรกแซงกิจการภายในของจีน” นางหนิง กล่าว

ในปี 2557 ไทยเคยผลักดันคนอุยกูร์เพศชาย 109 คน กลับไปยังจีน ขณะที่ส่งคนอุยกูร์เพศหญิง และเด็กไปยังประเทศที่สาม คือ ตุรกี 173 คน มีการเปิดเผยภาพว่า คนอุยกูร์ที่ถูกส่งไปจีนถูกคลุมศีรษะ และคุมตัวคล้ายนักโทษ

ต่อมา เดือน ส.ค. 2558 ได้เกิดเหตุระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่า เป็นการกระทำเพื่อตอบโต้การส่งคนอุยกูร์กลับจีน เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งได้รับความนิยมจากคนจีน ปัจจุบัน คดีระเบิดราชประสงค์ยังคงอยู่ในการพิจารณาของศาลอาญากรุงเทพใต้

หลังการส่งคนอุยกูร์ไปยังจีน รัฐบาลไทยพยายามชี้แจงว่า จีนให้การรับรองว่า คนอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับทั้งหมดจะไม่ถูกลงโทษ สามารถอยู่กับครอบครัว และประกอบอาชีพได้ตามปกติ โดยเหตุผลที่ส่งคนอุยกูร์ไปจีนแม้ถูกหลายฝ่ายทัดทาน เนื่องจากไม่มีประเทศที่สามที่แสดงเจตจำนงว่าต้องการรับคนอุยกูร์เหล่านี้ไปตั้งถิ่นฐาน 

“น่าเสียใจว่าเพื่อนของเราบางประเทศไม่เข้าใจ และเลือกที่จะประณามเราง่าย ๆ เลือกการหาแพะมาสังเวยมโนธรรมของตัวเองแทน มีประเทศหนึ่งบอกว่าขออย่าให้ไทยส่งตัวชาวจีนอุยกูร์กลับไปให้จีน แต่ก็ไม่ได้บอกว่าจะรับคนเหล่านั้นไปอยู่ด้วยเอง ประเทศที่สามครับ ตอนนี้ ชาวจีนอุยกูร์ 40 คนอยู่ที่จีนแล้ว ถ้าจริงใจอยากได้จริง รีบไปติดต่อจีนเลยครับ อย่าเก่งแต่ขอกับไทย” นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เขียนบนเฟซบุ๊กตนเอง

ชาวอุยกูร์ คือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (Xinjiang Uyghur Autonomous Region - XUAR) ในภาคตะวันตกของจีน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่นับถือศาสนาอิสลาม และมีภาษาพูดเป็นของตัวเอง

สหประชาชาติ (UN) เคยรายงานว่า จีนกักขังชาวอุยกูร์ และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ 1.8 ล้านคน ในค่ายกักกันมีการทรมาน บังคับทำหมัน บังคับใช้แรงงาน รวมถึงห้ามให้ปฏิบัติตามประเพณี ภาษา วัฒนธรรม และศาสนา

ด้าน นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ไม่สามารถคาดหวังอะไรจากการเดินทางเยือนจีนของรองนายกรัฐมนตรีไทยและคณะได้ 

“ไทยเคยส่งคนอุยกูร์ไปจีนสองครั้งแล้ว เราไม่สามารถไว้ใจรัฐบาลไทย และรัฐบาลจีนได้อีก ในเมื่อเขาเคยส่งคนไปตาย การเดินทางไปครั้งนี้ก็เท่ากับการเอาคนไปรับรองการกระทำของตน ซึ่งเราไม่สามารถแน่ใจได้ว่าคนที่เขาไปเยี่ยมเป็นคนเดียวกับที่เขาถูกส่งไปหรือเปล่า มันก็อาจจะเป็นปาหี่ เป็นละครฉากใหญ่ฉากหนึ่งที่รัฐบาลกำลังทำ อยากให้รัฐบาลทำอะไรที่มีคุณค่ามากกว่านี้มากกว่า” นางชลิดา กล่าว

ปัจจุบัน มูลนิธิศักยภาพชุมชน ระบุว่า มีคนอุยกูร์เหลืออยู่ในประเทศไทย 10 คน ประกอบด้วย คนอุยกูร์ 5 คน ที่อยู่ในเรือนจำคลองเปรม จากความผิดฐานแหกห้องกัก สตม. จ.มุกดาหาร เมื่อเดือน ม.ค. 2563 คนอุยกูร์ 2 คนซึ่งเป็นจำเลยคดีระเบิดราชประสงค์ ปี 2558 และอีก 3 คนซึ่งอยู่ในห้องกัก สตม. สวนพลู เนื่องจากถือหนังสือเดินทางของชาติอื่นที่ไม่ใช่จีน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง