ศาลสั่งจำหน่ายคำร้องขอปล่อยอุยกูร์ หลัง รบ. ส่งทั้งหมดกลับจีน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2025.03.27
กรุงเทพฯ
ศาลสั่งจำหน่ายคำร้องขอปล่อยอุยกูร์ หลัง รบ. ส่งทั้งหมดกลับจีน นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ หลังฟังคำสั่งศาล ที่บริเวณด้านนอกศาลอาญากรุงเทพใต้ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568
ลูกอิฐ กุสุมาลย์/เบนาร์นิวส์

ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งจำหน่าย คำร้องของทนายความฝ่ายจำเลย ที่ขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ 43 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เป็นเวลากว่า 10 ปี หลังจากรัฐบาลไทยตัดสินใจส่งคนอุยกูร์ทั้งหมดกลับจีนเมื่อ 27 ก.พ. 2568 

“ผู้แทนสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแถลงต่อศาลว่า ปัจจุบันผู้ถูกคุมขังตามคำร้อง มิได้ถูกคุมขังอยู่ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ทางฝ่ายผู้คุมขังจึงไม่มีพยานที่จะมาไต่สวนว่าเป็นการคุมขังโดยชอบหรือไม่” คำสั่งศาล ตอนหนึ่ง

นายชูชาติ กันภัย ทนายความฝ่ายจำเลย ซึ่งที่ผ่านมาเป็นทนายคดีระเบิดราชประสงค์ ได้ร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อปลายเดือน ม.ค. 2568 เพื่อให้ศาลพิจารณาปล่อยตัว คนอุยกูร์ที่อยู่ในห้องกัก สตม. ทั้งหมด โดยอ้างว่า ผู้ต้องกักทุกรายได้รับโทษตามกฎหมายและพ้นโทษมาเป็นเวลานานแล้ว 

ศาลจึงได้นัดไต่สวนคำร้องดังกล่าว ในวันที่ 14 ก.พ. โดยสืบพยานซึ่งเป็นคนเชื้อสายอุยกูร์ 2 คน และตัวทนายความผู้ร้องเอง โดยมีเจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูต, สหประชาชาติ และสื่อมวลชนกว่า 20 คน ร่วมสังเกตการณ์ ทั้งยังมี เจ้าหน้าที่ ตำรวจ สตม. มาร่วมฟังการไต่สวนด้วย

ต่อมาศาลเห็นว่า คำร้องดังกล่าวมีมูลจึงได้เรียกสืบพยานฝ่าย สตม. ในวันที่ 27 มี.ค. นี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อคนอุยกูร์ทั้งหมดถูกส่งกลับแล้ว ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคำร้องดังกล่าว 

“เมื่อได้ความจากผู้คุมขังว่า ผู้ถูกคุมขังทั้งหมดถูกส่งตัวออกนอกราชอาณาจักรแล้ว จึงถือว่า ผู้ถูกคุมขังได้รับการปล่อยตัวแล้ว ปัญหาการควบคุมหรือขังไว้จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไป จึงจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ” คำสั่งศาล ระบุ

ในวันเดียวกันนี้ พ.ต.อ. วัชรพล กาญจนกันทร ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน สตม. เปิดเผยกับศาลว่า ผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ 43 คนตามคำร้องนั้น 40 คนได้ถูกส่งไปยังประเทศจีนแล้ว ขณะที่อีก 3 คน ได้เสียชีวิตไปในปี 2561 จำนวน 1 คน และปี 2566 จำนวน 2 คน จึงไม่เหลือคนอุยกูร์ในห้องกัก สตม. อีก

คำร้องของทนายความครั้งนี้มีขึ้นหลังจาก เมื่อต้นเดือน ม.ค. 2568 Justice For All องค์กรสิทธิมนุษยชนสากล ระบุว่า มีข่าวลือว่ารัฐบาลไทยจะส่งคนอุยกูร์ไปจีน จึงได้รณรงค์โครงการ #SaveUyghur เรียกร้องให้ รัฐบาลไทยยุติความพยายามดังกล่าว

TH-uyghur-case-dismiss-2.JPG
นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรมให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ หลังฟังคำสั่งศาล ที่บริเวณด้านนอกศาลอาญากรุงเทพใต้ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 (ลูกอิฐ กุสุมาลย์/เบนาร์นิวส์)

Justice For All ระบุว่า คนอุยกูร์ซึ่งถูกกักขังให้ข้อมูลว่า ต้นเดือน ม.ค. 2568 เจ้าหน้าที่ได้ถ่ายรูป และนำเอกสารเกี่ยวกับการสมัครใจกลับจีนมาให้ผู้ต้องกักชาวอุยกูร์กรอก รวมถึงกดดันด้วยวาจาว่า จะเนรเทศพวกเขาไปจีน ผู้ต้องกักชาวอุยกูร์จึงประท้วงต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการอดอาหาร กระทั่งทนายความได้ยื่นคำร้องให้ศาลพิจารณา

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ตัดสินใจส่งคนอุยกูร์ 40 คนกลับไปยังประเทศจีน ท่ามกลางความกังวลของนานาชาติ และองค์กรสิทธิมนุษยชนว่า คนอุยกูร์เหล่านั้นจะต้องเผชิญกับอันตรายเมื่อถึงประเทศจีน

5 อุยกูร์ยังถูกขังอยู่ไทย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มูลนิธิศักยภาพชุมชน ระบุว่า มีคนอุยกูร์เหลืออยู่ในประเทศไทย 7 คน ประกอบด้วย คนอุยกูร์ 5 คน ที่อยู่ในเรือนจำคลองเปรม จากความผิดฐานแหกห้องกัก สตม. จ.มุกดาหาร เมื่อเดือน ม.ค. 2563 คนอุยกูร์ 2 คนซึ่งเป็นจำเลยคดีระเบิดราชประสงค์ ปี 2558 

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยเปิดเผยว่า มีแผนที่จะส่งคนอุยกูร์ 5 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวในเรือนจำคลองเปรมกลับไปยังจีน หลังคนทั้งหมดพ้นโทษ ซึ่งสร้างความกังวลให้กับองค์กรสิทธิมนุษยชน 

เกี่ยวกับประเด็นนี้ น.ส. กฤตพร เสมสันทัด ผู้อำนวยการโครงการ มูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ (Peace Rights Foundation-PRF) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินเรื่องเพื่อขอแต่งตั้งทนายความประจำตัวให้แก่ คนอุยกูร์ทั้ง 5 คนที่อยู่ในเรือนจำคลองเปรม เพื่อให้ทั้งหมดมีตัวแทนทางกฎหมาย

“ได้มีการทำเรื่องขอแต่งตั้งทนายให้กับผู้ต้องขังทั้งหมด เพื่อให้พวกเขาสามารถแสดงความกังวลใจในเรื่องการถูกส่งกลับประเทศต้นทาง(จีน) หรือความเสี่ยงที่จะถูกประหัตประหารโดยประเทศต้นทางว่า นี่คือการไม่ได้สมัครใจกลับ ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มผู้ต้องกักไม่ได้พบทนาย เพราะเป็นกลุ่มความมั่นคงพิเศษ แต่กลุ่มที่อยู่กับทางราชทัณฑ์นี้ การแต่งตั้งทนาย จะสามารถทำให้มั่นใจได้ว่า พวกเขาได้รับการปกป้องสิทธิ เพราะคุณทวี รมว. ยุติธรรม ก็ระบุว่า ทางประเทศจีนต้องการเอาคนเหล่านี้กลับประเทศ” น.ส. กฤตพร กล่าวกับสื่อมวลชน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักข่าวเผย ไม่ได้อิสระในการนำเสนอข่าวทริปภูมิธรรมเยี่ยมอุยกูร์ในจีน

สภายุโรป ประณามไทยส่งอุยกูร์กลับจีน อาจใช้ FTA กดดันไทยเรื่องสิทธิเสรีภาพ

นักสิทธิร้อง UN ถอดไทยจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ หลังส่งอุยกูร์ไปจีน


ต่อคำสั่งศาลในวันนี้ นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า คำสั่งศาลที่ออกมาไม่เหนือความคาดหมาย แต่น่าผิดหวังที่ฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ

“การไม่พูดถึงการละเมิดอำนาจศาล กรณีที่ รัฐบาลส่งคนอุยกูร์ไปจีนระหว่างที่คดีอยู่ในการพิจารณา ทำให้เรารู้สึกว่า เป็นการใช้อำนาจ 3 ขาที่ไม่สมดุล คล้ายกับว่า อำนาจตุลาการ ไม่มีความหมาย รัฐสภาก็แทบจะไม่มีแรง สถานการณ์ทั้งหมดจึงถูกควบคุมโดยรัฐบาล ซึ่งเป็นอำนาจบริหาร กลายเป็นอำนาจสูงสุดของแผ่นดิน แทนที่จะเป็นการคานอำนาจของ 3 ขา เราก็ผิดหวังที่ประเทศไทยถดถอยขนาดนี้” นางชลิดา ระบุ

ขณะที่ นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวกับสื่อมวลชนหลังทราบคำสั่งศาล โดยเรียกร้องให้ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการส่งคนอุยกูร์กลับในครั้งนี้ลาออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“รัฐบาลควรกล้าที่จะออกมายอมรับว่า ฝ่ายบริหารตัดสินใจผิดพลาดที่ส่งคนอุยกูร์กลับ โดยไม่ยึดหลักใดๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นกลไกระหว่างประเทศ จุดยืนทางด้านการทูต รวมถึงหลักสิทธิมนุษยชน เพราะเท่ากับว่า ประเทศไทยยังตระหนักรู้เรื่องผู้ลี้ภัยน้อย ยอมรับผิดเสีย แล้วลาออกซะ ทั้ง รองนายกฯ ภูมิธรรม (เวชยชัย) รมว. ยุติธรรมที่ชื่อ ทวี (สอดส่อง) และ รมว. ต่างประเทศ ที่ชื่อ มาริษ (เสงี่ยมพงษ์)” นายกัณวีร์ กล่าว

หลังการส่งกลับ รัฐบาลสหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป, องค์กรสิทธิมนุษยชน และองค์กรอิสลามหลายองค์กรจากนานาชาติ ได้ประณามการตัดสินใจของรัฐบาลไทย และแสดงความกังวลว่า คนอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับไปทั้งหมดอาจต้องเผชิญความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดด้านร่างกาย และสิทธิเสรีภาพ

รัฐสภายุโรป ยังเสนอให้ใช้การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement-FTA) เพื่อกดดันให้ไทยปรับตัวเรื่องสิทธิและเสรีภาพ ขณะที่ รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศลงโทษด้วยมาตรการวีซ่า ต่อเจ้าหน้าที่ของไทยที่เกี่ยวข้องกับการส่งชาวอุยกูร์ไปจีนอีกด้วย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง