ชีวิตช่างเขียนอักษรจีน ท่ามกลางพลวัตที่เปลี่ยนไปของเยาวราช

ตุ้ยเหลียนแบบพิมพ์สู้ลายเส้นที่มีชีวิต สมาธิ พลัง และจิตวิญญาณไม่ได้
วัชรวิชญ์ ภู่ดอก
2025.03.18
กรุงเทพฯ
ชีวิตช่างเขียนอักษรจีน ท่ามกลางพลวัตที่เปลี่ยนไปของเยาวราช วิเชียร บัวแสง นั่งหน้าร้าน ที่ตรอกเจริญไชย เยาวราช กรุงเทพฯ วันที่ 1 มีนาคม 2568
วัชรวิชญ์ ภู่ดอก/เบนาร์นิวส์

ท่ามกลางพลวัตที่ผันผ่านของเยาวราช ย่านค้าขายบนแหล่งวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจีน แผงวาดตุ้ยเหลียนของ วิเชียร บัวแสง ชาวไทยเชื้อสายจีนอายุ 54 ปี คือหนึ่งในกิจการที่กำลังเผชิญกระแสความเปลี่ยนแปลง

ตุ้ยเหลียน หรือ ตุยเลี้ยง ตามการออกเสียงแบบแต้จิ๋ว  คือกลอนคู่ที่เขียนตามแนวยาวบนกระดาษสีแดงสองแผ่นด้วยอักษรสีทองตามความเชื่อของชาวจีนและลูกหลานโพ้นทะเล โดยมักจะนำมาติดในบ้านหรือประตูบ้าน ในช่วงเทศกาลมงคล เช่น เทศกาลตรุษจีน เพื่อความเป็นสิริมงคลและเป็นการอวยพรให้ปีใหม่ให้เป็นปีที่ดีกว่าเดิม

ตลอดระยะเวลา 35 ปี บนเส้นทางอักษรมงคล หลังจากสืบทอดแทนพ่อบุญธรรมผู้เป็นอาจารย์ เฮียวิเชียร เล่าให้ฟังว่ารายได้สมัยที่ขายอยู่ริมถนนต่างกับช่วงที่ย้ายมาตั้งร้านที่ “ตรอกเจริญไชย” ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนโบราณที่มีอายุนับร้อยปีอย่างเห็นได้ชัด
“ริมถนนนี่หาเงินง่าย สมัยก่อนขายดีวัน ๆ หนึ่งเขียนยันตีสี่ ทำกันสิบวันอ่ะตั้งแต่ ชิวอิก (ขึ้น 1 ค่ำ ตามจันทรคติจีน) ยันชิวจั้บ (ขึ้น 10 ค่ำ ตามจันทรคติจีน) นอนสองชั่วโมง เอาเตียงพับนอนรอลูกค้าเอาใกล้ ๆ แผงเลย บางทีก็ไม่ได้นอนเพราะลูกค้าเยอะ แน่นไปหมด บางทีก็ต้องเก็บร้านหนีลูกค้า เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเป็นรอลูกค้าแทน” เฮียวิเชียร เล่าให้ฟังถึงพลวัตในอดีตของย่านเยาวราช 

“บางทีมีเป็นเดือนที่ไม่มีเงินเข้าเลย ต้องใช้เงินที่เก็บไว้ไปเรื่อย ๆ ในฐานะคนค้าขายมันก็เจ็บปวดเหมือนกันนะ” เฮียวิเชียร กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีปีที่ 70 ของ ‘หนังสือพิมพ์สากล’

ปัจจุบันของหมู่บ้านคอมมิวนิสต์ เมื่อนักรบวางปืนเพื่อเปิดรับอนาคตใหม

ลำไยไทยโกไชน่า ความสำเร็จบนความเสี่ยงที่ต้องแลก


ในส่วนของต้นทุน เฮียวิเชียรเล่าให้กับเบนาร์นิวส์ฟังว่า เมื่อก่อนสามารถหาซื้อกระดาษขนาดที่ต้องการได้จากแถวถนนแปลงนาม  แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปทำให้ไม่สามารถหาซื้อกระดาษขนาดที่ต้องการได้จึงต้องสั่งมาจากจีนแทน 

ยังไม่รวมถึงค่าหมึกทองที่ผสมใหม่ทุกวันด้วยการนำผงทองคำเปลวมาผสมกับทินเนอร์ เพื่อให้ได้อักษรที่เปล่งแสงระยิบระยับเวลาโดนแดด ต่างกับการใช้ผงตะกั่วซึ่งถูกกว่าแต่คุณภาพไม่ดีเท่า 

“มีช่วงหนึ่งที่ลูกค้าขาประจำหายไปหลายปี เพราะเราหายไปจากริมถนนเหมือนกัน บางคนเพิ่งได้กลับมาเจอกันเมื่อปีที่แล้ว เพราะไปเจอเราในโซเชียลมีเดียหรือตามรายการที่เราไปออก เพราะสื่อนี่แหละที่ทำให้ได้กลับมาเจอกับลูกค้าเก่า ๆ อีก” เฮียวิเชียรกล่าวเสริม 

เมื่อถามถึงเรื่องการโดนรบกวนทางธุรกิจ โดยตุ้ยเหลียนแบบพิมพ์ เฮียวิเชียรกล่าวว่า การพิมพ์มันเป็นของสำเร็จรูป ไม่มีอะไรแปลกใหม่เทียบกับการตวัดลายเส้นด้วยมือไม่ได้

“ลายเส้นที่เราตวัดไปมันมีชีวิต สมาธิ มีพลังและจิตวิญญาณของคนเขียน มันเป็นพลังที่เราสัมผัสไม่ได้ แต่มันมีจริง สวยไม่สวยดูที่ลายเส้นว่าน้ำหนักพอมั้ย ต้นกำเนิดของภาษาจีนมาจากอักษรภาพ สวยไม่สวยเลยดูออก เทียบกันแล้วมันก็เหมือนกับการวาดภาพนั่นแหละ”
ป้ายชื่อเทพเจ้าหน่ำเทียงมึ้งแป๊ะกงที่เขียนเสร็จวางคู่กับอุปกรณ์และหมึกที่ใช้เขียน ที่ตรอกเจริญไชย เยาวราช กรุงเทพฯ วันที่ 1 มีนาคม 2568 (วัชรวิชญ์ ภู่ดอก/เบนาร์นิวส์)

chinese calligrapher 1 (2).JPG

ป้ายชื่อเทพเจ้าหน่ำเทียงมึ้งแป๊ะกงที่เขียนเสร็จวางคู่กับอุปกรณ์และหมึกที่ใช้เขียน ที่ตรอกเจริญไชย เยาวราช กรุงเทพฯ วันที่ 1 มีนาคม 2568 (วัชรวิชญ์ ภู่ดอก/เบนาร์นิวส์)

chinese calligrapher 9 (3).JPG

เฮียวิเชียรจัดแจงเปิดร้าน ที่ตรอกเจริญไชย เยาวราช กรุงเทพฯ วันที่ 1 มีนาคม 2568 (วัชรวิชญ์ ภู่ดอก/เบนาร์นิวส์)

chinese calligrapher 13 (4).JPG

เฮียวิเชียรเขียนตุ้ยเหลียนลงบนกระดาษ โดยมีเจ้เกียว วรวี บัวแสง ภรรยา ช่วยจับกระดาษ ที่ตรอกเจริญไชย เยาวราช กรุงเทพฯ วันที่ 1 มีนาคม 2568 (วัชรวิชญ์ ภู่ดอก/เบนาร์นิวส์)

chinese calligrapher 8 (5).JPG

เฮียวิเชียรจรดพู่กันเป็นชื่อเทพเจ้าหน่ำเทียงมึ้งแป๊ะกงบนกระดาษสีแดงด้วยหมึกสีทอง ที่ตรอกเจริญไชย เยาวราช กรุงเทพฯ วันที่ 1 มีนาคม 2568 (วัชรวิชญ์ ภู่ดอก/เบนาร์นิวส์)

chinese calligrapher 5 (6).JPG

ตัวอักษรสีทองบนตุ้ยเหลียนเมื่อสะท้อนแสงอาทิตย์ ที่ตรอกเจริญไชย เยาวราช กรุงเทพฯ วันที่ 1 มีนาคม 2568 (วัชรวิชญ์ ภู่ดอก/เบนาร์นิวส์)

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง