2 ปี ให้หลัง พ.ร.บ. ป้องกันซ้อมทรมาน ไทยลดการทารุณได้ไหม?
2025.03.17
กรุงเทพฯ

ข่าวการเสียชีวิตในเรือนจำของ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือโจ้ อดีตผู้กำกับการ สภ.เมืองนครสวรรค์ เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ทำให้สังคมหวนนึกถึง คดีที่ผู้กำกับโจ้และลูกน้องได้ก่อขึ้นในเดือน ส.ค. 2564 นั่นคือ การใช้ถุงพลาสติกสีดำคลุมศีรษะและกระทำทารุณ นายจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ หรือมาวิน ผู้ต้องหาคดียาเสพติด จนเสียชีวิตในห้องสอบสวน
เจ้าหน้าที่ตำรวจที่พัวพันกับคดีเมื่อปี 2564 คิดว่าตนได้ลบภาพจากกล้องวงจรปิดขณะสอบปากคำผู้ต้องสงสัย แต่กลับมีคลิปรั่วไหลไปยังกลุ่มทนายความ ซึ่งได้เผยแพร่ภาพดังกล่าวในโซเชียลมีเดีย จนเป็นเหตุให้ ผู้กำกับโจ้ตกเป็นผู้ต้องหาในฐานความผิดร่วมกันฆ่าผู้อื่น โดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต จนกระทั่งมีรายงานพบว่า เสียชีวิตในเรือนจำช่วงคืนวันที่ 7 มีนาคม 2568 ด้วยการแขวนคอตาย
คดีนี้กลายมาเป็นส่วนนึงที่ทำให้การผลักดันพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย (พ.ร.บ. ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย) สำเร็จ และสามารถบังคับใช้ได้จริงในเดือน ก.พ. 2566
ปัจจุบัน ผ่านเวลามาแล้ว 2 ปี ที่กฎหมายฉบับนี้ถูกใช้ คำถามที่น่าสนใจต่อมาคือ 2 ปี ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้าง
พ.ร.บ. ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย เป็นมาอย่างไร
พ.ร.บ. ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย เป็นกฎหมายที่ภาคประชาสังคมเป็นฝ่ายเสนอให้รัฐบาลจัดทำและบังคับใช้มาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี เนื่องจากสหประชาชาติ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2523-2567 มีคนไทยถูกบังคับให้สูญหายอย่างน้อย 82 คน โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม รวบรวมสถิติพบว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายอย่างน้อย 31 ราย ตั้งแต่ปี 2547
และไทยได้ให้สัตยาบันเป็นภาคีกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ของสหประชาชาติตั้งแต่ปี 2550 และ ลงนามในอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญฯ ตั้งแต่ปี 2555 แต่กฎหมายกลับไม่ถูกเสนอให้รัฐสภาพิจารณา
กระทั่ง ปี 2559 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติส่งร่าง กฎหมายดังกล่าวให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา อย่างไรก็ตาม สนช. 250 คน ซึ่งกว่าครึ่งเป็นทหารและตำรวจ ที่ถูกแต่งตั้งโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ยอมผ่านกฎหมายฉบับนี้ กระทั่งสภาหมดวาระลงในปี 2562

“พระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้นมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นหลัก อาจจะมีที่ถูกครหาเรื่องจับกุมผู้ต้องหา แล้วไปทำวิธีการที่โหดร้ายเพื่อต้องการข้อมูลบางอย่าง มีผลบังคับโดยตรงต่อเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรงเกี่ยวกับการจับกุม และมีผลกับผู้ที่ถูกจับทุกคดี ที่ถูกทำให้เจ็บปวด และทุกข์ทรมานทุกกรณี ทั้งร่างกายและจิตใจ”พ.ต.อ. ธนเสฏฐ์ ภิรมย์เอี่ยม รองผู้บังคับการ สำนักการศึกษาและประกันคุณภาพ (รอง ผบก.สศป.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าว
หลังจากไทยกลับมามีเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2562 กฎหมายดังกล่าวจึงถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร กระทั่ง สส. ผ่านความเห็นชอบกฎหมายดังกล่าวใน ปี 2564 ก่อนที่จะผ่านการพิจารณาของ สว. ในปี 2565 ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้จริงในวันที่ 22 ก.พ. 2566
“กฎหมายซึ่งประชาชนมีส่วนร่วมฉบับนี้ มีความใกล้เคียงกับกฎหมายสากล น่าจะเป็นกฎหมายที่ช่วยปกป้องและเยียวยาเหยื่อ รวมถึงผู้เสียหายได้จริง และเชื่อว่าจะปราบปรามเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการทรมานต่อประชาชนได้” น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ใจความสำคัญของ พ.ร.บ. ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย
พ.ร.บ. ดังกล่าวมีสาระสำคัญประกอบด้วย 1. กำหนดนิยามการทรมานและการอุ้มหายตามพันธกรณีของอนุสัญญา 2. กำหนดนิยามผู้เสียหายให้กว้างขวางขึ้น สมาชิกครอบครัวสามารถร้องแทนผู้เสียหายได้ 3. กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงต้องรับผิดทางอาญา 4. การคุมขังในที่ลับหรือที่ไม่เปิดเผย จะกระทำไม่ได้
5. คณะกรรมการตามกฎหมายฉบับนี้มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวน คดีซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย คุ้มครองพยาน และเยียวยาญาติ 6. กำหนดให้การร้องเรียนในคดีการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายได้รับความคุ้มครอง ไม่อาจถูกฟ้องแพ่ง-อาญาในคดีอื่นใด
7. การบังคับให้คนสูญหายไม่สามารถกระทำได้ และไม่มีข้อยกเว้น แม้อยู่ในภาวะสงคราม สถานการณ์ความมั่นคงภายในประเทศ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณะอื่น ๆ 8. มีอายุความ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา แต่จะเริ่มนับอายุความเมื่อทราบชะตากรรมผู้เสียหายเท่านั้น
9. ต้องบันทึกภาพเคลื่อนไหว และเสียง ตั้งแต่การจับตัว การสอบสวน กระทั่งการปล่อยตัว 10. กฎหมายบังคับใช้ แม้การกระทำดังกล่าวจะเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร และ 11. ห้ามส่งคนไปยังประเทศ ที่เชื่อว่า พวกเขาจะถูกกระทำทรมาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศาลสั่งประหารชีวิต ‘ผู้กำกับโจ้’ ก่อนลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต
อดีต ผกก. โจ้ สารภาพใช้ถุงคลุมหัวผู้ต้องหาจริง แต่แค่ขู่ไม่ได้เจตนาฆ่า
สภาผู้แทนเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการอุ้มหายฯ
โทษของผู้กระทำผิดแบ่งเป็น ฐานกระทำการทรมาน จำคุก 5-15 ปี และปรับ 1-3 แสนบาท ฐานกระทำรับอันตรายสาหัส จำคุก 10 - 25 ปี และปรับ 2-5 แสนบาท และฐานกระทำให้เสียชีวิต จำคุก 15 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 3 แสน-1 ล้านบาท
บันทึกภาพการควบคุมตัวมากขึ้น และการทรมานลดลงจริง
กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ระบุว่า นับตั้งแต่กฎหมายฉบับนี้ถูกบังคับใช้ มีผู้ฟ้องร้องให้ดำเนินด้วยกฎหมายฉบับนี้ 141 ราย โดยเป็นสาเหตุมาจากการถูกทรมาน 58 ราย การกระทำโหดร้ายไร้มนุษยธรรม 45 ราย การบังคับสูญหาย 17 ราย และกระทำ 2 ฐานความผิดขึ้นไปอีก 21 ราย
“นอกจากจะบังคับใช้กับเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ยังมุ่งประสงค์ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากกฎหมาย และรักษาความยุติธรรมให้ประชาชนด้วย จากนี้ไปจะต้องไม่มีใครต้องถูกทรมานและอุ้มหาย พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้ จะเป็นเกราะป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน ส่งเสริมหลักนิติธรรม และเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่อย่างรอบคอบมากขึ้น” พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว
อย่างไรก็ตาม มีการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว 679 ราย แบ่งเป็น ระหว่างการควบคุมของตำรวจ 52 ราย และในการควบคุมของกรมราชทัณฑ์ 627 ราย อย่างไรก็ตาม กระทรวงยุติธรรมชี้แจงว่า สาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุธรรมชาติ เช่น อาการป่วย หรือโรคประจำตัว เป็นต้น
“2 ปีที่ใช้กฎหมาย มาตรการที่ได้ผล คือ การติดกล้องประจำตัว การจัดทำรายงานบันทึกการจับกุม ต้องยอมรับว่า 2 ปีนี้ นับจากกฎหมายใช้บังคับกรณีร้องเรียน การทรมานอุ้มหายลดลงอย่างนัยสำคัญ เจ้าหน้าที่มีความระแวดระวังพอสมควร” นายสมชาย หอมละออ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย กล่าว
สถิติของ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุว่า ก่อนกฎหมายฉบับนี้ถูกบังคับใช้ ตำรวจถูกร้องเรียนว่า ซ้อมทรมาน ทำร้าย และใช้อำนาจโดยมิชอบต่อผู้ต้องหา ระหว่างปี 2560-2563 ไม่ต่ำกว่าปีละ 150 กรณี ซึ่งหากเทียบกับ สถิติของ ยธ. ก็พบว่า กรณีการร้องเรียนลดลง
ขณะที่ น.ส. พรพิมล มุกขุนทด ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ชี้ว่า เบื้องต้นการทรมานอาจจะลดลงจริง แต่มีการเปลี่ยนรูปแบบให้ซับซ้อนเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายด้วยเช่นกัน
“คิดว่ากฎหมายนี้บังคับใช้ได้จริง แต่ทุกมาตราไหม เจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติตามแนวทางและหลักเกณฑ์ไหมเป็นอีกเรื่องนึง เราเห็นว่า การทรมานตอนนี้น้อยมาก แต่เราได้รับเรื่องร้องเรียน เกี่ยวกับทหารสั่งให้ถอดเสื้อผ้ายืนตากฝน ซึ่งเป็นการกระทำที่มันแยบยลกว่าการทรมาน เขามีวิวัฒนาการที่หลีกเลี่ยงข้อกฎหมายได้มากขึ้น” น.ส. พรพิมล กล่าว

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า มีกรณีที่ถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่กระทำการละเมิด พ.ร.บ. ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย 24 กรณี คดีถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล 1 คดี และมีถึง 17 กรณี ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ
สิ่งที่กฎหมายยังบังคับใช้ไม่ได้ และยังเป็นอุปสรรค
“กรณีที่มีการแทรกแซงโดยรัฐ เช่น การส่งคนอุยกูร์ไปจีน เป็นการแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจทางการเมือง ซึ่งเป็นปัญหามาก ผู้มีอำนาจทางการเมือง แต่ขาดเจตนารมณ์ทางการเมืองไม่ตัดสินใจ และพยายามเบี่ยงเบนการปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้” นายสมชาย ชี้ประเด็น
กรณีที่ นายสมชายอ้างถึง เกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลไทยตัดสินใจส่งคนอุยกูร์จากห้องกัก สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สวนพลู 40 คน กลับไปยังประเทศจีน ท่ามกลางเสียงทัดทานของนานาชาติ เนื่องจากเชื่อว่า คนอุยกูร์เหล่านั้นจะได้รับอันตรายเมื่อถูกส่งไปจีน เป็นการกระทำที่ขัดกับมาตรา 13 ของพ.ร.บ. ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย
“รัฐบาลไทยยืนยันมาตลอดเรายึดมั่นในหลักไม่ส่งคนไปเผชิญความเสี่ยง เผชิญอันตราย ที่ผ่านมาเราก็ดำเนินอย่างนี้มาตลอด แต่สถานการณ์ของอุยกูร์ล่าสุด ก็เป็นเรื่องของความมั่นคง กรมคุ้มครองสิทธิฯ ก็มีการเข้าไปอธิบายเรื่องหลักการนี้ให้ทาง สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แต่ทั้งหมดทั้งปวง กระบวนการดำเนินการก็เป็นไปตามที่รัฐบาลชี้แจง” น.ส. นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ กล่าว
น.ส. นรีลักษณ์ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า หลังจากการบังคับใช้กฎหมายร่วม 2 ปี สหประชาชาติ (United Nations - UN) ได้เสนอแนะมายังประเทศไทยเพื่อปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายในหลายประเด็น
เช่น ตัวเลขผู้เสียชีวิตระหว่างการคุมขังยังสูง เรือนจำยังมีความแออัด และขาดการดูแลที่เหมาะสม ยังมีการกักตัวผู้อพยพอย่างไม่มีกำหนด การฝึกอบรมเรื่องการต่อต้านการทรมานยังไม่เพียงพอ ยังมีการคุกคามและการฟ้องเพื่อขัดขวางการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
“ในส่วนที่เกิดขึ้นแล้วก็ต้องช่วยกันทำให้ความจริงปรากฏ เรื่องการทรมาน และบังคับให้บุคคลสูญหาย ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงที่สุดอย่างนึง เพราะสิทธิในชีวิตสำคัญที่สุด ประเทศไทยมีกฎหมายดี ๆ เยอะ แต่ก็มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ 15 ปี ที่เราพยายามดันกฎหมายนี้ กฎหมายมันก็ใช้ได้ ถึงแม้ UN ทักท้วง แต่เราก็พยายามทำให้กฎหมายมันศักดิ์สิทธิ์ และใช้ได้จริงอยู่” น.ส. สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว
รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน