สมชาย นีละไพจิตร : 20 ปีที่สูญหาย แต่ไม่สูญเปล่า

ไทยได้ พ.ร.บ. ป้องกันการซ้อมทรมาน และสมชาย เป็นแรงบันดาลใจให้ทนายรุ่นหลัง
รุจน์ ชื่นบาน และ นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.03.12
กรุงเทพฯ
สมชาย นีละไพจิตร : 20 ปีที่สูญหาย แต่ไม่สูญเปล่า ที่หน้าสำนักงานกรมดีเอสไอ นางอังคณา นีละไพจิตร (สวมแมสก์ขาว) และกลุ่มผู้ร่วมกิจกรรม ถือรูปภาพของทนายสมชาย นีละไพจิตร พร้อมด้วยป้ายถามหาทนายสมชาย ผู้ถูกบังคับให้บุคคลหายสาบสูญเมื่อ 17 ปีก่อน วันที่ 12 มีนาคม 2564
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ค่ำวันที่ 12 มีนาคม 2547 ขณะที่สมชาย นีละไพจิตร กำลังขับรถยนต์ไปพบเพื่อนที่โรงแรมชาลีน่า ถนนรามคำแหง รถยนต์อีกคันหนึ่งได้พุ่งเข้าชนรถของเขา ทันใดนั้น กลุ่มชายฉกรรจ์จากรถคู่กรณีก็ลงมารุมทำร้าย แล้วพาตัวสมชายขึ้นรถออกไป นั้นคือครั้งสุดท้ายที่สาธารณชนได้พบ ทนายสมชาย 

“เราไม่คิดว่าชีวิตมันจะเปลี่ยนไปแบบนี้ เพราะปกติไม่ชอบออกสังคม ช่วงนั้น เราไม่มั่นใจในตัวเอง ทุกข์ทรมานใจ ห่วงลูกมากๆ เพราะอยู่ดีๆ ก็มีตำรวจ กับนักข่าวเต็มบ้านไปหมด หนังสือพิมพ์-โทรทัศน์บางสำนักเรียกสมชายว่า ทนายโจร ซึ่งเราเองก็ไม่ค่อยมีเวลาได้นั่งคุยกับลูกเพื่อทำความเข้าใจ มันเลยเป็นช่วงที่ลำบากมากที่สุด” อังคณา นีละไพจิตร ผู้เป็นภรรยา และแม่ของลูก 5 คน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

สมชาย เกิดในปี 2494 ปัจจุบัน ถ้ายังมีชีวิตอยู่เขาจะมีอายุ 72 ปี เขาเป็นพ่อของลูกสาว 4 คนและลูกชาย 1 คน ประกอบอาชีพทนายความ และเป็นประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม 

ในช่วงเวลาเดียวกับที่เขาถูกลักพาตัว สมชายกำลังว่าความให้กับผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเผาโรงเรียน และปล้นปืน จากค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) ต้นปี 2547 ซึ่งผู้ต้องหาบอกกับสมชายว่า “รับสารภาพเพราะถูกซ้อม” 

แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสมชายจะเป็นเรื่องแสนเศร้า แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง เพราะมันได้ผลักให้ อังคณาลุกขึ้นมาต่อสู้ และกลายเป็นนักสิทธิมนุษยชนคนสำคัญของประเทศไทยในเวลาต่อมา

“เราดีใจที่เราสามารถก้าวผ่านช่วงเวลานั้นไปได้ เราได้พบกับครอบครัวที่มีคนถูกอุ้มหาย บางครอบครัว ลูกๆ ต้องเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล ต้องย้ายบ้าน เมื่อเราผ่านมาได้ เราอยากจะทำอะไรที่มากกว่าทำเพื่อตัวเอง หรือครอบครัว เราอยากจะทำให้มันมีกลไกคุ้มครองไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้อีก และมีกระบวนการที่ทำให้คนผิดถูกลงโทษ” อังคณา กล่าว 

000_HKG2004033044450.jpg

หญิงชาวมุสลิมไทยมองดูโปสเตอร์ของทนายสมชาย นีละไพจิตร หน้ามัสยิดในจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2547 ภายหลังจากทนายสมชายได้หายตัวไป (เอเอฟพี)

อังคณา ได้ก่อตั้งมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เธอเคยดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นปากเป็นเสียงให้กับคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม สิ่งที่เธอผลักดันมาตลอดหลายปีคือ กฎหมายป้องกันการซ้อมทรมาน และบังคับสูญหาย หลายสิ่งที่เธอที่ลงมือสร้างทำให้เธอได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ในปี 2549 และรางวัลรามอน แมกไซไซ ในปี 2562 

คณะทำงานว่าด้วยการกระทำให้บุคคลสูญหาย สหประชาชาติ (United Nations-UN) ระบุในแถลงการณ์ครบรอบ 20 ปี การหายตัวไปของสมชายว่า รัฐบาลไทยต้องสอบสวนและนำผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสูญหายของเขามารับโทษทางอาญา

“อังคณา นีละไพจิตรไม่สยบยอมต่อความสิ้นหวังหลังจากสามีถูกกระทำให้สูญหาย เธอได้พยายามเสาะแสวงหาความจริง และความยุติธรรมอย่างไม่หยุดยั้ง ในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา” แถลงการณ์ ระบุ 

ปัจจุบัน อังคณาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ

เกิด พ.ร.บ. ป้องกันการซ้อมทรมาน-อุ้มหาย 

หลังกรณีของสมชาย ทำให้การเดินหน้าผลักดันกฎหมายเข้มข้นขึ้น องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมต่างพยายามอย่างหนักกว่า 10 ปี เพื่อให้ได้กฎหมายที่สามารถป้องกันไม่ให้มีใครต้องเผชิญสถานการณ์แบบเดียวกับทนายสมชายอีก

“สิ่งที่สังคมไทยได้เรียนรู้จากกรณีของทนายสมชาย คือ การได้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยนั้นอ่อนด้อยมากแค่ไหน และจะอ่อนด้อยอย่างยิ่งเมื่อผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง” อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ทนายความ และ อดีต สส. ยะลา กล่าว

240312-th-bn-amnesty2.jpg

ป้ายไฟรูปนายสมชาย นีละไพจิตร ถูกจัดวางหน้าโรงแรมชาลีน่า ย่านรามคำแหง ซึ่งเป็นสถานที่สุดท้ายที่สาธารณชนได้เห็นทนายสมชาย เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 (แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล)

สหประชาชาติ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2523 ถึงปัจจุบัน มีคนไทยถูกบังคับให้สูญหายอย่างน้อย 77 คน การหายตัวของ บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงบางกลอย จ.เพชรบุรี ในปี 2557, สุรชัย แซ่ด่าน แกนนำคนเสื้อแดง ในปี 2561 หรือ ต้าร์-วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมการเมือง ในปี 2563 คือส่วนหนึ่งของความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่ถึง 20 ปี 

หลังการผลักดัน และรณรงค์เรียกร้องตลอดหลายปี พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ก็สามารถประกาศใช้ได้ในเดือนตุลาคม 2565

“กฎหมายนี้จะทำให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิ การควบคุมตัวบุคคล จะต้องมีการบันทึกภาพ และเสียง มีการทำเอกสารเป็นระบบ ซึ่งจะทำให้มีการถ่วงดุลซึ่งกันและกันของหน่วยงานต่างๆ นับว่าเป็นกฎหมายที่มีประโยชน์มากๆ และจะทำให้เจ้าหน้าที่ต้องระมัดระวังในการละเมิดสิทธิประชาชน” อาดิลัน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายฯ มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย 1. กำหนดนิยามการทรมานและการอุ้มหายตามพันธกรณีของอนุสัญญา 2. กำหนดนิยามผู้เสียหายให้กว้างขวางขึ้น 3. กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงต้องรับผิดทางอาญา 4. การคุมขังในที่ลับหรือที่ไม่เปิดเผยจะกระทำไม่ได้

5. คณะกรรมการตามกฎหมายฉบับนี้มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวน คดีซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย คุ้มครองพยาน และเยียวยาญาติ และ 6. กำหนดให้การร้องเรียนในคดีการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายได้รับความคุ้มครอง ไม่อาจถูกฟ้องแพ่ง-อาญาในคดีอื่น

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายอย่างน้อย 31 คน นับตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเป็นจุดประทุของไฟความขัดแย้ง ที่ยังคงคุกรุ่นจนถึงปัจจุบัน  

สร้างทนายรุ่นหลัง 

นอกจากการเป็นทนายความแล้ว สมชายยังมีสถานะเป็นนักเคลื่อนไหว มีส่วนสำคัญในการล่ารายชื่อเพื่อเสนอให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนแก่ชาวบ้าน สิ่งเหล่านี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับทนายความมุสลิมคนอื่นๆ  

“ทนายสมชายเป็นทนายธรรมดาที่ใช้ชีวิตง่ายๆ แต่สิ่งที่เขาทำเป็นการพัฒนาทนายความในกระบวนการยุติธรรมให้มีศักดิ์ศรี และยึดมั่นในหลักกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และสร้างสังคมที่เท่าเทียมกัน แต่ด้วยประเทศมีรัฐอำนาจนิยม ไม่ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบถ่วงดุล หรือกระบวนการยุติธรรม ทนายสมชายจึงต้องประสบกับชะตากรรมเช่นนี้” อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าว

ข้อมูลของสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเขตอำนาจศาลยุติธรรมภาค 9 มีคดีความมั่นคงต้องดำเนินการพิจารณาประมาณ 150 คดีต่อปี ดังนั้น ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ อาชีพทนายความจึงมีความสำคัญมาก

“สมัยเรียนเคยได้ยินว่า ทนายสมชายทำคดีอะไร และอะไรทำให้เขาหายตัวไป พอเราได้คลุกคลีกับประเด็นนี้ ทำให้เราอยากสานต่อสิ่งที่ทนายสมชายได้ทำไว้ เสียใจที่เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับทนายสมชาย แต่ก็ดีใจที่เราสามารถสานต่ออุดมการณ์ของทนายสมชายมากมายเรื่องการช่วยเหลือคนในพื้นที่บ้านเรา” แวซง บาเน็ง ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายมุสลิม ปัตตานี กล่าว

social_media (10).jpeg

ภาพวาดของทนายสมชาย นีละไพจิตร ถูกวางหน้างานรำลึกถึงการหายตัวไป 14 ปี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 12 มีนาคม 2561 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม พบว่า นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา มีนักกิจกรรมในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างน้อย 40 คนที่ถูกดำเนินคดีอาญา และในบางคดีก็มีผู้ฟ้องเป็น พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 

“งานทนายมีความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มก่อการร้ายระดับไหนก็ต้องให้ความช่วยเหลือ แต่เราจะไม่เป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะยึดหลักว่า ถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่สามารถลงโทษเขาได้ เขาก็ควรเป็นผู้บริสุทธิ์ ควรได้ใช้ชีวิตอย่างปกติ แต่ถ้ากระบวนการยุติธรรมเห็นว่าควรลงโทษ นั่นก็คือสิ่งที่เขาต้องรับ และทนายความอย่างเราก็พยายามรักษาจุดยืนนี้ในการทำงานไว้” อับดุลกอฮาร์ กล่าวเพิ่มเติม

เหตุผลที่ สมชายต้องทำหน้าที่มากกว่าแค่ทนายความ เพราะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนั้น ยังมีความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม เรื่องสิทธิเสรีภาพอยู่มาก

“ชาวบ้านยังเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมน้อยมากในพื้นที่ที่ใช้กฎหมายพิเศษ ขณะเดียวกัน เราก็ต้องพยายามให้ความรู้ชาวบ้านเพื่อแก้ปัญหาด้วย อาชีพทนายความจึงมีความสำคัญ เราต้องทำหน้าที่แบบไม่กลัว แต่ก็ต้องระมัดระวังอยู่เสมอ ต้องทำงานแบบเปิดเผย โปร่งใส เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองได้รับผลกระทบ” แวซง กล่าว

ในทางคดีกรณีของทนายสมชาย เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 คน ซึ่งเชื่อว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวทนายสมชาย เนื่องจากศาลเห็นว่า หลักฐานไม่เพียงพอ 

แม้จะผ่านเวลามาแล้ว 20 ปี และในทางกฎหมายกรณีของทนายสมชายคล้ายว่าจะหมดหวัง แต่สำหรับอังคณาและครอบครัว สิ่งที่พวกเขาต้องการที่สุดคือ ความจริง

“เรายังอยากรู้ความจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้น สมชายยังอยู่ไหม ถ้าเขาตายแล้ว ใครเป็นคนทำให้ตาย เรายังอยากให้คนผิดถูกนำมาลงโทษ เรายังอยากได้รับการเยียวยาด้วยความยุติธรรม” 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง