ตำรวจไทยจับกุมนักเคลื่อนไหวเวียดนาม ข้อหาก่อการร้ายในปี 2566

หาก อี ควิน เบอดั้บถูกส่งตัวกลับ เขาต้องเผชิญโทษจำคุก 10 ปี ในเวียดนาม
เรดิโอฟรีเอเชีย เวียดนาม
2024.06.14
ตำรวจไทยจับกุมนักเคลื่อนไหวเวียดนาม ข้อหาก่อการร้ายในปี 2566 อี ควิน เบอดั้บ นักเคลื่อนไหวชาวเวียดนาม ในวิดีโอที่เขาถ่ายเอง วันที่ 7 มิถุนายน 2567 ก่อนที่เขาจะถูกจับกุมที่กรุงเทพฯ ในเวลาต่อมา
วิดีโอสาธารณะบน X ของ แมรี ลอว์เลอร์

นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศไทยถูกจับกุมที่กรุงเทพฯ และมีความเสี่ยงที่จะถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศเวียดนาม ซึ่งเขาอาจจะต้องรับโทษจำคุก 10 ปี ในข้อหาก่อการร้าย

ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนของเขาและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ตำรวจไทยจับกุม อี ควิน เบอดั้บ ในวันที่ 11 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปี ที่หลังจากที่มีกลุ่มคนกว่า 12 คน บุกรุกโจมตีสำนักงานสาธารณะ 2 แห่ง ในบริเวณที่ราบสูงตอนกลาง จังหวัดดั๊กลัก ประเทศเวียดนาม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 คน

นับจากเหตุการณ์ดังกล่าว บุคคลจำนวนมากถูกไต่สวนและตัดสินลงโทษในกระบวนการพิจารณาคดี ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการจัดฉากเพื่อลงโทษ ส่งผลให้ อี ควิน ผู้ที่เดินทางออกจากเวียดนามในปี 2561 ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี โดยที่ตนเองไม่ได้อยู่ในกระบวนการฟังคำพิพากษาด้วยซ้ำ

เขาปฏิเสธว่าตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบุกรุกโจมตี และอ้างว่าการตัดสินให้เขามีความผิด เป็นการเล่นงานทางการเมืองเพื่อตอบโต้การเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนของเขา

พื้นที่ที่ถูกบุกรุกคือ บ้านของชนพื้นเมืองกว่า 30 กลุ่ม ผู้ที่มีประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งอย่างยาวนานกับชาวเวียดนามส่วนใหญ่ ซึ่งพวกเขาอ้างว่า นี่เป็นการตามรังควานและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่เห็นต่าง บ่อยครั้งที่พวกเขาถูกเรียกว่า “มองตานญาด” (Montagnards) ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า “ชาวเขา” ที่ชาวฝรั่งเศสใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศเวียดนาม หลายกลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์ แถบที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนาม ในสมัยยุคล่าอาณานิคม แต่รัฐบาลเวียดนามได้ยกเลิกคำเรียกนี้ไปแล้ว

อี ฟิก ด็อก ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรมองตานญาดเพื่อความยุติธรรม (Montagnard Stand for Justice - MSJF) กับ อี ควิน อ้างว่า เขาได้รับข้อความจาก อี ควิน เมื่อวันอังคารว่า “ฉันถูกจับ”

วันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา หมายจับที่เรดิโอฟรีเอเชียได้พบเห็นถูกจัดอยู่ในประเภท "หมายจับอาชญากรข้ามแดน" และระบุว่า อี ควิน ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานก่อการร้าย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้สัมภาษณ์กับสื่อ เผยกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า นักเคลื่อนไหวรายนี้มีแนวโน้มที่จะถูกพิจารณาคดีในข้อหาถือวีซ่าอยู่ในประเทศไทย “นานเกินกำหนด”

ได้รับสถานะผู้ลี้ภัย

อี ควิน เดินจากออกจากเวียดนามในปี 2561 และมองหาสถานที่ลี้ภัยในประเทศไทย ซึ่งเขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในปีเดียวกัน โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees - UNHCR) เป็นผู้อนุมัติ และได้ใช้เวลาจัดการทำรายงานเปรียบเทียบเรื่องการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลเวียดนาม ลงในรายงานขององค์กรของตน ขณะที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

เนื่องจากเขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัย อี ควิน จึงมีสิทธิที่จะตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศที่สามได้ เขาจึงสมัครเพื่อเป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่ประเทศแคนาดา แต่บัตรประจำตัวผู้ลี้ภัยของเขามอบสิทธิคุ้มครองเพียงเล็กน้อยที่นี่ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่เคยลงสัตยาบันในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย ปี 2494 นั่นจึงหมายความว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยสามารถควบคุมนักเคลื่อนไหวอย่าง อี ควิน ได้โดยง่ายในข้อหาละเมิดกฎระเบียบของวีซ่า และนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนหลายรายได้กล่าวหาประเทศไทยว่า มีส่วนร่วมในการกดปราบข้ามชาติ

รายงานการทบทวนสิทธิมนุษยชนระดับโลกของฮิวแมนไรท์วอทช์ที่เผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้ว ระบุว่า ประเทศไทยได้มีการอำนวยความสะดวกในการส่งตัว หรือแม้กระทั่งการอุ้มหายผู้ลี้ภัย และผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง

อี ฟิก เพื่อนร่วมงานของเขาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงตนว่า ประเทศไทยเคารพในมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล และควรปฏิเสธข้อเรียกร้องของเวียดนามที่ต้องการให้ส่งตัว อี ควิน กลับประเทศ

“องค์กร UNHCR รับรองสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองของ อี ควิน แล้ว ดังนั้นไทยเองก็ควรต้องเชื่อฟังและพิทักษ์สิทธิของเขาเช่นกัน” เขากล่าว

เจ้าหน้าที่หลายรายจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าพบ อี ควิน ในวันที่ 7 มิถุนายน และส่งแถลงการณ์ที่ระบุว่า “ด่วนที่สุด” ไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อแสดงความประสงค์ไม่ให้เขาถูกส่งตัวกลับไปยังเวียดนาม เนื่องจาก อี ควิน ได้รับรองสถานะผู้ลี้ภัยแล้วและกำลังจะเดินทางไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ประเทศแคนาดา ซึ่งในแถลงการณ์ยังได้อ้าง พรบ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานฯ มาตรา 13 อนุสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งห้ามส่งอาชญากรข้ามแดนกลับประเทศ ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาอาจจะถูกซ้อมทรมานหรือบังคับสูญหาย

“พวกเขาตามล่าผม”

นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเผยแพร่วิดีโอที่ อี ควิน ถ่ายไว้หลายวันก่อนที่เขาจะถูกจับกุมตัว ซึ่งในวิดีโอดังกล่าว เขาได้ระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐของเวียดนาม “ตามล่าตัวผม” ตั้งแต่ปลายปี 2566 และอ้างว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยก็ได้ให้ความช่วยเหลือในการจับกุม

“ผมกลัวว่าครอบครัวและตัวผมเองจะได้รับอันตราย พวกเราจึงต้องหลบซ่อนมาเป็นเวลาถึง 6 เดือน” เขากล่าว “แต่เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ตำรวจไทยได้พบพื้นที่หลบซ่อนของเราและได้วางกำลังปิดล้อมเราตั้งแต่นั้นมา”

ในเดือนมีนาคม เรดิโอฟรีเอเชียรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยได้เข้าพบเหล่าผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามที่มาจากบริเวณที่สูงตอนกลาง และกระตุ้นให้พวกเขาเดินทางกลับบ้าน รวมถึงยังถามอีกด้วยว่า อี ควิน ซ่อนตัวอยู่ที่จุดไหน

แมรี ลอว์เลอร์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติสำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความบนสื่อโซเชียลมีเดีย 'X' เกี่ยวกับคดีของ อี ควิน ว่า 

“การที่ประเทศไทยส่งตัวนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่องค์กร UNHCR รับรองสิทธิในการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศเพื่อนบ้าน กลับไปเพื่อเผชิญกับการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมนั้นเป็นแนวโน้มที่น่ากังวล”

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหลายรายปฏิเสธที่จะพูดคุยกับเรดิโอฟรีเอเชีย

ในฐานะผู้ลี้ภัยที่ได้รับการรับรองแล้ว อี ควิน ควรจะได้รับการคุ้มครองจากองค์กร UNHCR ซึ่งบนเว็บไซต์ของ UNHCR ได้ชี้แจงกับผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในประเทศไทยว่า “UNHCR จะต่อสู้เพื่อสิทธิของคุณที่จะไม่ผลักดันการส่งกลับไปประเทศต้นทาง”

ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์สิทธิปรากฏตัวระหว่างการจับกุมหรือไม่ และ UNHCR ก็แจ้งกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า จะไม่มีการให้ความเห็นต่อปัจเจกรายใดรายหนึ่ง

“ไม่สามารถอธิบายได้”

จดหมายที่คริสโตเฟอร์ แมคลีออด ทนายความของ อี ควิน ส่งให้กับตัวแทนของ UNHCR ในประเทศแคนาดาและเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทยระบุว่า  อี ควิน ได้เดินทางไปสัมภาษณ์กับเอกอัครราชทูตแคนาดาในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2567 เพื่อขอลี้ภัยในประเทศแคนาดาเพียง 1 วัน ก่อนที่เขาจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยจับกุม

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration - IOM) ได้เคลื่อนย้ายตัวเขาไป “ยังสถานที่ที่ปลอดภัยเพื่อรอการตัดสินใจจากรัฐบาลแคนาดา ว่า อี ควิน จะได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยไปที่ประเทศดังกล่าวหรือไม่”

แมคลีออดระบุว่า “การที่เขาถูกจับกุมตัวไปในระหว่างที่ได้รับการคุ้มครองจากยูเอ็นดูเป็นเรื่องที่ไม่สามารถอธิบายได้”

ทั้งตัวแทนจาก IOM และ UNHCR จากประเทศแคนาดา ต่างไม่ตอบรับที่จะให้ความคิดเห็นในกรณีดังกล่าว

นับตั้งแต่เหตุโจมตีเมื่อปีที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามได้กล่าวหาว่า มีกลุ่มต่างชาติวางแผนอยู่เบื้องหลัง ต่อมาในเดือนมีนาคม กระทรวงความมั่นคงสาธารณะประชาชนเวียดนามได้ตีตราว่าองค์กร MSFJ ของ อี ควิน ว่าเป็นหนึ่งใน “องค์กรผู้ก่อการร้าย” ที่ช่วยวางแผนการบุกรุกโจมตี

อี ควิน ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานั้นมาโดยตลอด และในบทสัมภาษณ์กับเรดิโอฟรีเอเชียเมื่อปีที่ผ่านมา เขายืนกรานว่า เจ้าหน้าที่รัฐของเวียดนามได้ใช้เหตุการณ์บุกโจมตีเมืองดั๊กลักเพื่อใส่ร้ายเขา ด้วยจุดประสงค์ในการ “ทำให้ผมเสื่อมเสียชื่อเสียง และปิดปากผมไม่ให้ต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิมนุษยชน”

กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนได้เรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัว อี ควิน โดยอ้างว่า รัฐบาลเวียดนามไม่มีหลักฐานหนักแน่นเพียงพอที่จะดำเนินคดีกับเขา

“ข้อกล่าวหาเรื่องการก่อการร้ายที่รัฐบาลเวียดนามกล่าวหา อี ควิน นั้น ไม่มีมูลอย่างชัดเจน และเป็นหลักฐานที่กุขึ้นมา รัฐบาลไทยจะต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลักดันให้เขากลับไปยังประเทศเวียดนาม ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ” โจเซฟ เบเนดิก เจ้าหน้าที่วิจัยด้านพื้นที่สาธารณะสำหรับองค์กรภาคประชาสังคมระดับโลก (CIVICUS) ออกความเห็น

“เหตุการณ์นี้มุ่งเน้นให้เห็นถึงการกดปราบข้ามชาติที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยทางการเวียดนาม ต่อนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงผู้ที่มีความเห็นต่างที่กำลังแสวงหาที่ลี้ภัยในประเทศไทย ทำให้พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับการถูกเฝ้าติดตาม ถูกจับกุม คุกคาม และทำร้ายร่างกาย ซึ่งบ่อยครั้งด้วยความช่วยเหลือจากทางการไทย”

ฟิล โรเบิร์ตสัน ผู้อำนวยการ ศูนย์รณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนและแรงงาน กล่าวว่า นักเคลื่อนไหวอาจจะต้องเผชิญกับความรุนแรงระหว่างที่ถูกควบคุมตัว หากมีคำสั่งให้ถูกส่งกลับไปยังประเทศเวียดนาม

“รัฐบาลเวียดนามมีประวัติศาสตร์อันน่าสยดสยองมาอย่างยาวนาน ในด้านการลงโทษนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และศาสนามองตานญาดอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่ากลัว หาก อี ควิน จะต้องถูกจับกุม ซ้อมทรมานระหว่างที่ถูกควบคุมตัว และถูกจำคุกเป็นเวลานาน หากทางการไทยบังคับส่งตัวเขากลับประเทศ” เขากล่าว

เมื่อปีที่ผ่านมา ดวง วาน ไถ บล็อกเกอร์ชาวเวียดนามที่หลบหนีเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี 2561 เพื่อลี้ภัยการเมือง เนื่องจากเขาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเวียดนามและผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ด้วยการโพสต์วิดีโอและข้อความจำนวนมากบนเฟซบุ๊กและยูทูบ ถูกอุ้มหายไปจากถนน ในกรุงเทพฯ ต่อมาได้มีการเปิดเผยภายหลังว่าเขาถูกควบคุมตัวโดยทางการเวียดนามแล้ว

เช่นเดียวกับกรณีของ เจือง ซุย เญิ๊ต นักข่าวของเรดิโอฟรีเอเชีย ที่ถูกลักพาตัวจากกรุงเทพฯ ในปี 2562 และไปปรากฏตัวอยู่ในคุกที่เมืองฮานอย

อี ควิน แสดงท่าทีหวาดกลัว ในวิดีโอคลิปล่าสุดที่ตนเองถ่ายไว้

เขาวิงวอนยูเอ็น องค์กรไม่แสวงหากำไร และรัฐบาลประชาธิปไตยต่าง ๆ ให้ “ช่วยปกป้องผม อย่าปล่อยให้พวกเขาจับกุมตัวผม และส่งผมกลับไปที่เวียดนามเหมือนกับกรณีของ เจือง ซุย เญิ๊ต และ ดวง วาน ไถ”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง