ศาลสั่งประหารชีวิต ‘ผู้กำกับโจ้’ ก่อนลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต
2022.06.08
กรุงเทพฯ

ในวันพุธนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ สารวัตรโจ้ เฟอร์รารี่ พร้อมพวกรวม 6 คน ในความผิดเจตนาฆ่าผู้ต้องหายาเสพติดรายหนึ่ง ด้วยการใช้ถุงพลาสติกคลุมหัวและทรมาน แต่ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตเพราะจำเลยช่วยปฐมพยาบาลผู้ต้องหา และนำส่งโรงพยาบาล แม้จะเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ในคดีนี้ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ พร้อมพวกรวมทั้งหมด 7 คน ร่วมกันใช้ถุงดำคลุมศีรษะ นายจิระพงษ์ ธนะพัฒน์ หรือมาวิน ผู้ต้องสงสัยค้ายาเสพติด ขณะสอบสวนขยายผลเพื่อให้บอกที่ซ่อนยา จนเป็นเหตุให้นายจิระพงษ์เสียชีวิตล งในวันที่ 5 สิงหาคม 2564 โดยหลังเกิดเหตุ สื่อได้เผยแพร่คลิปภาพที่บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ และพวกหลบหนี แต่ทั้งหมดมอบตัวและถูกจับกุมในเวลาต่อมา
การอ่านคำพิพากษาในวันนี้ เป็นการอ่านคำพิพากษาผ่านระบบ Video Conference ไปยังเรือนจำคลองเปรม ที่จำเลยทั้ง 7 คน ถูกควบคุมตัวอยู่ตั้งแต่โดนจับกุมตัว
“การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1, 2, 3, 4, 5, 7 ฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ... และฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1, 2, 3, 4, 5, 7 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น (โดยเป็นเจตนาเล็งเห็นผลตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง) โดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 298(5) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ลงโทษประหารชีวิต” ศาลอ่านคำพิพากษา
อย่างไรก็ตาม ศาลได้ลดโทษให้กับจำเลยที่ 1 คือ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ และพวกอีก 5 คน เป็นจำคุกตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ 6 ถูกสั่งจำคุก 5 ปี 4 เดือน เพราะจำเลยทั้งหมดรับข้อเท็จจริงบางส่วน และนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ทั้งหลังเกิดเหตุจำเลยทั้งเจ็ดพยายามช่วยเหลือผู้ตายโดยช่วยปั๊มหัวใจผู้ตาย และรีบนำตัวผู้ตายส่งโรงพยาบาล จนแพทย์ช่วยรักษาผู้ตายมีสัญญาณชีพและหัวใจกลับมาเต้นก่อนที่ผู้ตายจะถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา
ก่อนที่ศาลจะอ่านคำพิพากษา พ.ต.อ. ธิติสรรค์ ในชุดผู้ต้องขังสีส้ม พูดผ่านไมโครโฟนร้องขอต่อศาลขอกล่าวคำแถลงขอโทษต่อทุกคน แต่ศาลไม่อนุญาตระบุว่า วันนี้เป็นวันนัดฟังคำพิพากษา จากนั้น พ.ต.อ. ธิติสรรค์ ยืนฟังคำพิพากษา มีสีหน้าเรียบเฉย และหลับตานิ่งในช่วงเวลาหนึ่ง
เรืออากาศตรี จักรกฤษณ์ กลั่นดี และนางจันจิรา ธนะพัฒน์ พ่อและแม่ของนายจิระพงษ์ ธนะพัฒน์ ผู้เสียชีวิต รวมถึงญาติของจำเลย และทนายความมาร่วมฟังคำพิพากษาที่ศาลด้วย
ระหว่างที่ศาลอ่านคำบรรยายพฤติการณ์ของจำเลยที่ใช้ถุงคลุมศีรษะ นายจิระพงษ์ ถึงเจ็ดชั้น การถูกกระทำด้วยความทรมาน ทำให้นางจันจิรา ธนะพัฒน์ มารดายืนร้องให้เช็ดน้ำตาเป็นระยะ ๆ ขณะที่ เรืออากาศตรี จักรกฤษณ์ ยืนส่ายหน้าไปมา
“พอใจคำพิพากษา... ฟังแล้วสุดจะทน การพิจารณาท่านละเอียดมากว่าลูกเราโดนอย่างไร... ช็อตที่สะเทือนใจก็ตอนใส่กุญแจมือแล้วก็ใส่กุญแจเท้าอีก โอ้โห สุดยอด” เรืออากาศตรี จักรกฤษณ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่หน้าอาคารศาล และระบุว่าจะต้องฟ้องเรียกค่าชดเชย 1.5 ล้านบาท จากหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดศาลในจังหวัดนครสวรรค์
ด้าน นางจันจิรา มารดาของนายจิระพงษ์ กล่าวทั้งน้ำตานองหน้าว่า สงสารลูกชายมาก รับไม่ได้กับพฤติกรรมที่จำเลยกระทำต่อบุตรชายตัวเองจนเสียชีวิต
“ที่จริงดูคลิปแล้วไม่คิดว่าจะถึงขนาดนี้ แต่พอฟัง (บรรยายในศาล) แล้วยิ่งกว่าคลิปอีก” นางจันจิรากล่าว “อยากให้ (จำเลย) เป็นไปตามเหมือนลูกค่ะ”
ถือเป็นคดีตัวอย่าง
ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ตนเห็นด้วยกับคำพิพากษา และหวังว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะได้ถือคดีนี้เป็นบทเรียนต่อไป
“เห็นด้วยกับคำพิพากษาค่ะ คดีนี้มีพยานหลักฐานชัดเจน หวังว่า สตช. จะถือเป็นบทเรียนสำคัญในการปรับปรุงแนวทางการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้สอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหา รวมถึงมีการสร้างมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันการทรมานโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างการจับกุมหรือควบคุมตัวประชาชน” นางอังคณา กล่าว
“นอกจากนั้น ขอเรียกร้องไปยังวุฒิสภาให้รีบเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่ผ่านสภาผู้แทนราษฏรแล้ว ทั้งนี้ขอเน้นย้ำว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจำเป็นต้องสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายขององค์การสหประชาชาติ จึงจะมีผลในการคุ้มครองประชาชนจากการทรมานและการกระทำให้สูญหายได้จริง” นางอังคณา กล่าวเพิ่มเติม
พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล ถูกควบคุมตัวออกจากกองกำกับการตำรวจปราบปราม ในกรุงเทพ หลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวการมอบตัว วันที่ 26 สิงหาคม 2564 (เอเอฟพี)
‘โจ้ เฟอร์รารี่’ เข้ามอบตัวเมื่อสิงหาคม 2564
ทั้งนี้ความผิดทั้งหมดของจำเลย ได้แก่ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล จำเลยที่ 1, พ.ต.ต. รวีโรจน์ ดิษทอง จำเลยที่ 2, ร.ต.อ. ทรงยศ คล้ายนาค จำเลยที่ 3, ร.ต.ท. ธรณินทร์ มาศวรรณา จำเลยที่ 4, ด.ต. วิสุทธิ์ บุญเขียว จำเลยที่ 5, ส.ต.ต. ปวีณ์กร คำมาเร็ว จำเลยที่ 7, มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 289 (5) มีเจตนาฆ่าผู้อื่นโดยเล็งเห็นผล โดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย, มาตรา 309 วรรค 2, พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83
ขณะที่ ด.ต. ศุภากร นิ่มชื่น จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 309 วรรค2, พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
เมื่อ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ ได้มอบตัวกับผู้บังคับบัญชาในปลายเดือนสิงหาคม 2564 ได้เปิดเผยแก่สื่อมวลชนผ่านโทรศัพท์ระหว่างการแถลงข่าวว่า ตนตัดสินใจเข้ามอบตัว เพื่อรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
“ผมยอมรับว่าสิ่งที่กระทำไปไม่ถูกต้อง ผมสั่งลูกน้องให้ทำเอง ผมทำเพื่อต้องการทำงาน เรื่องเงินไม่มี… ชีวิตผมรับราชการมาไม่เคยมีทุจริตเรื่องเงิน” พ.ต.อ. ธิติสรรค์ กล่าว
สารวัตโจ้ จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 41 และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 57 บรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งรองสารวัตร เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2547
ในระหว่างที่รับราชการในจังหวัดนราธิวาส ในปี พ.ศ. 2554 ถึง 2560 พ.ต.อ. ธิติสรรค์ จับกุมรถยนต์นำเข้าผิดกฎหมายถึง 368 คัน ซึ่งนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจับกุมแต่ละคันจะได้รับส่วนแบ่งรางวัลนำจับประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์ โดยกรมศุลกากรได้นำรถ 363 คัน ออกประมูลได้เงินถึงหนึ่งพันล้านบาท แต่ไม่ได้ระบุถึงสินบนนำจับที่สารวัตรโจ้ได้รับ
พ.ต.อ. ธิติสรรค์เอง ชื่นชอบรถยนต์สปอร์ตราคาแพง และมีไว้ครอบครองอย่างน้อย 29 คัน จนเป็นที่มาของฉายา ‘โจ้ เฟอร์รารี่’