ทหารเชื่อระเบิดที่เทพา ไม่เกี่ยวประเด็นโรงไฟฟ้า

เหตุระเบิดใกล้โรงไฟฟ้าชีวมวลเทพา เจ้าหน้าที่บาดเจ็บอย่างน้อย 10 นาย
มารียัม อัฮหมัด
2024.07.24
ปัตตานี
ทหารเชื่อระเบิดที่เทพา ไม่เกี่ยวประเด็นโรงไฟฟ้า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เทพา เข้าทำการควบคุมพื้นที่เกิดเหตุและปิดกั้นการจราจร หลังเกิดเหตุระเบิดใกล้โรงไฟฟ้าชีวมวลเทพา วันที่ 23 กรกฎาคม 2567
สถานีตำรวจภูธรเทพา

นับเป็นเหตุการณ์รุนแรงอย่างต่อเนื่องในจังหวัดชายแดนใต้ ในห้วงสามวันนับตั้งแต่คืนวันจันทร์จนถึงวันพุธนี้ ได้มีการลอบวางระเบิดอย่างน้อย 4 ครั้ง ในปัตตานีและสงขลา ทำให้มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บร่วม 11 นาย

โดยหนึ่งในเหตุการณ์ลอบวางระเบิด ที่มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บร่วม 4 นาย เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารเชื่อว่า เหตุระเบิดที่ อ.เทพา จ.สงขลา ใกล้โรงไฟฟ้าชีวมวล ไม่น่ามีแรงจูงใจมาจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เป็นเพียงการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบเพื่อโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ 

“เหตุที่เกิดขึ้นไม่ได้มีปัจจัยอื่น ๆ หนุนเสริมจากเดิมเลย เพียงแค่โอกาสและจังหวะมีก็สามารถก่อเหตุได้ อย่างเหตุที่หนองจิกเป็นการวางแบบเร่งด่วน ส่วนที่เทพา มีการวางแผนล่วงหน้า แต่ไม่ได้ล็อกว่าเป็นใคร แค่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ โอกาสมีจังหวะพร้อมเขาก็ทำ” พ.อ. เอกวริทธิ์ ชอบชูผล โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุ

การเปิดเผยครั้งนี้สืบเนื่องจาก ในเวลาประมาณ 09.35 น. คนร้ายใช้ระเบิดแสวงเครื่องโจมตีรถยนต์สายตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เทพา บนถนนท่าฤดี-เกาะสะบ้า พื้นที่ บ.บ่อน้ำส้ม ต.เกาะสะบ้า อ.เทพา ห่างจากโรงไฟฟ้าชีวมวลเทพา ประมาณ 300 เมตร เป็นเหตุให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย และเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 4 นาย 

“ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับต่อต้านโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือก่อเหตุกระทบชิ่งโรงไฟฟ้ามวล เพราะกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่ สนับสนุนและไม่ต่อต้าน จึงคาดว่า การก่อเหตุมุ่งเป้าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เทพา เพียงแค่จุดเกิดเหตุอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าชีวมวลเท่านั้น” เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ระบุ

ขณะเดียวกัน พ.ต.อ. จารุวิทย์ วงศ์ชัยกิตติพร รองผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เชื่อว่า เหตุที่เกิดขึ้นเป็นยุทธศาสตร์การต่อสู้ของกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบ

“มันคือเกมหรือยุทธศาสตร์การต่อสู้ ที่มีเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบกับปัจจัยเชิงบริบทที่มีความเกี่ยวข้องบางประการ เป็นการหนุนเสริม การเคลื่อนไหวทั้งทางการเมืองและกองกำลัง” พ.ต.อ. จารุวิทย์ กล่าว

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บประกอบด้วย 1. ร.ต.อ. ณัฐปคัลภ์ นิลกาฬ รองสารวัตรปราบปราม และหัวหน้าชุด 2. ร.ต.ท. ไชยสิทธิ์ แก้วเกาะสะบ้า 3. ด.ต. วัชรินทร์ กายรัตน์ และ 4. จ.ส.ต. ณัฐฆวัฒน์ โดยทั้งหมดได้ถูกนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลเทพา 

ทั้งนี้ ในเวลาประมาณ 16.30 น. ของวันอังคาร ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เทพา และเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ระเบิด ทำการปิดกั้น และตรวจสอบที่เกิดเหตุ ได้ตรวจพบสายไฟฟ้า และกล่องวงจรที่เชื่อว่าเป็นส่วนประกอบของระเบิด จึงได้พยายามนำหลักฐานดังกล่าวออกมา แต่เกิดเหตุระเบิดขึ้นอีกครั้งห่างจากจุดเดิม 20 เมตร อย่างไรก็ตาม ไม่มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น ผศ.ดร. อันวาร์ กอมะ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า เหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอาจเพราะฝ่ายความมั่นคงเปิดพื้นที่การพูดคุยให้ชาวบ้านน้อยเกินไป

“ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นทั้งรายวัน และรายสัปดาห์ ส่วนใหญ่น่าจะเป็นความพยายามที่ต้องการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่รัฐว่า ผู้ปฏิบัติการไม่เห็นด้วยในกรณีต่าง ๆ แต่เราก็ไม่สามารถทราบได้ว่า กรณีนี้เขาต้องการสื่อสารอะไร แต่โดยหลักแล้วเหตุที่เกิดขึ้นนั้น เพราะว่ามันไม่มีพื้นที่ทางการเมืองที่ปลอดภัยพอ ซึ่งสำหรับประเด็นโรงไฟฟ้าก็เชื่อว่าอาจไม่เกี่ยวข้อง เพราะน่าจะยังพอมีพื้นที่ในการพูดคุยอยู่” ผศ.ดร. อันวาร์ กล่าว

ล่าสุดในวันพุธนี้ ได้เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรบ้านโสร่ง โดยเหตุเกิดขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางด้วยรถยนต์กระบะ รถเคลื่อนย้ายผู้ต้องหา เพื่อเดินทางไปส่งผู้ต้องหายังศาลจังหวัดปัตตานี 

พ.ต.อ. มุสตอพา มะนิ ผกก.สภ.บ้านโสร่ง ระบุว่า ระหว่างเดินทางกลับอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี คนร้ายได้จุดชนวนระเบิดขึ้น แรงระเบิดทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ จำนวน 1 นาย ได้นำตัวส่งเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลยะลาสิริรัตนรักษ์

ก่อนหน้านั้นในเวลาประมาณ 22.00 น. ของวันจันทร์ ก็เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดโจมตีรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ บนทางหลวงหมายเลข 43 พื้นที่บ้านใหม่ทุ่งนเรนท์ หมู่ที่ 9 ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี แรงระเบิดทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 6 นาย โดยทั้งหมดถูกนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลปัตตานี 

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547-2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 22,200 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,540 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย

ขณะที่เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2567 รัฐบาลมาเลเซียเพิ่งประกาศแต่งตั้งให้ ดาโต๊ะ ฮาจิ มอฮ์ด ราบิน บินบาเซอร์ (Datuk Mohd Rabin Bin Basir) ทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย แทน พล.อ. ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกคนเก่า 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง