ปอเนาะในโมงยามแห่งความท้าทายของชายแดนใต้
2025.03.28
ปัตตานี

ในการเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ แพทองธาร ชินวัตร เมื่อ ม.ค. 2568 เธอเลือกที่จะเดินทางเยือน ร.ร. ธรรมวิทยามูลนิธิ สถานที่เดียวกับที่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว บิดาของเธอ ทักษิณ ชินวัตร เลือกเดินทางเยือนในฐานะนายกรัฐมนตรี
การมาเยือนดังกล่าว สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างโรงเรียนปอเนาะในฐานะโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามตามแบบฉบับ กับรัฐไทยที่สอดส่องด้วยสายตาหวาดระแวงว่าโรงเรียนปอเนาะจะเป็นแหล่งบ่มเพาะแนวคิดแบ่งแยกดินแดน
สถาบันการศึกษาที่มีอายุหลายศตวรรษเหล่านี้ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 400 ปี ต้องเผชิญกับความท้าทายต่อการดำรงอยู่ ท่ามกลางความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ที่ปะทุขึ้นกว่าสองทศวรรษก่อน และได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 7,000 ราย
“ปอเนาะ” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า Pondok (ปอนด็อก) ในภาษาอาหรับที่แปลว่า “ที่พัก” หรือ “กระท่อม” ซึ่งแต่เดิมสถาบันปอเนาะ มักใช้กระท่อมเป็นสถานที่ในการให้ความรู้แก่นักเรียนที่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลามเพิ่มเติมจากการเรียนการสอนแบบสามัญ

“การเรียนปอเนาะคือ การเรียนรู้ทางศาสนา การขัดเกลาจิตวิญญาณ ทั้งเรื่องพื้นฐานของการเป็นมนุษย์เป็นบ่าวที่ดีของพระเจ้า และความพยายามที่จะแสวงหาความรู้ที่ลุ่มลึกในขั้นต่อไปตามทัศนะของอิสลาม การเป็นคนดีตระหนักในความรับผิดชอบ และกฎเกณฑ์ทางศาสนาไม่ว่าจะทำงานในวิชาชีพใดก็ตาม” อาบูซูเฟียน สาและ ครูสอนศาสนา วัย 32 ปี ใน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี กล่าว
ผศ.ดร. หะสัน หมัดหมาน อดีตผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาส ได้นิยามปอเนาะว่า เป็นแหล่งสอนศาสนาที่ชาวมุสลิมจัดตั้ง หากเปรียบเทียบคล้ายกับระบบการสอนพระสงฆ์ในศาสนาพุทธ
“เป็นการศึกษาค้นคว้าหลักศาสนาที่พยายามปลีกตัวออกห่างจากสังคมอันสับสน มีบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิทางศาสนาอิสลามเป็นผู้สร้างขึ้น ถูกเรียกว่า โต๊ะครู โดยทำการอบรมสั่งสอน เผยแพร่ศาสนาเพื่อผลบุญในปรภพ และเกียรตินิยมจากการยอมรับของสังคมมุสลิม” ผศ.ดร. หะสัน กล่าว
โรงเรียน หรือสถาบันปอเนาะ เป็นสถานที่สอนศาสนาอิสลามโดยใช้รูปแบบการสอนดั้งเดิม นั่งพื้น นุ่งโสร่ง หรือโต๊ป สอนด้วยภาษามลายูและอาหรับ ใช้อักษรยาวี ผู้สอนคือ โต๊ะครู
โต๊ะปาเก หรือนักเรียน มักมีอายุตั้งแต่ 15 ปี จนถึงวัยชรา ไม่มีการจำกัดอายุ การเรียนการสอนมักไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่สามารถบริจาคเงินเพื่อบำรุงการศึกษาได้ วิชาที่สอนไม่ตายตัว แต่มักประกอบด้วยวิชาที่จำเป็นในหลักศาสนาอิสลาม เช่น การอ่านอัลกุรอาน, ไวยากรณ์อาหรับ, นิติศาสตร์อิสลาม และการจัดการมรดก เป็นต้น
ปอเนาะกับความมั่นคง
เมื่อมาถึงสมัยที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ปี 2481-2487 ท่านผู้นำได้เริ่มแนวทางชาตินิยม โดยออก พ.ร.บ. วัธนธัมแห่งชาติ (วิธีสะกดแบบ จอมพล ป.) ห้ามไม่ให้คนมลายูมุสลิมแต่งกาย ตั้งชื่อ และพูดภาษามลายู สร้างความอึดอัดให้แก่คนมลายูมุสลิม

ต่อมาปี 2490 หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา ซึ่งจบการศึกษาด้านศาสนาอิสลามจาก นครเมกกะ ได้ส่งข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ต่อรัฐบาล มีข้อหนึ่งระบุว่า “ให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษากลางของการสอน ในโรงเรียนชั้นประถมศึกษา”
การเรียกร้องครั้งนี้มีส่วนทำให้ หะยีสุหลง ถูกจับกุมตัวด้วยข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดน และต่อมาวันที่ 13 ส.ค. 2497 เขากลายเป็นบุคคลสาบสูญไป หลังจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตัวไปพบ
ในเวลาไล่เลี่ยกัน รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ. โรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2497 ทำให้โรงเรียนเอกชนต้องปฏิบัติตามกติกาที่รัฐบาลกำหนด ปอเนาะต้องปรับให้ตัวเองเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม
“ในหลักอิสลามแล้วการเรียนรู้ศาสนาเป็นสิ่งที่จำเป็น โต๊ะครูกลายเป็นคนที่มีบทบาทมากที่สุด ชาวบ้านซื้อที่ดินให้ทำปอเนาะ แล้วเชิญท่านมาสอน รัฐบาลเริ่มให้ปอเนาะจดทะเบียน เพื่อให้มีระบบ จนปี 2517 ปอเนาะ 80% ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จดทะเบียนเป็นโรงเรียนราษฎรสอนศาสนา” ไพศาล อาแซ นายกสมาคมการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความพยายามในการหยุดยิงช่วงรอมฎอนล้มเหลว ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
นักสิทธิ-ฝ่ายค้านชี้ ชายแดนใต้รุนแรงขึ้น เพราะนโยบายสันติภาพไม่ชัดเจน
กอ.รมน. อ้างคุมตัว นักข่าววาร์ตานี เพราะโพสต์ข้อมูลเท็จ
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยสถาบันปอเนาะ พ.ศ. 2547 กำหนดให้ ปอเนาะทุกแห่งต้องจดทะเบียนกับรัฐ
ในปีเดียวกันนั้น เกิดเหตุการณ์ที่คนร้ายบุกเผาโรงเรียนและปล้นปืน จากคลังแสงของกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) จ.นราธิวาส ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่
ปลายปี 2547 ยูโซะ แวดือราแม, อับดุลรอซะ หะยีดอเลาะ, อาหามะ บูละ และมูฮัมหมัดฮานาฟี ดอเลาะ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นครูของโรงเรียนในเครือโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ อ.เมือง จ.ยะลา ถูกออกหมายจับในฐานะผู้ร่วมขบวนการก่อความไม่สงบ

ร.ร. ธรรมวิทยามูลนิธิ ซึ่งก่อตั้งในปี 2494 แต่เดิมมีสถานะเป็นปอเนาะ สอนศาสนาเพียงอย่างเดียว ต่อมาปรับสถานะเป็นโรงเรียนเอกชนในปี 2508 และภายใต้การบริหารงานของ สะแปอิง บาซอ ทำให้โรงเรียนแห่งนี้ขยายจนมีนักเรียนหลายพันคน
อย่างไรก็ตาม ปี 2547 สแปอิง ถูกออกหมายจับโดยฝ่ายความมั่นคง เพราะเชื่อว่าเขาคือ แกนนำและมันสมองของ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani-BRN) และปี 2548 ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้มีการเสนอให้ยุบโรงเรียนปอเนาะที่สอนศาสนาเพียงอย่างเดียว
“ให้บรรจุการสอนวิชาสามัญเป็นภาษาไทยควบคู่ไปกับวิชาศาสนา เพราะเยาวชนที่ไม่รู้วิชาสามัญ ทำให้ไม่สามารถศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้” นพ. วิชัย ชัยจิตวณิชกุล สส. อุดรธานี พรรคไทยรักไทย ในฐานะผู้รับผิดชอบแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ระบุ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) ระบุว่า ในปี 2548 มีโรงเรียนปอเนาะ 550 แห่ง ในนั้น 300 แห่ง เป็นปอเนาะที่สอนเฉพาะศาสนาอย่างเดียว ที่เหลือเป็นโรงเรียนที่สอนทั้งวิชาสามัญและศาสนา
ความท้าทาย และความอยู่รอด
ตั้งแต่ปี 2547 โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามถูกฝ่ายความมั่นคงมองว่าเกี่ยวข้องกับความไม่สงบมาตลอด และหลายครั้งนับไปสู่การบุกค้น เช่น เม.ย. 2554 เจ้าหน้าที่อ้างว่าพบปุ๋ยยูเรีย และถังแก๊สปิกนิก ซึ่งอาจใช้เป็นส่วนประกอบของระเบิดแสวงเครื่องใน ร.ร. มะอาหัดอิสลามียะห์ อ.รามัน จ.ยะลา

เมษายน 2555 โรงเรียนปอเนาะ ใน ต.พ่อมิ่ง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ถูกบุกค้นและพบหลักฐานในลักษณะเดียวกัน และ พ.ย. 2555 ร.ร. อัลยามีอะห์อิสลามียะห์ (ปอเนาะบางมะรวด) อ.ปะนาเระ ถูกบุกค้นเพราะเชื่อว่าให้ที่พักพิงกับ ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีความมั่นคง นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของสิ่งที่ ร.ร. ปอเนาะต้องเผชิญ
“ความท้าทาย คือ ปอเนาะถูกมองว่าเป็นเบ้าหลอมสำคัญของแนวคิดการต่อสู้ของชาวมลายูที่สำคัญจากฝ่ายความมั่นคง รัฐพยายามกำกับดูแล กำกับวิถีวัฒนธรรมการศึกษา เช่น ปอเนาะต้องมีใบอนุญาต หรือบูรณาการหลักสูตรอื่นเข้ามากับปอเนาะ” อาบูซูเฟียน กล่าว
นอกจากความท้าทายจากฝ่ายความมั่นคงแล้ว ความท้าทายด้านอื่นก็มีเช่นกัน
“เด็กปอเนาะน้อยลงจากเดิมมากพอสมควร เด็กที่จบประถม 10 คน จะต่อปอเนาะแค่ 1 คน ที่เหลือเลือกไปเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา เพราะปัจจุบันมีตัวเลือกมากขึ้น แต่ความสำคัญของปอเนาะคือการทำหน้าที่คอยเป็นทางเลือกของการศึกษาสำหรับเด็ก ๆ ที่ร่วงหล่นจากระบบการศึกษาจากความยากจน หรือปัญหาอื่น ๆ” อาบูซูเฟียน ระบุ
ปัจจุบัน ปอเนาะ ยังเป็นทางเลือกสำหรับครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี เพราะส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายไม่แพง หรือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น รุสลี ให้ข้อมูลว่า เขาเสียค่าธรรมเนียมเข้าพักในปอเนาะแค่เพียง 1,500 บาท โดยเป็นการจ่ายครั้งเดียว ที่เหลือใช้เงินอีกเพียงสัปดาห์ละ 200 บาท สำหรับค่าอาหารและค่าไฟฟ้า

“วันหนึ่ง ลูกกลับมาบ้านแล้วขอเรียนปอเนาะ ในฐานะแม่ก็ดีใจ และพร้อมส่งเสริมให้เรียนทางศาสนาเพื่อเป็นเสบียงการเดินทางในโลกหน้า ปอเนาะมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ค่าสมัครแรกเริ่มแค่ค่าซื้อตำราประมาณ 3,000 กว่าบาท ส่วนที่พักบาบอให้อยู่ฟรี ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แค่สัปดาห์ละประมาณ 300 บาท” ซากียะห์ มะดาบู อายุ 40 ปี ผู้ปกครองของนักเรียนปอเนาะ กล่าว
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่า ปัจจุบัน มี ร.ร. ปอเนาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 402 แห่ง และมีนักเรียนประมาณ 3.5 หมื่นคน ซึ่งนับว่าลดลงจากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว อย่างมีนัยสำคัญ
“กว่าที่รัฐจะเข้าใจสังคมอัตลักษณ์วัฒนธรรมล้วนต้องใช้เวลาและมีราคาที่ต้องจ่าย หวังว่าสังคมเราจะไม่กลับไปสู่ความขัดแย้งในลักษณะนั้น” รุสลี ทิ้งท้าย