กอ.รมน. อ้างคุมตัว นักข่าววาร์ตานี เพราะโพสต์ข้อมูลเท็จ
2025.02.19
ปัตตานี และ กรุงเทพฯ

พ.อ. เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า อ้างว่า นายอับดุลอาฟิร เซ็ง ผู้สื่อข่าวอาสาสมัคร ของสำนักข่าววาร์ตานี (Wartani) ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2568 เพราะโพสต์ข้อมูลเป็นเท็จ จึงต้องคุมตัวไปสอบถามก่อนให้ตำรวจดำเนินคดี ม. 116 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ
“พบข้อมูลจากสื่อออนไลน์ว่า นายอับดุลอาฟิรโพสต์ข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง กรณีเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย และยิงปะทะกับคนร้ายในพื้นที่ บ.คลองช้าง ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี (1 ส.ค. 2567) เป็นข้อมูลที่กล่าวให้ร้ายเจ้าหน้าที่ ปลุกปั่นให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกแตกแยก และเกลียดชังต่อเจ้าหน้าที่” พ.อ. เกียรติศักดิ์ กล่าว
นายอับดุลอาฟิร เป็นผู้สื่อข่าวอาสาสมัครของวาร์ตานี รวมถึงพิธีกรในเวทีเสวนา และกิจกรรมการเมืองต่าง ๆ ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวจากบ้านพักในพื้นที่ ม.5 ต.ท่าเรือ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 11 ก.พ. 2568 และถูกนำตัวไปที่ ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ในวันเดียวกัน
“พฤติกรรมของนายอับดุลอาฟิร อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายฐานยุยงปลุกปั่น และนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง และสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน ก่อนปล่อยตัวนายอับดุลอาฟิร แต่ตำรวจ สภ.โคกโพธิ์ ได้อายัดตัวตามหมายจับศาลจังหวัดปัตตานี” พ.อ. เกียรติศักดิ์ กล่าว
หลังจากถูกควบคุมตัวใน ค่ายอิงคยุทธบริหาร 7 วัน นายอับดุลอาฟิร ได้รับการปล่อยตัวในเวลา 15.30 น. ของวันที่ 18 ก.พ. 2568 และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. โคกโพธิ์ อายัดตัวและแจ้งข้อกล่าวหา ม. 116 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ทันทีโดยได้ขออำนาจศาลฝากขังด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
องค์กรสิทธิ และสำนักข่าวท้องถิ่นเรียกร้องปล่อยตัวผู้สื่อข่าววาร์ตานี ไม่มีเงื่อนไข
ไทยพีบีเอส-สมาคมนักข่าวฯ ร้องสภาสอบ ประวิตร กรณีตบหัวนักข่าว
วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก : นักข่าวไทยยังถูกปิดปาก และต้องการเสรีภาพ
อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของ นายอับดุลอาฟิร ได้ยื่นประกันตัวในชั้นสอบสวนด้วยเงิน 70,000 บาท จากกองทุน Tabung Keadilan ซึ่งเป็นกองทุนช่วยเหลือทางกฎหมายเพื่อสนับสนุนผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งศาลอนุญาตให้ประกันตัว
ปัจจุบัน พื้นที่ชายแดนภาคใต้ อยู่ภายใต้การบังคับใช้ พ.ร.บ. กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ต้องมีหมายจับภายใน 7 วัน ซึ่งองค์กรสิทธิมนุษยชนเคยเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษเหล่านี้เช่นกัน
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา มีนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างน้อย 40 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาคดีอาญา ขณะเดียวกันในบางคดี ผู้ฟ้องคือ พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เอง
การคุมตัวนายอับดุลอาฟิร ทำให้เกิดการเรียกร้องจากภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้รัฐทบทวนกฎหมายพิเศษ และคุ้มครองเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้
“การมีสื่อท้องถิ่นอย่างวาร์ตานี เป็นการช่วยสื่อสารเสียงของชาวบ้านให้กับคนพื้นที่อื่นเข้าใจ ซึ่งนับว่ามีส่วนสำคัญในการดำเนินกระบวนการสันติภาพที่นี่ การคุกคาม หรือปิดกั้นสื่อ หรือนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวโดยสันตินอกจากจะกระทบต่อสิทธิมนุษยชน เสรีภาพการแสดงออกแล้ว ยังกระทบต่อกระบวนการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ด้วย” น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์