วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก : นักข่าวไทยยังถูกปิดปาก และต้องการเสรีภาพ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.05.03
กรุงเทพฯ
วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก : นักข่าวไทยยังถูกปิดปาก และต้องการเสรีภาพ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพอิสระ หนึ่งในสื่อมวลชนที่ถูกจับกุมจากเหตุไปทำข่าวนักกิจกรรมพ่นสีกำแพงวัง เมื่อเดือนมีนาคมปี 2566 นั่งอยู่ในรถตู้ตำรวจขณะรอส่งศาลที่ สน.ทุ่งสองห้อง วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567
ธนัญชัย แก้วโสวัฒนะ / เอพี

นักข่าว และนักสิทธิมนุษยชน เปิดเผยในงานเสวนา “สถานการณ์เสรีภาพสื่อหลังระบอบ คสช. และก้าวต่อไปเพื่อการปกป้องคุ้มครอง” เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคมว่า ปัจจุบัน สถานการณ์เสรีภาพสื่อในประเทศไทยยังคงน่าเป็นห่วง นักข่าวยังคงถูกคุกคาม ขณะที่สื่อมวลชนเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายเพื่อเพิ่มเสรีภาพในการนำเสนอข่าว และองค์กรสื่อต้องร่วมปกป้องกันเอง

น.ส. อเลกซานดรา บีลาคอฟสกา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสาร องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders-RWB) ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก เปิดเผยว่า ภาพรวมสถานการณ์สื่อมวลชนทั่วโลกยังน่าเป็นห่วง

“สถานการณ์เสรีภาพสื่อปีนี้นั้นน่าเศร้า เพราะสถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น เสรีภาพในการทำข่าวน้อยลง โดยเฉพาะในเอเชีย-แปซิฟิค ยังคงพบการคุกคามนักข่าวทั่วโลก มีนักข่าวกว่า 200 คนยังถูกคุกคาม และถูกทำร้ายร่างกาย โดยเฉพาะการทำข่าวเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยในเอเชีย และละตินอเมริกา เป็นพื้นที่ที่มีความอันตรายมากที่สุดในการทำข่าว เราได้แต่หวังว่าปีหน้าสถานการณ์จะดีขึ้น” น.ส. อเลกซานดรา กล่าว

รายงานของนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders-RWB) ปี 2567 ระบุว่า สถานการณ์เสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลกโดยเฉลี่ยลดลง 7.6 คะแนน โดยประเทศที่มีเสรีภาพสื่อมากที่สุดคือ นอร์เวย์ ได้คะแนน 91.89 จากคะแนนเต็ม 100 รองลงมาคือ เดนมาร์ก และสวีเดน 

ขณะที่ ประเทศไทยช่วงปีที่ผ่านมาไม่มีข้อมูลนักข่าวถูกคุมขัง หรือเสียชีวิต ได้คะแนน 58.12 ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 87 จาก 180 ประเทศที่ถูกจัดอันดับ นับว่าดีขึ้นจากอันดับ 106 เมื่อปี 2566 โดยในปี 2547 ไทยเคยอยู่สูงถึงอันดับ 59 จาก 167 ประเทศที่ถูกจัดอันดับ

อย่างไรก็ตาม น.ส. อันนา หล่อวัฒนตระกูล บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท ภาคภาษาอังกฤษ ในฐานะผู้ประสานงานโครงการเฝ้าระวังเสรีภาพสื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Press Freedom Monitoring in Southeast Asia-PFMSea) เปิดเผยว่า ยังพบการคุกคามสื่อมวลชนในประเทศไทยโดยเฉพาะการฟ้องร้องดำเนินคดี

“ประเทศไทย ตอนนี้มี 46 เหตุที่เกิดขึ้น หลาย ๆ เคส มีการฟ้องคดี และการทำร้ายสื่ออิสระระหว่างการถ่ายทอดสด พบว่า เกือบครึ่งของกรณีที่เราบันทึกเอาไว้เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะตำรวจ ทหารหรือองค์กรของรัฐ มีการคุกคามทางกาย ดิจิทัล โดย 60 เปอร์เซ็นต์เป็นการคุกคามทางกาย” น.ส. อันนา กล่าว

ฟ้องร้องคดีปิดปากสื่อ

นายฐิติพันธ์ พัฒนมงคล จากนิตยสารสารคดี และประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ระบุว่า การฟ้องคดีปิดปาก(Strategic Litigation Against Public Participation-SLAPP) เป็นรูปแบบหนึ่งที่ใช้คุกคามสื่อมวลชนโดยเฉพาะ สื่อมวลชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม

“ธรรมชาติของนักข่าวสิ่งแวดล้อมเราต้องวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ แล้วก็กลุ่มทุน ต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาขนาดใหญ่ ไม่ว่าเรื่องเหมือง เรื่องเขื่อน เรื่องโรงไฟฟ้า การลักลอบทิ้งกากของเสีย ขยะอุตสาหกรรม การบุกรุกพื้นที่ป่า เพราะฉะนั้นมันเลยเสี่ยง เพราะการนำเสนอข่าวแต่ละครั้งต้องมีผู้เสียผลประโยชน์มหาศาล” นายฐิติพันธ์ กล่าว

000_9KM6JB.jpg
อันตรายจากการถูกลูกหลง ถูกทำร้าย หรือถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนระหว่างการประท้วง ถิอเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่สื่อมวลชนต้องเผชิญระหว่างการปฏิบัติงานที่ส่งผลคุกคามต่อเสรีภาพในการรายงานข่าว ดังเช่นการประท้วงในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ วันที่ 7 สิงหาคม 2564 (ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี)

ด้าน น.ส. สัณหวรรณ ศรีสด จากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) ระบุว่า การ SLAPP เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการคุกคามสื่อมวลชน

“เท่าที่เก็บข้อมูล SLAPP มักเกิดหลังจากโดนคุกคามอย่างอื่นไปแล้ว เช่น โดนข่มขู่ไปแล้ว โทรมาเตือนแล้ว แปลว่า ผู้สื่อข่าวคนนึงเขาไม่ได้โดนคุกคามแบบเดียว การ SLAPP เกิดขึ้นได้เพราะกฎหมายเปิดช่อง ประเทศไทยมีกฎหมายหลายตัว ที่ถูกเอามาใช้มากที่สุดก็พวกกฎหมายอาญา หมิ่นประมาท ทั้งหลาย รวมถึงความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เช่น ผู้สื่อข่าวเข้าไปในพื้นที่ทำคดีออกมาโดนฟ้องบุกรุก ลักขโมย” น.ส. สัณหวรรณ กล่าว

เช่นเดียวกัน น.ส. ภคมน หนุนอนันต์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า หลายครั้งสื่อก็ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยองค์กรของตนเองเช่นกัน

“ต้องยอมรับว่า แรงงานสื่อมวลชนเขาไม่สามารถที่จะต่อสู้กับสิ่งนี้ได้โดยลำพังหากองค์กรไม่เอาด้วย เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาลุกขึ้นเพื่อต่อสู้สิ่งนี้ สิ่งที่จะตามมา คือ ผลกำไรขององค์กร การคงอยู่ขององค์กร แน่นอนสิ่งที่จะต้องตกไปคือเสรีภาพของคนทำงานที่จะต้องตกไป เมื่อเทียบกับกำไรขององค์กร” น.ส. ภคมน กล่าว

ต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น นายฐิติพันธ์ ชี้ว่า องค์กรสื่อมวลชนควรแสดงความเข้มแข็งในการนำเสนอข่าวประเด็นที่สำคัญพร้อมกันซึ่งอาจช่วยเป็นเกราะป้องกันการถูกฟ้องร้องได้

“วงการสื่อทั้งหมดต้องช่วยกันทั้งองคาพยพ ยังเชื่อว่า ถ้ารายงานแค่สื่อเดียว สำนักเดียวมีความสุ่มเสี่ยงที่จะโดนฟ้องร้อง แต่ถ้ากรณีที่เป็นข่าวสุ่มเสี่ยง ลงพร้อม ๆ กันหลายสื่อ เนื้อหาหลากหลายแตกต่างกันไป ผมว่ามีผลกับการฟ้องร้อง ยกตัวอย่างเช่น คดีที่สื่อถูกฟ้องร้องคดีหนึ่ง ศาลยกฟ้อง โดยในคำพิพากษาระบุว่า เพราะเป็นข่าวที่เป็นคดีสื่ออื่น ๆ ก็ลงเหมือนกัน” นายฐิติพันธ์ กล่าว

ขณะที่ น.ส. สัณหวรรณ ชี้ว่า กฎหมายของไทยหลายข้อยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลจึงควรแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดสื่อมวลชน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง