ไทยพีบีเอส-สมาคมนักข่าวฯ ร้องสภาสอบ ประวิตร กรณีตบหัวนักข่าว
2024.08.21
กรุงเทพฯ

ตัวแทน สำนักข่าวไทยพีบีเอส, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เข้ายื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ตรวจสอบจริยธรรมของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส. บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ กรณีการตบศีรษะผู้สื่อข่าวหญิงของไทยพีบีเอส วันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา
“เรื่องนี้เราจะนิ่งนอนใจไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องยื่นหนังสือเพื่อให้มีการตรวจสอบจริยธรรมของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ได้ทำร้ายนักข่าว แล้วก็มีการทำที่ผิดจริยธรรมที่เราไม่สามารถที่จะรับได้ ในฐานะที่เป็นองค์กรสื่อสาธารณะที่เราจะต้องปกป้องรักษา คุ้มครองสิทธิของผู้สื่อข่าวเราก็จำเป็นต้องยื่นสอบเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการทำงานของสื่อ การทำงานแล้วมีการข่มขู่ ทำร้าย มันอาจจะลิดรอนสิทธิของสื่อ” นายนพดล ศรีหทัย บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว ไทยพีบีเอส กล่าว
การยื่นหนังสือถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธนี้ สืบเนื่องจากกรณีที่ น.ส. ดวงทิพย์ เยี่ยมภพ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยพีบีเอส ถูก พล.อ. ประวิตร ใช้มือตบศีรษะ หลังจากพยายามสอบถาม พล.อ. ประวิตร ว่าได้ติดตามดูการเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมหรือไม่
เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นที่ สำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย โดยในวันดังกล่าว พล.อ. ประวิตร แสดงท่าทีโกรธ และไม่ตอบคำถามผู้สื่อข่าว เพียงถามกลับว่า “อะไร ถามอะไร”
“เรามองว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นไม่น่าเป็นการหยอกล้อ แล้วถ้าวิญญูชนได้เห็นภาพในหลายๆมุมแล้ว ก็น่าจะมีคำตอบอยู่ในใจว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการล้อเล่นหยอกล้อหรืออะไร” นายอิทธิพันธ์ บัวทอง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าว
หลังเกิดเหตุดังกล่าวในวันที่ 16 สิงหาคม พล.อ. ณัฐ อินทรเจริญ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิด พล.อ. ประวิตร ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า พล.อ. ประวิตร ได้โทรศัพท์พูดคุยกับผู้สื่อข่าวรายดังกล่าวแล้ว และอ้างว่า ไม่ได้ตั้งใจจะทำร้ายร่างกาย เป็นเพียงการหยอกล้อเพราะรู้สึกคุ้นเคยกัน
ขณะที่ นายสุปัน รักเชื้อ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ยืนยันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการคุกคามสื่อมวลชน
“เราเห็นว่าการกระทำแบบนี้ เป็นการแสดงออกถึงพฤติกรรมเกรี้ยวกราดแล้วก็คุกคามสื่อ นี่ไม่ใช่พฤติกรรมครั้งแรกของนักการเมืองท่านนี้ ก่อนหน้านี้เคยมีการดูหมิ่นดูแคลนเพื่อนร่วมอาชีพเรา เมื่อตอนที่สื่อมวลชนเคยไปถาม เขาก็ถามกลับมาว่า พวกคุณจบสถาบันไหน เราจึงยื่นตรวจสอบทางจริยธรรม และยืนยันว่า เราทำหน้าที่ของเรา” นายสุปัน ระบุ
การยื่นหนังสือครั้งนี้มี นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้แทนรับหนังสือ แต่ไม่ได้มีการให้ความเห็น หรือให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด
พล.อ. ประวิตร สส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ปัจจุบัน อายุ 78 ปี เคยเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่มีการรัฐประหารในปี 2557 ต่อเนื่องจนถึงปี 2566

ต่อกรณีที่เกิดขึ้น นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. ในฐานะอดีตบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท ชี้ว่า สื่อมวลชนไม่ควรมองปัญหานี้เป็นเรื่องเล็ก
“ผู้มีอำนาจทุกคนควรเข้าใจว่านักข่าวไม่ใช่ลูกน้อง ประชาสัมพันธ์ หรือเพื่อนเล่น หากแต่เขาแบกคำถามจากประชาชน ไม่ว่าคำถามนั้นจะถูกใจไม่ถูกใจ ในฐานะเป็นบุคคลสาธารณะและผู้มีอำนาจให้คุณให้โทษต่อสาธารณะก็ต้องตอบ ต้นสังกัดของผู้สื่อข่าวก็ควรมีบทบาทในการปกป้องการทำงานของสื่อมวลชนด้วยเช่นกัน ไม่ควรเงียบเฉยโดยมองว่าเป็นเพียงเรื่องหยอกล้อ” นายเทวฤทธิ์ กล่าว
ก่อนหน้านี้เดือนเมษายน 2562 เคยปรากฏวิดีโอว่า พล.อ. ประวิตร ได้ต่อยผู้สื่อข่าวสายทหาร หลังสอบถามเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายได้กล่าวยืนยันว่า เป็นการหยอกล้อในฐานะคนคุ้นเคยกัน ขณะที่ ในเดือนมีนาคม 2564 พล.อ. ประวิตร เคยถามกลับผู้สื่อข่าวว่า “จบจากสถาบันไหน คุณจบมหาวิทยาลัยราชภัฏเหรอ” เมื่อถูกถามเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ
ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ดร. เหงียน ตู อัญ อาจารย์ประจำสาขาวารสารศาสตร์ระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชี้ว่า กรณีที่เกิดขึ้นนับเป็นการคุกคามสื่อมวลชน ซึ่งสมาคมสื่อควรร่วมกันหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำอีก
"เหตุการณ์นี้เป็นการคุกคามสื่ออย่างร้ายแรง สะท้อนถึงความพยายามมีอำนาจเหนือการทำงานของสื่อ ซึ่งเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อเสรีภาพสื่อและระบอบประชาธิปไตยด้วย ในระยะยาวจะส่งผลต่อความกล้าหาญทางจริยธรรมของสื่อมวลชน ที่ควรจะสามารถทำหน้าที่ของตนโดยไม่ถูกข่มขู่หรือถูกคุกคาม เพราะมีผลต่อความเป็นอิสระในการนำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ” ดร. เหงียน ตู อัญ กล่าว