สภาผู้แทนเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการอุ้มหายฯ
2022.02.23
กรุงเทพฯ

ในวันพุธนี้ สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งนักสิทธิมนุษยชนเห็นว่าจะช่วยอุดช่องโหว่ของประมวลกฎหมายอาญาที่ดำเนินคดีผู้ต้องสงสัยได้ยาก และจะช่วยป้องกันการก่อเหตุในอนาคตได้
กรรมาธิการวิสามัญ ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานฯ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย 1. กำหนดนิยามการทรมานและการอุ้มหายตามพันธกรณีของอนุสัญญา 2. กำหนดนิยามผู้เสียหายให้กว้างขวางขึ้น 3. กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงต้องรับผิดทางอาญา 4. การคุมขังในที่ลับหรือที่ไม่เปิดเผยจะกระทำไม่ได้ 5. คณะกรรมการตามกฎหมายฉบับนี้มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวน คดีซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย คุ้มครองพยาน และเยียวยาญาติ และ 6. กำหนดให้การร้องเรียนในคดีการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายได้รับความคุ้มครอง ไม่อาจถูกฟ้องแพ่ง-อาญาในคดีอื่นใด
ขั้นต่อไป ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบ ก็จะเข้าสู่การทูลเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งนักสิทธิมนุษยชนและครอบครัวของเหยื่อการบังคับสูญหายต่างหวังว่าวุฒิสภาจะเห็นชอบกับร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถูกลักพาตัวเมื่อปี 2547 ได้ทำหน้าที่ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญ ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ได้กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะช่วยอุดช่องโหว่ทางกฎหมายที่มีอยู่เดิม
“เราสามารถพูดว่า ร่าง พ.ร.บ. นี้จะอุดช่องโหว่ของกฎหมายอาญาเดิม เช่น การนิยามผู้เสียหายจากเดิมที่เฉพาะพ่อ แม่ ลูก เมีย ที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย แต่กฎหมายนี้จะครอบคลุมถึงคู่ชีวิต หรือคนเพศเดียวกันที่อยู่ด้วยกันเหมือนสามีภรรยา และกฎหมายนี้จะยังไม่มีการนับอายุความจนกว่าจะทราบชะตากรรมของผู้ที่สูญหาย” นางอังคณา กล่าว
ในวันพุธนี้ ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... ซึ่งถูกเสนอโดย คณะรัฐมนตรี (ครม.), นายวันมูหะมัดนอร์ มะทาและคณะ, นายสุทัศน์ เงินหมื่นและคณะ และกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ได้ผ่านความเห็นชอบวาระที่สามของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ด้วยคะแนนเห็นด้วย 359 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 2 เสียง
ด้าน นายรังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นหนึ่งใน กมธ. กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว มีความจำเป็นเพื่อใช้ป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน
“ผมต้องการเห็นกฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในเรื่องสิทธิมนุษยชน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาการอุ้มหาย การซ้อมทรมาน เป็นปัญหาสำคัญ และเป็นความท้าทายของพวกเราทุกคน ของประเทศไทยของเรา ดังเช่นที่ปรากฎในกรณีของคุณต้าร์ วันเฉลิม ที่ถูกอุ้มหาย ที่พนมเปญ ประเทศกัมพูชา กรณีของผู้กำกับโจ้ที่มีการคลุมถุงดำ” นายรังสิมันต์ กล่าวในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
น.ส. สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลที่ถูกลักพาตัวในกรุงพนมเปญ เมื่อปี 2563 แสดงความยินดีที่สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้
“รู้สึกดีใจที่ ส.ส. ผ่านกฎหมายดังกล่าวโดยไม่มีการคัดค้าน ทำให้เรามีความหวัง และวางแผนที่จะดำเนินการต่อเกี่ยวกับคดีของต้าร์ (วันเฉลิม) แต่ก็ต้องดูว่า ส.ว. จะค้านกฎหมายฉบับนี้ไหม แต่ก็หวังว่า ส.ว. จะไม่คัดค้าน กฎหมายฉบับนี้เช่นกัน” น.ส. สิตานัน กล่าวกับเบนาร์นิวส์
สหประชาชาติ (UN) ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2523 ถึงปัจจุบัน มีคนไทยถูกบังคับให้สูญหายอย่างน้อย 82 คน ขณะที่ น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายอย่างน้อย 31 ราย ส่วนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า หลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในปี 2557 มีประชาชนอย่างน้อย 104 ราย ต้องหนีออกนอกประเทศไปเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง เนื่องจากถูกไล่ล่า
ในปี 2562 ได้มีการผลักดันให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการอุ้มหายฯ มาแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในปี 2564 และผ่านการพิจารณาวาระที่สามในวันพุธนี้
“คิดว่า หากกฎหมายนี้บังคับใช้จริง จะสามารถป้องกันการเกิดเหตุในอนาคตได้ กฎหมายนี้จะปรามการก่อเหตุเอาไว้ และเชื่อว่าจะทำให้การทรมานและสูญหายของไทยน้อยลง หากไม่มีการปรับถ้อยคำโดย ส.ว. ซึ่งก็น่ากังวล เพราะ ส.ว. ชุดนี้จำนวนมากก็เป็น สนช. ซึ่งไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ และอาจจะไม่เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็หวังว่า ส.ว. จะคำนึงถึงการคุ้มครองทุกคนในประเทศนี้” นางอังคณา กล่าวกับเบนาร์นิวส์