อัยการยะลาเตือนเจ้าหน้าที่ให้ระวังในการจับกุมผู้ต้องสงสัย
2023.07.24
ปัตตานี

เจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการจังหวัดยะลา แนะนำเจ้าหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ใช้ความระมัดระวังในระหว่างการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เพราะพ.ร.บ. ป้องกันอุ้มหาย กำหนดให้มีการสอบสวนเหตุการณ์ในทันทีที่มีการร้องเรียนถึงการกระทำผิด
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ โดย มาตรา 22-25 ของพรบ. นี้ กำหนดให้เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมถ่ายวิดีโอคลิปในขณะจับกุม และเจ้าหน้าที่ชุดสอบสวนกระทำเช่นเดียวกันในขณะควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้เพื่อเป็นหลักฐาน
ที่ผ่านมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรมระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547 มีผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างน้อย 31 ราย และมีการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยในระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่
“จากการทำคดีมา เราเห็นว่าฝ่ายจำเลย เวลาสู้คดีเขาสู้ทุกเรื่องทุกประเด็น ในประเด็นเหล่านี้ก็เคยเห็นในการสืบพยาน มีการต่อสู้คดีในศาลเรื่องของการถูกทำร้าย ถูกบังคับ ถูกทรมาน ซึ่งในกฎหมายนี้ดูแล้วว่าเกี่ยวข้องโดยตรง จึงอยากฝากให้มีการระมัดระวัง"
"ถ้ามีการร้องเกิดขึ้น ถ้าท่านไปควบคุมตัวตอนตีสามตีสี่ ญาติเขาวิ่งมาที่สำนักอัยการแล้วมาร้องมาว่า มีการทำร้ายร่างกาย อัยการเรามีจัดเวรพนักงานอัยการอยู่ เราก็ต้องยื่นคำร้อง เพราะในกฎหมายเขียนว่าให้ศาลไต่สวนโดยพลัน” นายสัญญา สะอาด อัยการจังหวัดยะลา กล่าวต่อที่สัมมนา ในโครงการส่งเสริมการประสานความร่วมมือด้านการยุติธรรมของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ภายในจังหวัดยะลา ในวันสุดสัปดาห์นี้
นายสัญญา กล่าวว่า ในตอนนี้ ยังไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น แต่ต้องระวังไม่ให้เกิดขึ้นในวันข้างหน้า
เจ้าหน้าที่สามฝ่ายทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง สนธิกำลังปิดล้อมตรวจค้น และควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย มีส่วนเกี่ยวข้องก่อเหตุรุนแรง บริเวณร้านขายกะทิสด (ไม่มีเลขที่) ในพื้นที่บ้านบาเฆ็ง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เวลาประมาณ 4:00 น. วันที่ 22 กรกฎาคม 2566 (เบนาร์นิวส์)
ด้าน พ.อ. เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติเป็นปกติ ส่วนประชาชนก็มีความเข้าใจในเรื่องนี้
“ประชาชนก็สามารถทำตามสิทธิที่เขามีได้เช่นกัน เช่น กรณีที่มีการปิดล้อมในยะลาเมื่อต้นเดือนนี้ การบันทึกเสียงและภาพได้เกิดขึ้นจากสองฝ่าย ต่างคนต่างทำหน้าที่และสิทธิของตัวเอง และต่างคนต่างสบายใจ เมื่อเจ้าหน้าที่สร้างความเข้าใจเขาก็ยอมมอบตัวและไม่เกิดความสูญเสียใด ๆ” พ.อ. เกียรติศักดิ์ กล่าว โดยระบุถึงการที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 จับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อความไม่สงบในเดือนนี้
“ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายในแต่ละครั้งที่ทำให้เกิดการวิสามัญเจ้าหน้าที่ก็ได้ใช้ทั้งความอดทน ใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจทำจากเบาไปหาหนัก จนทำให้เกิดวิสามัญทั้งที่จริงไม่ได้อยากให้เกิด ส่วนนี้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติมาตลอด อีกทั้งมีความพร้อมที่จะอดทนในการปฏิบัติทำตามกฎหมายเมื่อเกิดการกระทำผิดขึ้น” พ.อ. เกียรติศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกิตติสัณห์ ภัทรากรทวีวงศ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดยะลา ได้เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมการประสานความร่วมมือด้านการยุติธรรมของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ภายในจังหวัดยะลา ประจำปีงบประมาณ 2566
ในการนี้ ได้มีการจัดการอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ได้รับทราบแนวปฏิบัติและเน้นย้ำถึงความไม่ชัดเจนของข้อกฎหมายในบางประการ โดยมีผู้เข้าร่วม ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดยะลา, กองบังคับการสืบสวนจังหวัดชายแดนภาคใต้, กอ.รมน.4, ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10, กองกำลังเฉพาะกิจยะลา, เจ้าหน้าที่ศาล, สำนักงานคุมประพฤติยะลา, เจ้าหน้ากระทรวงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จ.ยะลา, ทนายความ, เจ้าหน้าที่ประจำอำเภอ, ไปรษณีย์ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ
นอกจากเหตุที่เกิดในสามจังหวัดชายแดนใต้แล้ว สหประชาชาติ (UN) ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2523 ถึงปัจจุบัน มีคนไทยถูกบังคับให้สูญหายอย่างน้อย 82 คน ส่วนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า หลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในปี 2557 มีประชาชนอย่างน้อย 104 ราย ต้องหนีออกนอกประเทศไปเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง
การรายงานการควบคุมตัว
ภายหลังเหตุคนร้ายปล้นปืนค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ ไปกว่า 400 กระบอก ในเดือนมกราคม 2547 เหตุการณ์รุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ได้ปะทุรุนแรงเรื่อยมากว่า 19 ปี โดยรัฐบาลได้ใช้กฎหมายพิเศษ เช่น พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่งคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551เพื่อควบคุมสถานการณ์
รัฐบาลได้ประกาศการใช้ พ.ร.บ. กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มากว่า 60 ครั้ง ส่วนหนึ่งเพื่อให้สามารถจับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัยเพื่อการสอบสวนได้สะดวกกว่าและยาวนานกว่าอำนาจตาม ป.วิอาญา เช่น ตามอำนาจกฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ไม่ต้องใช้หมายศาลหรือไม่จำเป็นต้องเป็นเหตุเฉพาะหน้า
นายสัญญา สะอาด อัยการจังหวัดยะลา กล่าวถึงรายละเอียดที่เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการในระหว่างการจับกุมคุมขังโดยการใช้กฎหมายพิเศษนั้นว่า เจ้าหน้าที่และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจับกุมปฏิบัติอย่างรอบคอบ
“ต้องแจ้งให้อัยการหรือนายอำเภอทราบ และที่เป็นประเด็นอีกเรื่อง คือ ใครต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ หมายถึงรวมบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น มีเจ้าหน้าที่ตั้งด่านตรวจแล้วมีการใช้ประชาชนบางคนเข้ามาช่วยตรงนี้ ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามคำนิยามด้วย” นายสัญญากล่าว
ส่วนการส่งคลิปที่ถ่ายในระหว่างการจับกุมนั้น “โดยสรุปมีการคุยแล้วว่าจะส่งก็ได้หรือจะไม่ส่งก็ได้ เพียงแต่ว่าถ้าจะไม่ส่งก็ขอให้ทำบันทึกว่าเหตุผลที่ไม่ส่งเพราะอะไร แต่ถ้าส่งอัยการช่วยดูแล้วก็จะเป็นการรีเช็คก็จะเป็นผลดีต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ”
นายสัญญา ยังได้ย้ำว่า ให้เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลสภาพร่างกายของผู้ที่ถูกควบคุมตัวด้วย ซึ่งทุกวันนี้มีการบันทึกแค่ด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้าง ไม่ได้มีการบันทึกในข้อมูลสภาพของร่างก่ายของผู้ที่ถูกควบคุมตัวเป็นอย่างไร อันนี้ที่เป็นปัญหา
ในส่วนการควบคุมตัวนั้น นายสัญญา กล่าวว่า ให้เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมตัวรายงานแจ้งให้อัยการทราบเมื่อมีการเปลี่ยนที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย
“เมื่อเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวตามอัยการศึกครบ 7 วัน ก็จะต้องส่งต่อตาม พรก. เช่น ส่งไปหน่วยซักถาม ตรงนี้ต้องแจ้งเมื่อพ้นการควบคุมตัว แต่ถ้าควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก 7 วัน อยู่ที่ ฉก.41 แล้วจะต้องควบคุมตัวตาม พ.ร.ก. ต่อที่เดิมไม่ต้องแจ้ง แต่ถ้าส่งไปหน่วยงานอื่นต้องแจ้ง แต่ถ้าควบคุมครบตาม พ.ร.ก. แล้ว จะใช้ กม. ป.วิอาญาต่อ จะต้องส่งตัวต่อให้หน่วยอื่นกรณีนี้จะต้องแจ้ง” นายสัญญากล่าว
นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน