วันนอร์ นั่งประธานสภาฯ ไร้คู่แข่ง
2023.07.04
กรุงเทพฯ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรเพียงผู้เดียว ขณะที่ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือหมออ๋อง ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส. เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 1 และ 2 ตามลำดับ
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เสนอชื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยที่พรรคอื่นไม่ได้เสนอชื่อ ส.ส. แข่ง ทำให้ตามข้อบังคับรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ ได้นั่งตำแหน่งประธานสภาฯ ทันที
“มีผู้เสนอชื่อเดียวแล้วก็แสดงวิสัยทัศน์เสร็จแล้ว ถือว่าที่ประชุมได้ลงมติเลือกให้ท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามข้อบังคับการประชุม” พล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว กล่าวกับที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวกับที่ประชุมว่า “ขอขอบคุณที่ท่านสมาชิกเสนอชื่อผม เพื่อมาทำหน้าที่เป็นประธานสภาฯ ในครั้งนี้ และถ้าผมได้รับความไว้วางใจจากท่านทั้งหลายให้ทำหน้าที่เป็นประธานสภาฯ ในครั้งนี้ ผมขอยืนยันกับท่านทั้งหลายทุกท่านว่า ผมจะทำหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางทางการเมือง”
ต่อมา นายปดิพัทธ์ ได้รับคะแนนเสียง 312 เสียง ต่อ 105 เสียง เอาชนะ นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ให้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 โดยมีผู้งดออกเสียง 76 เสียง
“เราอยากจะเห็นประชาชนกลับมามั่นใจในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง ในกระบวนการนิติบัญญัติที่กฎหมายทุกฉบับจะได้รับการพิจารณาอย่างมีประสิทธิภาพ เราจะทำให้สภานิติบัญญัตินั้นกลับมามีตัวตนและศักดิ์ศรีโดยไม่อยู่ใต้อานัติของฝ่ายบริหาร ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญที่เราจะต้องยึดถือ” นายปดิพัทธ์ กล่าวต่อที่ประชุม
ขณะที่ นายพิเชษฐ์ ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาคนที่ 2 เพียงชื่อเดียว ได้รับตำแหน่งทันที
“ผมจะดำเนินการประชุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยุติธรรม และมีความเป็นกลาง โดยให้เกียรติสมาชิกทุกท่านและปฏิบัติตามท่านประธานในที่ประชุมที่มอบหมายให้ผมได้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เร่งรัดความพร้อมให้กับสมาชิกให้มีคุณภาพศักยภาพในการพัฒนาประเทศ ตลอดจนกอบกู้เกียรติยศและศักดิ์ศรีของสภาผู้แทนราษฎร ให้สามารถถ่วงดุลกับอำนาจตุลาการและอำนาจบริหารได้” นายพิเชษฐ์ กล่าวกับที่ประชุม
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ขณะเดินเข้าอาคารรัฐสภา กรุงเทพฯ วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)
ทั้งนี้ สำหรับตำแหน่งประธานสภาฯ นายพิธา กล่าวกับสื่อมวลชนที่รัฐสภาว่า “อาจารย์วันนอร์ท่านเป็นผู้ใหญ่ แล้วก็ท่านก็มีความคิดเป็นของตัวเอง แล้วท่านก็ได้พิสูจน์ตัวเองตั้งแต่สมัย พ.ศ. 2522 ผมเชื่อว่า ท่านมีความเป็นตัวของตัวเอง แล้วก็จะทำให้รัฐสภาก้าวหน้า”
ทั้งนี้ สถานการณ์การต่อรองตำแหน่ง ประธานสภาฯ สร้างความตึงเครียดระหว่างว่า ที่พรรคร่วมรัฐบาลก้าวไกล และเพื่อไทย มาเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์ เมื่อมีกระแสข่าวว่า ทั้งสองพรรคต้องการตำแหน่งเหมือนกัน มีการตอบโต้กันไปมาระหว่าง ส.ส. ของพรรค และมีการยกเลิกการประชุมร่วมจนนำไปสู่ข่าวลือว่า อาจมีการล้มข้อตกลงร่วมรัฐบาลระหว่างกัน
กระทั่งในวันจันทร์ที่ผ่านมา ทั้งสองพรรคได้พูดคุยกันจนได้ข้อสรุปว่า จะเสนอชื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ ให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ โดยทั้งสองพรรคมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะผลักดัน นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มความสามารถ และจะร่วมกันผลักดันกฎหมายปฏิรูปกองทัพ และนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดีการเมือง
โดยในวันอังคารนี้ นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ข้อสรุปเรื่องประธานสภาฯ เป็นทางออกที่ดี และข้อตกลงระหว่างสองพรรคไม่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมคดีของนักการเมืองในอดีต ซึ่งมีกระแสข่าวเชื่อมโยงกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
“ข้อตกลงนี้เป็นแค่ 2 พรรค เป็นการแสดงออกทางการเมือง (นิรโทษกรรมให้กับผู้ต้องหาคดีการเมือง) เราให้ความระมัดระวังเรื่องนี้มาก มันมีข้อจำกัดเฉพาะนะ ไม่รวมถึงประเด็นทางการเมืองที่เคยเป็นมาก่อน (ประเด็นนิรโทษกรรม นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นชนวนเหตุการรัฐประหาร ปี 2557) ผลักดันกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับ (มาตรา) 112 ทุกอย่างมันเป็นกลไกผ่านรัฐสภาอยู่แล้ว” นพ. ชลน่าน กล่าวกับสื่อมวลชนที่รัฐสภา
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการตกลงกันว่าที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีในวันใด
ดร. ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชื่อว่า นายพิธายังมีโอกาสสูงที่จะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
“มองจากผลการประชุมร่วม 8 พรรคแล้ว มีโอกาสสูงมากที่พิธาจะได้เป็นนายก ถ้าเฉพาะปัจจัย ส.ส. ในสภา ตอนนี้กระแสพิธาสูงมาก ดังนั้นสิ่งที่จะขวางพิธาไม่ให้เป็นนายกฯ ในระยะสั้นนี้มีน้อย เชื่อว่าเพื่อไทยจะไม่กล้าสวนกระแส เพราะจะมีผลกับคะแนนนิยมของพรรค และเพื่อไทยจะถูกแรงกดดันมหาศาลตามมา” ดร. ณัฐกร กล่าว
“ระยะสั้น 8 พรรคน่าจะดันพิธาที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนในระยะยาวจะเกิดอะไรขึ้นไม่แน่นอน ถ้าไม่ดันพิธาให้ถึงที่สุดก็จะถูกกระแสกดดันมหาศาล ถ้าไม่ได้จริง ๆ ถึงที่สุด ก็คงให้โอกาสเพื่อไทยบ้าง จากสถานการณ์ตอนนี้ ก้าวไกลเชื่อว่าจะสามารถล็อบบี้ ส.ว. บางส่วนได้ โดยเฉพาะที่มาจากภาคธุรกิจ แต่เชื่อว่าจะไม่สามารถ ทำแบบเดียวกันกับ ส.ว. สายทหาร” ดร. ณัฐกร กล่าวเพิ่มเติม
ปัจจุบัน ก้าวไกล และเพื่อไทยจับมือกับพันธมิตรทั้งหมด 8 พรรค ได้มือ ส.ส. 313 คน จาก ส.ส. ทั้งหมด 500 คน แต่ตามกติกาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่เขียนโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้อำนาจ ส.ว. แต่งตั้งที่ส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการทหาร และฝ่ายอนุรักษ์นิยม ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ทำให้หากพิธาต้องการเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาลจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 376 เสียงจาก 750 เสียงในที่ประชุมร่วมรัฐสภา โดยก้าวไกล ยืนยันมาตลอดสัปดาห์ว่า ได้เสียง ส.ว. ใกล้ครบตามที่ต้องการแล้ว
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ และนาวา สังข์ทอง ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน