เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันอุ้มหายฯ ทันทีตามคำสั่งศาล
2023.05.19
กรุงเทพฯ

ในวันศุกร์นี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุจะเร่งดำเนินการตามคำสั่งศาลที่มีคำวินิจฉัยในสัปดาห์นี้ ให้บังคับใช้โดยทันที พ.ร.บ. ป้องกันอุ้มหายฯ ที่ในบางมาตรากำหนดให้เจ้าหน้าที่ถ่ายวิดีโอคลิปในขณะจับกุมและควบคุมตัวไว้เพื่อเป็นหลักฐาน
พล.ต.ต. อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ ถึงคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ทันที
“คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ที่ออก ซึ่งหลังจากนี้ เราก็ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ ที่ออกมา ปัจจุบันเรามีกล้องอยู่แสนกว่าตัว หลังจากนี้ ก็จะมีการจัดซื้อเข้ามาดำเนินการ โดยจะใช้เวลาอีกประมาณ 3 เดือนน่าจะทัน” พล.ต.ต. อาชยน กล่าว
“ตอนนี้ถ้ามีเหตุฉุกเฉิน ท่าน ผบ.ตร. ก็ได้สั่งการให้บริหารจัดการกล้องที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ที่สุด ต้องมีการหมุนเวียนกันใช้ในส่วนต่าง ๆ และถ้าสุดวิสัยจริง ๆ ก็จะสามารถใช้อุปกรณ์ส่วนตัวไม่ว่าจะเป็นบอดี้แคม หรือโทรศัพท์มือถือ ดำเนินการไปก่อน รวมถึงใช้อุปกรณ์ส่วนตัวในการจัดเก็บไฟล์ภาพด้วย” พล.ต.ต. อาชยน กล่าวเพิ่มเติม
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในวันพฤหัสบดีนี้ มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง ว่าพระราชกำหนดเลื่อนการบังคับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 (พ.ร.บ. ป้องกันอุ้มหายฯ) ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้ พ.ร.บ. ป้องกันอุ้มหายฯ จะมีผลบังคับใช้ทันที
การที่ ครม. มีมติเห็นชอบให้เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันอุ้มหายฯ มาตรา 22-25 ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ถ่ายวิดีโอคลิปในขณะจับกุมและควบคุมตัวไว้เพื่อเป็นหลักฐานออกไป เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ส่งหนังสือถึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เสนอให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไปก่อน โดยอ้างเหตุผลว่า มีความไม่พร้อมด้านต่าง ๆ ในการปฏิบัติตามกฎหมาย
อนึ่ง พ.ร.บ. ป้องกันอุ้มหายฯ ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้จริง 120 วันหลังจากนั้น ซึ่งตรงกับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566
สำหรับ มาตรา 22 ระบุว่า การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับ และควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว และมาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว และมาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน
โดย พ.ร.บ. ดังกล่าวมีสาระสำคัญประกอบด้วย 1. กำหนดนิยามการทรมานและการอุ้มหายตามพันธกรณีของอนุสัญญา 2. กำหนดนิยามผู้เสียหายให้กว้างขวางขึ้น 3. กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงต้องรับผิดทางอาญา 4. การคุมขังในที่ลับหรือที่ไม่เปิดเผย จะกระทำไม่ได้ 5. คณะกรรมการตามกฎหมายฉบับนี้มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวน คดีซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย คุ้มครองพยาน และเยียวยาญาติ และ 6. กำหนดให้การร้องเรียนในคดีการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายได้รับความคุ้มครอง ไม่อาจถูกฟ้องแพ่ง-อาญาในคดีอื่นใด
สองเดือนก่อนหน้าที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวจะมีการประกาศใช้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเจ้าหน้าที่ตำรวจ 6 นาย รวมถึง พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือผู้กำกับโจ้ ในข้อหาซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวและสอบปากคำเมื่อปี 2564 ซึ่งปรากฏภาพผู้ต้องสงสัยใส่กุญแจมือ และมีถุงพลาสติกคลุมศีรษะ ในวิดีโอที่มีคนแอบบันทึกไว้ และมีผู้นำไปเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย
ในขณะที่ ศาลจังหวัดสงขลา มีคำสั่งเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2565 ว่าผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่ในอาการโคม่าและเสียชีวิต ในขณะที่ถูกควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหารจริงเมื่อเกือบสามปีก่อน ไม่ได้เสียชีวิตจากการถูกทรมาน
โดยนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ เสียชีวิตลงในปี 2562 ด้วยวัย 34 ปี ภรรยาและญาติของเขาได้ดำเนินการทางกฎหมายเรียกร้องความเป็นธรรมมาตลอด 2 ปี ขอให้ศาลไต่สวนยืนยันถึงการชันสูตรศพ นายอับดุลเลาะอีกครั้ง ว่ามีการทรมานหรือไม่ และความหวังของครอบครัวก็ทลายลงเมื่อศาลมีคำสั่งออกมา
นักสิทธิมนุษยชนยินดีที่กฎหมายบังคับใช้เต็มรูปแบบ
ด้านนักสิทธิมนุษยชน ชี้ว่า คำวินิจฉัยของศาลเป็นการปกป้องสิทธิของประชาชน และ ครม. ควรแสดงความรับผิดชอบที่พยายามเลื่อนการใช้กฎหมายโดยขัดรัฐธรรมนูญ
นางอังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ในฐานะผู้เสียหาย และผู้ที่เรียกร้องเกี่ยวกับกฎหมายนี้มานาน รู้สึกดีใจที่กฎหมายบังคับใช้จริงเสียที
“รู้สึกดีใจที่กฎหมายบังคับใช้เสียที เพราะยืดเยื้อมานาน และเราก็อยากเห็นการบังคับใช้จากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งตำรวจ มหาดไทย ดีเอสไอ และอัยการ อยากเห็นประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการซ้อมทรมาน และอุ้มหายได้รับการเยียวยา"
"อยากเห็นการไม่ผลักดันคนกลับประเทศหากจะทำให้เขาเกิดอันตราย และรัฐบาลควรแสดงความรับผิดชอบที่เสนอกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแบบนี้ ซึ่งถ้าเป็นรัฐบาลปกติคงต้องลาออกไปแล้ว” นางอังคณา กล่าว
ด้าน น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า กฎหมายที่ผ่านโดยรัฐสภา ไม่ควรถูกทำให้เลื่อนโดยรัฐบาลอยู่แล้ว
“ดังนั้นคำวินิจฉัยของศาลในวันนี้จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นการแสดงความเคารพต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และเคารพต่อระบบรัฐสภา สิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรจะดำเนินการหลังจากนี้คือ ดำเนินการบังคับใช้ และหาทางเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในอดีต” น.ส. พรเพ็ญกล่าว
นักสิทธิมนุษยชนทั้งสองคนยังเห็นตรงกันว่าประชาชนที่ถูกละเมิดจากการถูกควบคุมตัวในช่วงตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งกฎหมายมีผลบังคับใช้ควรจะฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังมีการควบคุมตัวบุคคล โดยไม่อนุญาตให้ทนายและญาติเข้าเยี่ยมอยู่
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน