นายกฯ-ผู้ว่า กทม. ขอประชาชนมั่นใจอาฟเตอร์ช็อกไม่กระทบตึกสูง
2025.03.31
กรุงเทพฯ

น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า อาฟเตอร์ช็อกของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอีกในเมียนมาไม่ได้กระทบถึงตึกสูงในกรุงเทพฯ ด้านอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ยืนยันว่า อาคารสูงที่สร้างตามกฎหมายจะมีคุณสมบัติรองรับแผ่นดินไหวแล้ว ประชาชนไม่ควรตื่นตระหนกเกินไป
“อาฟเตอร์ช็อกที่อยู่ที่เมียนมาไม่กระทบไทย กรมอุตุนิยมวิทยา คอนเฟิร์มแล้ว ไม่มีกระทบ คนที่รับผิดชอบตึกทุกตึกต้องเป็นคนตรวจสอบว่าตึกแต่ละตึกลิฟต์เสียไหม การกะเทาะของกระเบื้อง อะไรก็ตามกระทบต่อการใช้ตึกหรือไม่ แต่ละตึกต้องเช็กเรื่องนี้ให้ดี ถ้าการเช็กนี้มีข้อสงสัยใด ๆ ให้ติดต่อไปตาม ปภ.” น.ส. แพทองธาร กล่าว
แผ่นดินไหวดังกล่าว เกิดขึ้นในเวลา 13.20 น. ของวันศุกร์ที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ความรุนแรงขนาด 8.2 ลึก 10 กม. พิกัด 96.12°E 22.07°N ศูนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมา
หลังเกิดเหตุ ผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ลงพื้นที่ และรายงานว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ (สตง.) ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ ขนาดความสูง 30 ชั้น งบประมาณก่อสร้าง 2,136 ล้านบาท บนเนื้อที่ 11 ไร่ ในเขตจตุจักรได้ถล่มลงมาจากแรงสั่นไหว ซึ่งขณะเกิดเหตุมีแรงงานติดอยู่ในตัวอาคารจำนวนมาก
“ช่วงเช้า ศูนย์ราชการมีผู้รายงานว่า มีการทรุดตัว มีการสั่นไหว แล้วก็มีหลายอาคารประมาณ 20 อาคาร ที่มีการรายงานว่า มีการสั่นไหว แตกร้าว ผู้คนไม่มั่นใจ บางอาคารมีการอพยพ เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องปกติที่คนจะรู้สึกกังวลหลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ แต่ไม่มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเพิ่มเติม” นายชัชชาติ กล่าว
ขณะที่ในเมียนมามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,700 คน ตามที่รัฐบาลทหารประกาศในวันจันทร์ โดยมีผู้สูญหายมากกว่า 300 คน นอกจากนี้มีผู้บาดเจ็บประมาณ 3,400 คน ตามที่โฆษกรัฐบาลทหาร พลตรี ซอ มิน ตุน ระบุ
อย่างไรก็ตาม สื่ออิสระของเมียนมา Democratic Voice of Burma ระบุจำนวนผู้เสียชีวิต ณ คืนวันอาทิตย์อยู่ที่ 2,928 คน
เจ้าหน้าที่กู้ภัยแบกร่างผู้เสียชีวิต ในช่วงหลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ที่เมืองมัณฑะเลย์ เมียนมา วันที่ 30 มีนาคม 2568 (รอยเตอร์)
ในวันจันทร์นี้ กรุงเทพฯ ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวอย่างน้อย 18 ราย สูญหาย 78 ราย และบาดเจ็บ 33 ราย โดยผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บส่วนใหญ่เกิดจากเหตุตึก สตง. แห่งใหม่ถล่ม
“ถ้ากรณีบ่งชี้กรณีเดียว คือ ต้องมีรอยร้าวรุนแรงเพิ่มเติม ซึ่งทั้งหมดที่รับแจ้งมาเมื่อเช้าไม่มีเหตุการณ์นั้น การตื่นตระหนก ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ขึ้น และอนาคตคนอาจไม่ค่อยไว้ใจ แล้วพอถึงสถานการณ์คนอพยพที่แท้จริงคนกลับละเลย ขอให้มั่นใจ และมีสติ สถานการณ์ปัจจุบันไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง” นายชัชชาติ ระบุ
ขณะเดียวกัน กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ได้สรุปอาฟเตอร์ช็อก (Aftershocks) แผ่นดินไหวประเทศเมียนมาว่า จนถึงเช้าวันจันทร์นี้ เกิดอาฟเตอร์ช็อกแล้วกว่า 200 ครั้ง โดยมีความรุนแรงตั้งแต่ระดับ 3.0-7.0 โดยอาฟเตอร์ช็อกส่วนมากเกิดในระดับ 3.0–3.9 จำนวน 91 ครั้ง
ด้าน นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดี ปภ. สรุปว่า กรุงเทพฯ ได้รวบรวมวิศวกรอาสากว่า 130 คน ลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารที่ได้รับผลกระทบ 155 แห่ง พบว่า มีอาคารที่เสียหายในระดับสีแดง(ห้ามใช้อาคาร) 2 แห่ง ซึ่งประชาชนที่พักอาศัยได้รับข้อมูลและออกจากพื้นที่แล้ว และอยู่ในระหว่างการรายงาน 18 แห่ง
“อาคารโครงสร้างซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร รวมทั้งกฎกระทรวงที่ออกมามีการเผื่อค่าแผ่นดินไหว ทุกอาคารมีความมั่นคงแข็งแรง ตามที่ท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ตรวจสอบเบื้องต้นไปแล้ว ได้รับยืนยันว่า ส่วนโครงสร้างต่าง ๆ มั่นคงแข็งแรง ส่วนของอาคารร้าวบางส่วนก็มีการประกาศห้ามใช้ไป ขอให้เกิดความมั่นใจ” นายภาสกร กล่าว
เจ้าหน้าที่กู้ภัยจากกองบัญชาการอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ มุ่งหน้าไปยังจุดเกิดเหตุอาคารถล่มในกรุงเทพฯ วันที่ 31 มีนาคม 2568 (เรดิโอฟรีเอเชีย ลาว)
ขณะเดียวกัน กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ตรวจสอบอาคารไปแล้ว 89 อาคาร จาก 28 หน่วยงานที่ประสานเรื่องเข้ามา พบว่า ใช้งานได้ปกติ 73 อาคาร มีความเสียหายบางส่วน 13 อาคาร และมีความเสียหายที่ต้องตรวจสอบเพิ่มเติม 3 อาคาร
อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์นี้ มีรายงานว่ามีการแตกตื่นของผู้คน และมีการอพยพคนในหลายอาคาร เช่น อาคารศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ และตึกเอกชนหลายแห่งบนถนนรัชดาภิเษก เป็นต้น
ด้านการช่วยเหลือผู้ที่ยังสูญหายจากเหตุการณ์ตึก สตง. ถล่มนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ยืนยันว่า ยังคงดำเนินการค้นหาต่อไป โดยใช้เครื่องสแกน และกระเช้าเครน
“ด้านบนซากอาคาร สุนัข K9 จะขึ้นไปยืนยันได้ยาก วิธีการคือ ต้องนำคนขึ้นกระเช้าเครน 8 คน ปฏิบัติในงานได้ครั้งละ 20 นาที การช่วยชีวิตถึงแม้ได้หนึ่งชีวิตก็คุ้มกับความพยายามทุกอย่าง ได้ย้ำกับทีมงานว่า ไม่ว่า 1 ชีวิต หรือ 10 ชีวิต ถ้าช่วยได้ก็คุ้มค่ากับทุกนาที คุ้มค่ากับความพยายามของทุกคน ขอให้เดินหน้าทำให้เต็มที่ ทีมงานทุกคนก็มีขวัญและกำลังใจในการทำงาน” นายชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติม