แผ่นดินไหวเมียนมา ทำไซต์ก่อสร้างตึก สตง. ใหม่ถล่ม เบื้องต้นสูญหาย 70 คน
2025.03.28
กรุงเทพฯ

เหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาซึ่งมีศูนย์กลางห่างจาก อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน 326 กม. ที่เกิดขึ้นในเวลา 13.20 น. ของวันศุกร์ที่ 28 มี.ค. 2568 นี้ ส่งผลถึง กรุงเทพฯ ทำให้ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หลังใหม่ที่กำลังก่อสร้างถล่ม เบื้องต้น มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 50 ราย สูญหาย 70 ราย
“ศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ในเมียนมา และเข้ามาทางเหนือ ที่กรุงเทพฯ ที่ผ่านมาก็มีแผ่นดินไหว เกิดเหตุการณ์ตึกถล่มแถวจตุจักร ได้สั่งการเรียบร้อยแล้ว ได้แจ้งให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ฉุกเฉิน แจ้งทั่วประเทศ ทำเสมือนว่าเป็นเหตุการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด เพื่อช่วยพี่น้องประชาชนได้ทันที” น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าว
กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในเวลาประมาณ 13.20 น. ความรุนแรงขนาด 8.2 ลึก 10 กม. พิกัด 96.12°E 22.07°N ในประเทศเมียนมา
“แผ่นดินไหวจะมีอาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้นภายใน 2 ชั่วโมง หลังจากเกิดครั้งแรก และอาฟเตอร์ช็อกจะค่อย ๆ แรงน้อยลงเรื่อย ๆ ใน 24 ชั่วโมงมีสิทธิเกิดซ้ำได้อีก เบื้องต้นให้ หยุดการออกและการเข้าของเครื่องบินอย่างน้อย 20 นาที สาธารณสุขให้เตรียมโรงพยาบาลและการแพทย์ฉุกเฉิน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ลงพื้นที่ และรายงานว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ (สตง.) ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ ขนาดความสูง 30 ชั้น งบประมาณก่อสร้าง 2,136 ล้านบาท บนเนื้อที่ 11 ไร่ ในเขตจตุจักรได้ถล่มลงมาจากแรงสั่นไหว ซึ่งขณะเกิดเหตุมีแรงงานติดอยู่ในตัวอาคารจำนวนมาก บาดเจ็บอย่างน้อย 50 ราย
“มีคนงานก่อสร้างจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 320 คน ขณะนี้สูญหายจำนวน 70 คน ยังมีคนงานติดอยู่ในช่องลิฟท์ 20 คน สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและหน่วยกู้ชีพกู้ภัยอยู่ระหว่างให้การช่วยเหลือ โดยมีกรมการแพทย์ตั้งโรงพยาบาลสนาม” ศูนย์นเรนทร สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ระบุเวลา 16.20 น. ผ่านเฟซบุ๊ก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประมวลภาพความเสียหายจากคลื่นสึนามิ ในมหาสมุทรอินเดียปี 2547
20 ปีภัยพิบัติสึนามิ เราพร้อมแค่ไหนกับภัยพิบัติในอนาคต
เมื่อเกษตรกรถูกชี้นิ้วเป็นตัวการวิกฤตฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ
หลังการประชุมด่วนรับสถานการณ์แผ่นดินไหว นายกรัฐมนตรี เปิดเผยในเวลาต่อมาว่าได้สั่งการให้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ทำระบบเตือนภัย, กระทรวงกลาโหมเตรียมกำลังพลเพื่อรักษาความปลอดภัย
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คาดการณ์ผลของแผ่นดินไหว และมาตรการป้องกันอาฟเตอร์ช็อก, กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร เป็นผู้บังคับบัญชาเหตุการณ์ในครั้งนี้ โดยประสานงานกับทุกหน่วยงาน, กระทรวงสาธารณสุขเตรียมโรงพยาบาลและหน่วยแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่เสี่ยง
“ขอให้ทุกท่านไม่อยู่บนตึกสูงห้ามใช้ลิฟต์ และลงมาข้างล่างโดยใช้บันไดเท่านั้น ขอให้อยู่ในความสงบ ไม่กังวลเกินไป” นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า นอกจากกรุงเทพฯแล้ว มีหลายจังหวัดในภาคเหนือ, ตะวันออกเฉียงเหนือ, กลาง และตะวันออกที่รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน อาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบเป็นรอยแตกร้าว และประชาชนที่อาศัยอยู่บนตึกสูงเกิดความตื่นตระหนก
ขณะที่ กระทรวงคมนาคม ได้สั่งให้ปิดทางขึ้น-ลงทางด่วนดินแดงชั่วคราว ยืนยันสะพานหลายแห่งมีโครงสร้างที่แข็งแรงไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว
ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า เกิดอาฟเตอร์ช็อกในประเทศเมียนมาอีก อย่างน้อย 9 ครั้ง ระดับความแรงตั้งแต่ 3.7-7.1 และเตือนว่าอาจเกิดอาฟเตอร์ช็อกซ้ำอีกได้
“หากอยู่ในอาคารใหม่หมอบลงใต้โต๊ะเพื่อป้องกันสิ่งของตกหล่น เมื่อแผ่นดินไหวสงบให้รีบลงจากอาคาร หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้อาคารสูง หากขับรถยนต์อยู่ให้หยุดรถและอยู่ภายในรถ หากอยู่ในทะเลให้อพยพขึ้นที่สูงระดับสูงกว่าน้ำทะเล 15 เมตร” กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งวิธีปฏิบัติตัวหากเกิดแผ่นดินไหว