เมื่อเกษตรกรถูกชี้นิ้วเป็นตัวการวิกฤตฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ
2025.02.24
เชียงใหม่

“มันต้องเผาครับ ไม่งั้นก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร” ใหญ่ ไพรวนาประเสริฐ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด วัย 30 ปี ชาวอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายนของทุกปี ถือเป็นฤดูกาลที่ภาคเหนือของประเทศไทย ต้องเผชิญกับวิกฤตฝุ่นควัน PM2.5 เกินมาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพ
ในภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภูเขา เกษตรกรนิยมปลูกข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก การเตรียมพื้นที่เพาะปลูกมักใช้วิธีเผาซากข้าวโพด เนื่องจากสภาพพื้นที่ภูเขาสูงชันไม่เหมาะใช้วิธีฝังกลบที่ต้องใช้เครื่องจักรทางการเกษตร ซึ่งการเผานี้เป็นอีกหนึ่งในต้นเหตุปัญหา PM2.5
ใหญ่ ระบุว่าในขั้นตอนการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ในพื้นที่ภูเขาสูงชันการเผาเป็นวิธีที่ประหยัดและสะดวกที่สุด โดยมักจะเริ่มเผากันตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเมษายน
"การเผามันเป็นวิธีที่ประหยัดที่สุดแล้ว บนดอยที่ดิน มันเป็นเนินมันชัน รถแทรกเตอร์เข้าไม่ถึง ส่วนเรื่องเอาไปทำปุ๋ยหมัก ถ้ามันทำได้ผมก็ทำไปแล้วครับ แต่มันทำไม่ได้ คนในเมืองเขาไม่เข้าใจหรอก พูดมันง่ายแต่ทำมันยาก" ใหญ่ กล่าว

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาแม้จะมีการตระหนักรู้เรื่องมลพิษ PM2.5 มากขึ้น แต่ปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมยังคงดำเนินต่อไป แม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงต้องพึ่งพาวิธีการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่
สถานการณ์ที่ใหญ่เผชิญอยู่นี้ สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากในการหาทางออก เมื่อเกษตรกรต้องเผชิญกับข้อจำกัดทั้งด้านพื้นที่และต้นทุน
"เขาก็รู้กันทั้งนั้นแหละครับ ว่าพวกเรา (เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด) เผา แต่ปีสองปีมานี้ช่วงห้ามเผา ถ้าใครเผาก็โดนจับนะ ปีที่แล้วมีคนแถวบ้านผมโดนจับไป 2-3 คน" ใหญ่ กล่าว
ไฟป่า-จุดความร้อนเพื่อนบ้าน ต้นเหตุสำคัญ PM2.5
แม้ว่าหลายคนมักเข้าใจว่าการเผาในภาคการเกษตรเป็นสาเหตุหลักของปัญหามลพิษทางอากาศ แต่ข้อมูลจากการติดตามจุดความร้อนชี้ให้เห็นว่า ไฟป่าในพื้นที่อนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ รวมทั้งจุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้าน ต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญของปัญหานี้ในภาคเหนือ
ตัวอย่างเช่นสถิติจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ในช่วงวันที่ 31 มีนาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดมลพิษ PM2.5 และจุดความร้อนสูงสุดช่วงหนึ่งเมื่อปี 2567 ที่ผ่านมานั้น จากข้อมูลจากดาวเทียมไทยพบจุดความร้อนทั้งประเทศ 1,864 จุด โดยจุดความร้อนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่ป่าสงวน 1,477 จุด ส่วนพื้นที่เกษตรและพื้นที่ สปก. พบรวมกันเพียง 294 จุด ส่วนจุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้เคียงกับภาคเหนือ พม่ามีถึง 5,296 จุด ตามด้วยลาว 3,047 จุด
นอกจากนี้ ข้อมูล 'พื้นที่การเผา' (burn scar) จาก GISTDA ยังพบว่าระหว่างวันที่ 1 มกราคม-31 พฤษภาคม 2567 จังหวัดในภาคเหนือ มีพื้นที่เผาไหม้ในเขตป่าถึง 1,827,813 ไร่ ส่วนพื้นที่เผาไหม้ในแปลงข้าวโพดมีเพียง 533,147 ไร่ เท่านั้น

สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ศึกษาข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและการใช้ประโยชน์ที่ดิน พบว่า ระหว่างปี 2544 ถึง 2563 มีการเผาไหม้ในเขตป่าไม้เพิ่มขึ้นมากถึง 240% ในขณะที่ไฟจากการเผาพื้นที่เกษตรลดลง 42% แสดงให้เห็นว่าที่มา PM2.5 น่าจะมาจากเผาไหม้ในเขตป่าไม้มากกว่าจากการเผาพื้นที่ทางการเกษตร งานวิจัยชิ้นนี้ยังพบว่าปริมาณการเกิดไฟไหม้สูงพบเห็นได้ที่ชายแดนติดกับพม่า ส่งผลให้ภาคเหนือของประเทศไทยได้รับผลกระทบมากที่สุด
ปริศนา พรหมมา หัวหน้าแผนงานเสริมความเข้มแข็งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาลมหายใจเชียงใหม่ ระบุว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือของไทยนั้น มีสาเหตุสำคัญมาจากไฟป่า ซึ่งสร้างมลพิษมากกว่าการเผาในภาคเกษตรกรรม แม้ว่าการเผาของเกษตรกรก็เป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหานี้เช่นกัน
“ในพื้นที่ภาคเหนือ การเผาของเกษตรกรมักจะเป็นการเผาในไร่ข้าวโพดและนาข้าว แต่ในช่วงที่เกิดมลพิษ PM2.5 หนัก ๆ นั้น ไฟป่าถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด” ปริศนา กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ปี 2568 ภาครัฐจะเข้มงวดมากกว่าเดิม
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่ามีการอนุมัติงบกลางสำหรับมาตรการรับมือฝุ่นควัน PM2.5 ในปี 2568 นี้
"ที่ประชุมได้อนุมัติงบกลางภายใต้มาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่าและฝุ่นละออง PM2.5 ปี 2568 วงเงิน 620 ล้านบาท ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ได้กำชับให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า รับมือแก้ไขปัญหาและป้องกันปัญหาไฟป่าและควันไฟที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ" นางสาวแพทองธาร กล่าวในการแถลงต่อสื่อมวลชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐไทยทำอะไรบ้างแล้วกับปัญหาหมอกควันพิษ
เครือข่ายผู้ฟ้องคดีฝุ่น ประกาศเชียงใหม่เป็นเขตมลพิษ
เชียงใหม่ขึ้นอันดับ 1 เมืองใหญ่หมอกควันมากสุดในโลก
นอกจากนี้ ครม. ยังได้นำเสนอแผนการจัดการฝุ่น PM2.5 โดยกระทรวงมหาดไทย สั่งการให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดทั่วประเทศเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ และออกประกาศห้ามเผา ให้บริหารจัดการซังข้าวโพด ต้นอ้อยแห้ง โดยใช้การฝังกลบแทนการเผา เพื่อทำปุ๋ยอินทรีย์ รวมถึงร่วมมือกับหน่วยงานความมั่นคง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเตรียมรับมือกับการดับไฟป่า
ต่อมาในวันที่ 29 มกราคม 2568 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้แถลงภายหลังการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ว่า ทุกหน่วยงานต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยใน 3 เดือนนี้ ต้องไม่มีการเผาป่า การเผาในที่โล่งแจ้ง และการเผาซากผลผลิตทางการเกษตร

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของเกษตรกร ใหญ่ แสดงความเห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายควรมีมาตรฐานเดียวกันกับทุกภาคส่วนที่ก่อมลพิษ
"ถ้ามาจับพวกผม ก็น่าจับพวกโรงงานหรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษด้วย พวกนั้นปล่อยกันทุกวัน แต่เกษตรกรเราเผาเป็นบางช่วงเท่านั้น" ใหญ่ กล่าว
ใหญ่ระบุว่า เกษตรกรเองก็มีกระบวนการที่รัดกุมในการควบคุมการเผา โดยเกษตรกรจะต้องอยู่เฝ้าสังเกตการณ์ตลอดเวลาที่มีการเผา พร้อมทั้งมีการเตรียมอุปกรณ์และกำลังคนไว้ควบคุมเปลวไฟไม่ให้ลุกลามออกนอกพื้นที่ที่กำหนด
แม้ภาครัฐจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาด้วยการใช้เทคโนโลยีและมาตรการต่าง ๆ แต่การเปลี่ยนแปลงวิถีการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมยังคงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม
ปริศนา จากสภาลมหายใจเชียงใหม่ ชี้ว่าปัญหาการเผาในภาคเกษตรเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ต้องใช้นโยบายรัฐขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาทั้งระบบ
“ปัญหานี้ไม่ใช่แค่เพราะเกษตรกรมักง่าย หรืออยากประหยัดเลยจุดไฟเผา แต่มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่รัฐต้องออกนโยบายส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชหมุนเวียน แต่การเลิกปลูกพืชเชิงเดี่ยวถือว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากทั้งปัญหาหนี้สินเกษตรกร ประกอบกับปัจจัยทางสภาพภูมิศาสตร์ และนโยบายของรัฐแบบรวมศูนย์” ปริศนา กล่าว
ผลกระทบต่อสุขภาพของคนในภาคเหนือ
ปัญหามลพิษทางอากาศจากการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมยังคงเป็นความท้าทายสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยทุกช่วงต้นปี พื้นที่ภาคเหนือจะถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นควัน PM2.5 ที่ลอยโขมงตลบอบอวลปกคลุมท้องฟ้า
สำหรับ กมลชนก เรือนคำ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ชาวจังหวัดพะเยา วัย 18 ปี ฝุ่นควันนี้กำลังบั่นทอนสุขภาพของเธอวันแล้ววันเล่า
"ช่วงนี้ของปีต้องไปโรงพยาบาลบ่อย มีเลือดกำเดาไหลเยอะมาก เพราะแพ้ฝุ่น PM2.5 ทำให้ระบบทางเดินหายใจแย่ลง หายใจลำบากมาก แต่เราก็หลีกเลี่ยงมลพิษไม่ได้เลย" กมลชนก กล่าวกับเบนาร์นิวส์

จากสภาวะมลพิษฝุ่นควันรุนแรงเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เธอต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอีกครั้งด้วยอาการไซนัสอักเสบ
ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าระหว่าง 1 ตุลาคม 2566 - 30 กันยายน 2567 มีผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ในภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 1,165,268 คน โดยจังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เชียงใหม่ 359,672 ราย เชียงราย 226,523 ราย ลำปาง 137,599 ราย พะเยา 116,136 ราย และน่าน 97,468 ราย
ขณะที่ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่าปัญหา PM2.5 เกิดขึ้นมายาวนานกว่า 10 ปี และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยของโรงพยาบาล ในช่วงที่เกิดฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการเปรียบเทียบอัตราการตายของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ตั้งแต่ปี 2553-2564 ระหว่างภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ พบว่าภาคเหนือมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดสูงที่สุด
“ช่วงฝุ่นควันหนัก ๆ เพื่อนนักเรียนก็ลากันเยอะเลยนะคะ เพราะที่โรงเรียนไม่มีเครื่องฟอกอากาศ เหมือนหนูที่ที่บ้านยังพอมีเครื่องฟอกอากาศอยู่ ก็ลาหยุดอยู่บ้านเลย ออกไปไหนมาไหนก็ต้องใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นให้รัดกุม เราคงทำได้แค่นี้ค่ะ” กมลชนก กล่าว พร้อมทิ้งท้ายว่า ที่สุดแล้วเราคงต้องปกป้องดูแลสุขภาพกันเองในช่วงนี้ของปี