50 ปี ขบวนการแพทย์ชนบท : หมอของชาวบ้าน กับอุดมการณ์รับใช้ประชาชน

เปิดเส้นทางหมอชนบท ผู้นำคนชายขอบเข้าสู่ระบบสาธารณสุข จนได้รับรางวัลแมกไซไซ
เกริก ประชากุล และ รุจน์ ชื่นบาน
2025.03.24
แม่ฮ่องสอน และ กรุงเทพฯ
50 ปี ขบวนการแพทย์ชนบท : หมอของชาวบ้าน กับอุดมการณ์รับใช้ประชาชน นพ. พิทยา ลงตรวจเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงอายุ 103 ปี ที่หมู่บ้านปู่ทา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568
เกริก ประชากุล/เบนาร์นิวส์

“เวลาเราออกไปเยี่ยมผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล มีอุบัติเหตุ มีอุปสรรค บางทีเราก็ท้อ ไม่อยากทำแล้ว แต่คิดอีกก็พบว่า เราท้อไม่ได้ มันเป็นหน้าที่ เรากลับไปพักผ่อน กินข้าว กลับไปนอน ตื่นมาเราก็มีแรงแล้ว ถ้าเรามองเห็นความสุขของชาวบ้านอยู่ข้างหน้า เราก็อยากทำต่อ” นพ. พิทยา หล้าวงค์ บอกกับเบนาร์นิวส์ด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น

นพ. พิทยา ผู้อำนวยการ (ผอ.) โรงพยาบาลสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน วัย 40 ปี วางเป้าหมายชีวิตของตัวเองว่า อายุราชการ 20 ปีที่เหลือ เขาจะทำหน้าที่แพทย์ในชนบทจนเกษียณ เพราะเขาเชื่อว่า งานที่เขาและเพื่อน ๆ แพทย์ชนบทอีกหลายคนทั่วประเทศกำลังทำ คือ การทำให้คนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ใกล้เคียงกับคนเมือง

“เราเห็นพี่ ๆ ในชมรมแพทย์ชนบททำงานมานานหลายปี ทำเพื่อชนบทจริง ๆ เรามีเขาเป็นไอดอล เลยเข้าไปทำงานด้วยกัน เพราะเราเห็นว่าสังคมเมืองและชนบทมีความไม่เท่าเทียมกัน ในชนบทมีโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณสุขน้อยกว่า เราก็เลยคิดว่า อย่างน้อยอยากจะช่วยให้คนในชนบทเข้าถึงบริการสุขภาพได้ใกล้เคียงกับคนเมือง” นพ. พิทยา เล่า

หมอพิทยา เป็นหนึ่งในแพทย์ที่ตัดสินใจทำงานในพื้นที่ห่างไกล เช่นเดียวกับแพทย์อีกจำนวนหนึ่งที่เข้าร่วมกับขบวนการแพทย์ชนบท ขบวนการที่ก่อตั้งมาเป็นเวลาร่วม 50 ปี

ขบวนการแพทย์ชนบท เป็นการรวมตัวของแพทย์หนุ่ม-สาว ที่เห็นความสำคัญในการทำงานเพื่อรับใช้ประชาชน มีต้นธารแนวคิดนี้ตั้งแต่ปี 2519 แรกเริ่มเดิมทีใช้ชื่อว่า “สหพันธ์แพทย์ชนบท” ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น “ชมรมแพทย์ชนบท” ในภาคหลัง

“50-60 ปีที่แล้ว ไทยเกิดปัญหาขาดแคลนแพทย์ต่อเนื่องกันยาวนาน โดยเฉพาะในชนบท เพราะแพทย์ส่วนใหญ่นิยมทำงานในเมืองใหญ่มากกว่า เนื่องจากมีค่าแรงที่ดึงดูดกว่า” นพ. วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท เล่า

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แก้ปัญหาขาดแคลนดังกล่าว ด้วยการให้ทุนกับนักเรียนแพทย์ พร้อมเงื่อนไขว่า เมื่อเรียนจบต้องไปทำงานในพื้นที่ห่างไกล เป็นการชดใช้ทุนเป็นเวลา 3 ปี อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่หมดไปเสียทีเดียว

“หมอถูกผลิตเยอะกว่าในอดีต แต่หมอรุ่นหลัง ๆ มาทำงานราชการ หรือในชนบทน้อยลง เพราะมีโอกาสให้เลือกเยอะ เช่น ไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนในเมือง หรือทำคลินิกเสริมความงาม หมอรุ่นใหม่เชื่อว่า เขามีสิทธิเลือก หลายคนมาใช้ทุนในโรงพยาบาลชุมชนแล้วชอบก็อยู่ต่อ แต่บางส่วนก็เลือกเส้นทางอื่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด ที่จะเลือกให้ตัวเองสบาย” หมอพิทยา กล่าว

TH-Rural Doctors-1.jpg
นพ. พิทยา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เดินทางไปตรวจผู้ป่วยในพื้นที่ชายแดน พร้อมกับทีมสาธารณสุข ที่ชายแดนไทย-เมียนมา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 (เกริก ประชากุล/เบนาร์นิวส์)

การเกิดขึ้นของชมรมแพทย์ชนบท ทำให้แพทย์จำนวนหนึ่งยอมเสียสละความสุขสบายส่วนตัวเพื่อทำงานในพื้นที่ห่างไกล เพื่อรับใช้ประชาชน ขณะเดียวกัน แพทย์ชนบทรุ่นก่อนหน้าก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับแพทย์รุ่นหลัง

“ตัวอย่างเช่น คุณหมอคณิต ตันติศิริวิทย์ เป็นคนกรุงเทพได้ไปที่น่าน ได้เจอกับคุณหมอบุญยงค์ วงศ์รักมิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน ซึ่งอุทิศตนทำงานในชนบท มีความเป็นผู้นำ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ คุณหมอคณิต ตัดสินใจว่า จบแล้วจะไปอยู่ที่น่านจนเกษียณ” หมอวิชัย เล่าเหตุการณ์น่าประทับใจ

งานสาธารณสุขรับใช้สังคม

นอกจากงานบริการสุขภาพให้คนในพื้นที่ห่างไกลแล้ว การผลักดันนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ และการทำหน้าที่ปกป้องเงินภาษีของประชาชนยังเป็นงานที่ ชมรมแพทย์ชนบท เคลื่อนไหวมาโดยตลอด ตั้งแต่ปีแรก ๆ ที่ชมรมก่อตั้ง

หมอวิชัย บอกว่า ชมรมแพทย์ชนบทมีส่วนร่วมในการผลักดันการบริการสาธารณสุขแบบไม่คิดมูลค่าในร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีข้อความระบุว่า “รัฐต้องให้ความสำคัญกับการสาธารณสุข การอนามัยแม่และเด็ก รัฐต้องรักษาผู้ยากไร้โดยไม่คิดมูลค่า”

หลักคิดดังกล่าว ต่อมาได้ถูกพัฒนากลายเป็น พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่ง นพ. สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขในเวลานั้นได้เสนอต่อรัฐบาล นำไปสู่การมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และเกิดโครงการบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขในราคาที่จับต้องได้ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รพ.ไทยรักษาคนเจ็บหลายสิบราย จากแนวรบชายแดนรัฐกะเหรี่ยง

ความพยายามในการต่อสู้กับหมอกควันพิษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สะดุด หลัง USAID ถูกปิดตัว 

เมื่อเกษตรกรถูกชี้นิ้วเป็นตัวการวิกฤตฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ


ไม่เพียงเท่านั้น ชมรมแพทย์ชนบทมีส่วนร่วมเปิดโปงขบวนการทุจริตยามูลค่า 1,400 ล้านบาท ในปี 2541 จากหลักฐานที่พบว่า โรงพยาบาลต้องซื้อยาแพงกว่าปกติ 50%-300% ในพื้นที่ 34 จังหวัด 

ความพยายามในการตีแผ่ข้อมูลดังกล่าว ทำให้เมื่อเดือน ต.ค. 2546 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ได้ตัดสินจำคุก นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในความผิดฐานรับสินบนบริษัทยา เป็นเวลา 15 ปี 

“เรามีหน้าที่เหมือนหมาเฝ้าบ้าน ดูแลงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน งบประมาณที่เก็บมาจากหยาดเหงื่อของคนทั้งประเทศ ทำยังไงจะไปสู่ประชาชนโดยเฉพาะในที่ที่ห่างไกลให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยที่สุด ไม่รั่วไหลระหว่างทาง” นพ. วิชัย ในฐานผู้ร่วมเปิดโปงการทุจริต กล่าวด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ

เมื่อผลงานประจักษ์

ด้วยผลงานที่ขบวนการแพทย์ชนบท มุ่งมั่นทำมาตลอดเกือบ 50 ปี ส่งผลให้ คณะกรรมการมูลนิธิรามอน แมกไซไซ (Ramon Magsaysay Award) มอบรางวัลอันทรงเกียรติประจำปี 2567 ให้แก่ขบวนการแพทย์ชนบท

“ดอกผลของสิ่งที่ขบวนการแพทย์ชนบทได้กระทำมันชัดเจน เป็นรูปธรรม และยั่งยืน แพทย์ชนบทได้แสดงให้เห็นว่า การดูแลสุขภาพที่อย่างเหมาะสมทั้งในเรื่องมาตรฐานและราคา มีความสำคัญต่อความยุติธรรมในสังคมเพียงใด ประชาธิปไตยมีความจำเป็นต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีแค่ไหน และจิตวิญญาณแห่งการเสียสละนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมได้อย่างไร” ส่วนหนึ่งของคำชื่นชมจากมูลนิธิรามอน แมกไซไซ

TH-Rural Doctors-4.png
นพ. วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท เล่าถึงการก่อตั้งชมรมแพทย์ชนบทเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ที่สํานักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กรุงเทพฯ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 (เกริก ประชากุล/เบนาร์นิวส์)

หลังทราบข่าวการประกาศรางวัล ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชมรมแพทย์ชนบท ต่างภาคภูมิใจที่มีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมในระบบสาธารณสุขของไทย และคล้ายว่า รางวัลนี้ได้เป็นเครื่องยืนยันว่า พวกเขากำลังเดินบนเส้นทางที่ถูกต้อง และมีผู้เห็นคุณค่าของความเสียสละ รวมถึงความยากลำบากในการอุทิศตนเพื่อประชาชน

“จริง ๆ ถ้ามีคนข้ามมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เราสามารถปฏิเสธการรักษาได้ แต่เราไม่ทำ เพราะคนไข้ฉุกเฉินมาหาเรา เราจะไม่ดูสิทธิอะไร ต้องรักษาก่อน เพราะ หนึ่งชีวิตของเขา อาจเป็นหัวหน้าครอบครัว ที่บ้านมีลูก มีภรรยา และพ่อแม่ต้องดูแล ถ้าเราไม่รักษาแล้วเขาต้องพิการตลอดชีวิต ครอบครัวเขาจะขาดเสาหลัก มันมีผลกระทบกับอีกหลายชีวิต” หมอพิทยา กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

ทุกวันนี้ แพทย์ชนบทจำนวนหนึ่งยังคงทำงานกับประชาชนในพื้นที่ที่ห่างไกลจากแสงสปอตไลท์ หลายพื้นที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต บางพื้นที่ไม่มีแม้กระทั่งไฟฟ้า เช่น หมอพิทยา ยังคงเดินทางไปตรวจ และจ่ายยาให้กับผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่ชายแดน เพราะเชื่อว่า การมอบบริการสุขภาพอาจช่วยต่อชีวิต และสร้างความสุขให้แก่คนที่ยากลำบากในพื้นที่ที่คนในเมืองอาจไม่เคยรู้ว่ามีอยู่

“คนไข้เขาเดินทางมาหาหมอค่อนข้างลำบาก เช่น จากบ้านสบเมย ต้องใช้เวลาเดินทางมาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 4 ชั่วโมง หลายครั้งเราเลยไปหาคนไข้ เพราะมันง่ายกว่า เรารู้สึกว่า เราอยากจะเติมให้เขาได้เข้าถึงระบบบริการที่ดี พอทำไปแล้วเรามีความสุข กลับมาเราก็รู้สึกใจฟู อิ่มใจที่เราได้ทำ” ผอ. โรงพยาบาลสบเมย กล่าวด้วยรอยยิ้ม 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง