เครือข่ายผู้ฟ้องคดีฝุ่น ประกาศเชียงใหม่เป็นเขตมลพิษ
2024.04.04
กรุงเทพฯ

เครือข่ายผู้ฟ้องคดีฝุ่น รวมตัวประกาศให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเขตมลพิษ หลังรัฐบาลเพิกเฉยในการแก้ไขปัญหา PM2.5 ซึ่งกระทบต่อวิถีชีวิตคนเชียงใหม่อย่างมาก และหน่วยงานรัฐยังอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองที่ให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา ด้านนักวิชาการชี้ รัฐควรหาแนวทางแก้ปัญหารูปแบบใหม่ที่แตกต่างจาก แนวทางเดิมที่ใช้ไม่ได้ผล
“ความเพิกเฉยของรัฐในการไม่จัดการและไม่ประกาศแผนฉุกเฉินเพื่อรับมือปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ เพราะห่วงผลกระทบที่จะมีต่อระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพียงด้านเดียว โดยไม่คำนึงถึงชีวิตและสุขภาพของประชาชนย่อมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างร้ายแรง” ประกาศของเครือข่ายฯ ระบุ
“จึงจำเป็นที่จะต้องประกาศให้เป็นที่รับทราบกันว่า เชียงใหม่คือ เมืองมลพิษทางอากาศในระดับรุนแรง โดยไม่จำเป็นต้องให้รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐเป็นผู้ประกาศ เพราะชัดเจนว่ายากจะฝากความหวังไว้ได้” ประกาศตอนหนึ่ง
การประกาศดังกล่าวของภาคประชาชน เกิดขึ้นหลังจากเชียงใหม่ รวมถึงพื้นที่ภาคเหนือต้องเผชิญปัญหาฝุ่นควันอย่างหนักตั้งแต่ต้นปี 2567 มีค่า PM2.5 เข้าเกณฑ์กระทบต่อสุขภาพ
แม้ภาคประชาสังคม พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศให้เชียงใหม่เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เพื่อระดมหน่วยงานในพื้นที่แก้ปัญหาฝุ่นควันโดยเร่งด่วนแต่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลจะยังไม่ประกาศให้เชียงใหม่เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เพื่อไม่ให้กระทบเศรษฐกิจของท้องถิ่น
“เรื่อง พ.ร.บ. ภัยพิบัติ ภาวะฉุกเฉิน ที่บอกว่าไม่ประกาศเพราะเป็นห่วงนักท่องเที่ยว จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เราเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่ด้วย เกี่ยวกับเรื่องกิจการค้าขายภายในด้วย มันก็กระทบทั้งหมด แล้วก็มีการแบ่งมาตรฐานสากลว่า ถึงจุดไหนเราประกาศได้ เราเชื่อว่า สิ่งที่เราทำอยู่ในปัจจุบันนี้ก็ช่วยบรรเทาไปได้พอสมควร แน่นอนครับไม่ได้นิ่งนอนใจ ไม่ได้บอกว่า ค่าอากาศที่เชียงใหม่ดีแล้ว เราก็ยังทำงานอย่างต่อเนื่อง” นายเศรษฐา ชี้แจง

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำสั่งให้รัฐบาลจัดทำแผนแก้ไขปัญหาฝุ่นควันภายใน 90 วัน จากคดีที่ภาคประชาชนฟ้องร้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อ 10 เมษายน 2566 เนื่องจากทำงานล่าช้าและละเลยการปฏิบัติหน้าที่จัดการปัญหา PM2.5 อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567
“ศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำตัดสินเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่เพื่อจัดทำแผนในการรับมือกับปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ก็ได้อุทธรณ์ต่อคำตัดสินของศาลปกครองเชียงใหม่ อันทำให้การแก้ไขปัญหาด้วยมาตรการทางกฎหมายต้องทอดเวลาออกไป” เครือข่ายผู้ฟ้องคดีฝุ่น ระบุ
อีกด้านหนึ่ง ต้นเดือนมกราคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์ 443 เสียงผ่านร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดฯ วาระแรก
ขณะที่ นายเศรษฐา ประกาศให้การแก้ปัญหาฝุ่นควันเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ และเดือนมีนาคม 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบกลาง จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 เพื่อดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควัน ในพื้นที่ภาคเหนือเป็นเงิน 272.65 ล้านบาท อย่างไรก็ตามปัญหายังคงอยู่
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น รศ.ดร. พนม กุณาวงค์ สำนักวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้วิธีแก้ไขปัญหาแบบเดิมที่เคยปฏิบัติมาจะไม่มีทางแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ
“ปัญหาใหญ่ ก็คือเราไม่มีนวัตกรรมทางด้านนโยบายใหม่ ๆ ที่จะช่วยในการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ซึ่งเราก็เห็นว่าทุกอย่างก็ยังเป็นแบบเดิม ๆ พยายามหาพืชทดแทน การทำแนวป้องกันไฟ พยายามที่จะจัดการชีวมวลที่จะก่อให้เกิดไฟป่า ทั้งจากการเดินลาดตระเวน หรือการใช้ดาวเทียม แต่ว่ารูปแบบมันก็ยังคงเป็นแบบเดิม ๆ มันก็เป็นสาเหตุว่าปัญหานี้ทำไมไม่ทุเลาลง” รศ.ดร. พนม กล่าว
“องค์ความรู้ในแต่ละสาขามีผลงานวิจัยมากพอ รวมถึงองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของโครงการต่าง ๆ ในท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันการเกิดจุดความร้อนขึ้นได้ ป้องกันไม่ให้มีไฟในบริเวณชุมชน องค์ความรู้นั้นมีมากมายเต็มไปหมด แต่มันถูกนำไปประยุกต์จริงจังในระดับสั่งการขนาดไหน อันนี้เป็นคำถามสำคัญที่สุด" รศ.ดร. พนม กล่าวเพิ่มเติม
ในวันพฤหัสบดีนี้ ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า “ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 47.6 - 203.7 มคก./ลบ.ม. โดย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีค่าฝุ่นมากที่สุดคือ 203.7 มคก./ลบ.ม.”
ทั้งยังเตือนให้ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะในพื้นที่วิกฤต ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เปิดเผยในวันพฤหัสบดีว่า พบจุดความร้อนทั้งประเทศ 3,184 จุด โดยจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด คือ เชียงใหม่ 565 จุด แม่ฮ่องสอน 558 จุด และกาญจนบุรี 348 จุด ขณะที่ เมียนมา 6,538 จุด ลาว 5,478 จุด และเวียดนาม 1,150 จุด