ปี 67 เชียงใหม่มีผู้ป่วยจาก PM2.5 แล้วกว่า 3 หมื่นราย

สภาลมหายใจเชียงใหม่เรียกร้อง รัฐบาลจัดสรรงบคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งปอด
รุจน์ ชื่นบาน และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.03.20
เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ
ปี 67 เชียงใหม่มีผู้ป่วยจาก PM2.5 แล้วกว่า 3 หมื่นราย เครื่องบินบินเหนือตัวเมืองเชียงใหม่ที่ปกคลุมด้วยหมอกควัน เป็นระยะเวลาติดต่อกันหลายสัปดาห์ วันที่ 18 มีนาคม 2567
ธนัญชัย แก้วโสวัฒนะ-Thai News Pix/เบนาร์นิวส์

แพทย์เผยปี 2567 นี้ จังหวัดเชียงใหม่มีผู้ป่วยจากปัญหาฝุ่น PM2.5 เข้ารับการรักษาแล้วกว่า 3 หมื่นราย หลังพบปัญหาสภาพอากาศต่อเนื่อง ด้านสภาลมหายใจเชียงใหม่เรียกร้องให้ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งปอด

ศ.นพ. บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยผ่านประกาศคณะแพทยศาสตร์ว่า ปัจจุบัน สภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนืออยู่ในระดับเกินค่ามาตรฐานกระทบต่อสุขภาพประชาชน

“วิกฤตหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือต่อสุขภาพประชาชน จากสถานการณ์วิกฤตหมอกควันมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) และฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นกับจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือมาอย่างยาวนาน โดยขณะนี้เกินค่ามาตรฐานอย่างหนักในทุกพื้นที่” ศ.นพ. บรรณกิจ กล่าว

“โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ระหว่างวันที่ 1 มกราคม -15 มีนาคม 2567 ด้วยผลกระทบจาก PM2.5 แล้วทั้งสิ้น 30,339 ราย มากกว่าจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในช่วงเดียวกันของปีก่อน 1 เท่าตัว ส่วนใหญ่พบมีอาการของโรคภูมิแพ้กำเริบ เยื่อบุจมูกอักเสบ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เยื่อบุตาอักเสบ โรคหืด เลือดกำเดาไหล โรคถุงลมโป่งพอง ตามลำดับ” ศ.นพ. บรรณกิจ กล่าวเพิ่มเติม

ศ.นพ. บรรณกิจ ระบุว่า สถิติในช่วงเดียวกัน วันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2566 พบผู้เข้ารับการรักษาด้วยผลกระทบจาก PM2.5 จำนวน 12,671 คน ปัจจุบัน แนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้ใส่หน้ากาก N95 ให้อยู่ในตัวอาคารปิดหน้าต่าง-ประตูอย่างมิดชิด และใช้เครื่องฟอกอากาศ

ด้าน กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ในวันที่ 20 มีนาคม 2567 ภาคเหนือของประเทศไทยมีฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน มีค่าฝุ่นเกิน 100 มคก./ลบ.ม. แม้จะมีพายุฤดูร้อนทำให้เกิดฝนตกอย่างหนักจนบ้านเรือนประชาชนเสียหายร่วม 100 หลังคาเรือนก็ตาม

สำหรับประเด็นนี้ นพ. รังสฤษฎ์ กาจญนะวณิชย์ นายแพทย์หัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ฝนสามารถชะล้างฝุ่นได้เพียงไม่มาก

“ฝนชำระล้าง PM2.5 ในอากาศได้น้อย ขณะที่เม็ดฝนแหวกอากาศลงมา ฝุ่นจิ๋วจะถูกผลักให้กระเด็นออกจากพื้นผิว ฝนชะล้างได้เฉพาะฝุ่นขนาดใหญ่ การศึกษาพบว่า ฝนตกเบา ๆ หนึ่งชั่วโมง ลดปริมาณ PM2.5 ได้ 2.03% หรือเรียกได้ว่าแทบไม่มีผลเลย ยกเว้นฝนหนักจะลดได้ 26.75% แต่ถ้าฝนตกบริเวณกว้าง จุดความร้อนไฟป่าจะลดลง 2-3 วัน คุณภาพอากาศจะดีขึ้น” นพ. รังสฤษฎ์ กล่าว

ในปี 2566 พบผู้ป่วยที่เกิดจาก PM2.5 กว่า 3 ล้านราย มากที่สุดคือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง, ปอดอุดกั้นเรื้อรัง, หลอดลมอักเสบเรื้อรัง, มะเร็งปอด, หอบหืด และหัวใจขาดเลือดตามลำดับ โดยพบมากในกรุงเทพฯ, นครราชสีมา, นครศรีธรรมราช, เชียงใหม่ และขอนแก่น เป็นต้น

ขณะเดียวกัน สภาลมหายใจเชียงใหม่ ออกจดหมายเรียกร้องให้ “รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีจัดสรรงบกลาง เพื่อใช้คัดกรองมะเร็งปอดโดยทันที มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการโดยเร่งด่วน ในการกำหนดเกณฑ์ความเสี่ยงสูง กลุ่มเป้าหมายที่ควรเข้ารับการตรวจ และขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดการสื่อสารให้ข้อมูลเรื่องมะเร็งปอดอย่างรอบด้านและเหมาะสม”

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำสั่งให้รัฐบาลจัดทำแผนแก้ไขปัญหาฝุ่นควันภายใน 90 วัน จากคดีที่ภาคประชาชนฟ้องร้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อ 10 เมษายน 2566 เนื่องจากทำงานล่าช้าและละเลยการปฏิบัติหน้าที่จัดการปัญหา PM2.5

ต้นเดือนมีนาคม 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบกลาง จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 เพื่อดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควัน ในพื้นที่ภาคเหนือเป็นเงิน 272.65 ล้านบาท

ต้นเดือนมกราคม 2567 สภาผู้แทนราษฎร เพิ่งมีมติเอกฉันท์ 443 เสียงผ่านร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด 7 ฉบับ วาระแรก โดยขณะนี้ มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อจัดทำ ร่างพ.ร.บ. อากาศสะอาด และพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ต่อไป ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ระบุว่า การแก้ปัญหาฝุ่นควันเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติที่รัฐบาลจะดำเนินการ

สำหรับ ร่างพ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ของรัฐบาล ที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเร็ว ๆ นี้ สามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ 1. มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อการจัดการอากาศสะอาด ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกรรมการระดับจังหวัดขับเคลื่อนนโยบายทั้งด้านการปฏิบัติ และวิชาการ

2. ทำระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ติดตามเฝ้าระวัง เก็บฐานข้อมูล และกำหนดกรอบการบริหารสภาพอากาศ 3. กำหนดมาตรการการลดและควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด 4. กำหนดเขตเฝ้าระวังและเขตประสบมลพิษทางอากาศ 5. ทำเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด เช่น กำหนดภาษี ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับอากาศ และ 6. กำหนดความรับผิดทางแพ่งและบทกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย

ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (2.5 PM) เป็นฝุ่นที่สามารถลอดผ่านรูจมูกเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและส่งผลต่อสุขภาพได้ สำหรับประเทศไทย ระบุว่า หาก PM2.5 เฉลี่ยตลอด 24 ชั่วโมงสูงกว่า 37.5 มคก./ล.บม. ถือว่าเกินมาตรฐานและเริ่มมีผลกับสุขภาพ ขณะที่ในหลายประเทศกำหนดค่ามาตรฐานที่ 25 มคก./ล.บม.

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง