เชียงใหม่ขึ้นอันดับ 1 เมืองใหญ่หมอกควันมากสุดในโลก
2024.03.07
กรุงเทพฯ

จังหวัดเชียงใหม่ เผชิญปัญหาหมอกควันหนักจนถูกจัดอันดับเป็นเมืองใหญ่ที่มีค่าฝุ่นสูงที่สุดในโลกในวันพฤหัสบดีนี้ ด้าน นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ระบุ ได้สั่งห้ามการเผาในที่กลางแจ้ง และเตรียมแผนจัดการกับบุคคลที่ลักลอบเผา เพื่อจัดการปัญหานี้แล้ว
เว็บไซต์ IQ Air ซึ่งติดตามสถานการณ์มลพิษทางอากาศทั่วโลก ระบุว่า เชียงใหม่กลายเป็นเมืองใหญ่อันดับ 1 ของโลกในการจัดอันดับวันพฤหัสบดีนี้ โดยมีค่าดัชนีสภาพอากาศ (Air Quality Index-AQI) ถึง 192 AQI โดยเมืองใหญ่ของอินเดียตามมาเป็นอันดับ 2 และ 3 คือ มุมไบ 167 AQI และเดลี 163 AQI
สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) กรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานว่า พื้นที่เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน มีสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน(PM2.5) ระหว่าง 43.1-199.0 มคก./ลบ.ม. จึงมีการประกาศเตือนผลกระทบทางสุขภาพแก่ประชาชน
“ขอให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่างเฝ้าระวังสุขภาพ โดยงดกิจกรรมกลางแจ้ง แต่หากมีความจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองทุกครั้ง ควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัว เด็ก และคนชรา หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์” สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 ระบุ ในประกาศวันที่ 7 มีนาคม 2567
ต่อการแก้ปัญหา นายนิรัตน์ กล่าวกับสื่อมวลชนว่า เชียงใหม่มีทั้งปฏิบัติการการก่อกวนสภาพอากาศโดยทีมฝนหลวง ซึ่งดำเนินการให้เกิดลมพัดแรงขึ้น และเตือนให้ประชาชนหากไม่จำเป็นไม่ออกจากบ้าน
"เราจะแก้ไขปัญหาเรื่องของฝุ่นที่แรงให้ดีที่สุด การเผาในพื้นที่ ในเรื่องของการบริหารเชื้อเพลิง การชิงเผาในเขตพื้นที่ป่าอุทยานต่าง ๆ เราสั่งให้งดหมดแล้ว ส่วนพวกที่ลักลอบเผา เราขอความร่วมมือ อย่าเผาขึ้นมาให้เกิดควันเกิดฝุ่นซ้ำเติมฝุ่นที่มีเยอะอยู่แล้วในเขตเมืองและฝุ่นที่มาจากเขตเพื่อนบ้านเข้ามา เราต้องหยุดเผาเองให้มากที่สุดให้ 100% สถานการณ์ถึงจะเบาบางลงในเวลาอันรวดเร็ว" ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว
ขณะเดียวกัน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทย ระบุว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 13 กุมภาพันธ์ 2567 พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศแล้ว 9.1 แสนราย โดยภาคเหนือพบผู้ป่วยสูงกว่าพื้นที่อื่น
สอดคล้องกับข้อมูลจากระบบข้อมูล Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 พบว่า ผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ มีจำนวน 10.5 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.6 ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนังอักเสบ และโรคตาอักเสบ ซึ่งพบมากที่สุดในภาคเหนือ
ในปี 2566 พบผู้ป่วยที่เกิดจาก PM2.5 กว่า 3 ล้านราย มากที่สุดคือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง, ปอดอุดกั้นเรื้อรัง, หลอดลมอักเสบเรื้อรัง, มะเร็งปอด, หอบหืด และหัวใจขาดเลือดตามลำดับ โดยพบมากในกรุงเทพฯ, นครราชสีมา, นครศรีธรรมราช, เชียงใหม่ และขอนแก่น เป็นต้น
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำสั่งให้รัฐบาลจัดทำแผนแก้ไขปัญหาฝุ่นควันภายใน 90 วัน จากคดีที่ภาคประชาชนฟ้องร้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อ 10 เมษายน 2566 เนื่องจากทำงานล่าช้าและละเลยการปฏิบัติหน้าที่จัดการปัญหา PM2.5
ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (2.5 PM) เป็นฝุ่นที่สามารถลอดผ่านรูจมูกเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและส่งผลต่อสุขภาพได้ สำหรับประเทศไทย ระบุว่า หาก PM2.5 เฉลี่ยตลอด 24 ชั่วโมงสูงกว่า 50 มคก./ล.บม. ถือว่าเกินมาตรฐานและเริ่มมีผลกับสุขภาพ ขณะที่ในหลายประเทศกำหนดค่ามาตรฐานที่ 25 มคก./ล.บม.
ต้นเดือนมกราคม 2567 สภาผู้แทนราษฎร เพิ่งมีมติเอกฉันท์ 443 เสียงผ่านร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด 7 ฉบับ วาระแรก โดยขณะนี้มีการตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อจัดทำ ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด และพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ต่อไป ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ระบุว่า การแก้ปัญหาฝุ่นควันเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติที่รัฐบาลจะดำเนินการ
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ของรัฐบาล ที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเร็ว ๆ นี้ สามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ 1. มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อการจัดการอากาศสะอาด ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกรรมการระดับจังหวัดขับเคลื่อนนโยบายทั้งด้านการปฏิบัติ และวิชาการ
2. ทำระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ติดตามเฝ้าระวัง เก็บฐานข้อมูล และกำหนดกรอบการบริหารสภาพอากาศ 3. กำหนดมาตรการการลดและควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด 4. กำหนดเขตเฝ้าระวังและเขตประสบมลพิษทางอากาศ 5. ทำเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด เช่น กำหนดภาษี ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับอากาศ และ 6. กำหนดความรับผิดทางแพ่งและบทกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย
ด้าน รศ.ดร. สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ปัญหามลภาวะทางอากาศส่งผลกระทบกับชาวเชียงใหม่มานานกว่า 10 ปีแล้ว ต้องอาศัยทุกภาคส่วนช่วยกันแก้ไข
“การแก้ปัญหาคงต้องอาศัยทุกภาคส่วน ทั้งภาควิชาการและเอกชน เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ ที่ทำให้เกิดพลังที่จะไปสู่นำ นโยบายต่าง ๆ ที่จะทำให้อากาศของเรานั้นดีขึ้น ซึ่งเราต้องยอมรับด้วยว่าส่วนหนึ่งด้วยว่า มันมีหลายปัจจัย และมันก็เกิดจากภัยธรรมชาติด้วย” รศ.ดร. สมพร ระบุ
“เชียงใหม่ยังมีฝุ่นจากการเผาพื้นที่เกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน ลอยมาสมทบอีกด้วย ทำให้สภาพอากาศย่ำแย่หนักเข้าไปอีก จนมีผลกระทบกับการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของเชียงใหม่อย่างมาก” รศ.ดร. สมพร กล่าวทิ้งท้าย
รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน