ช้างกว่าร้อยเชือกประสบภัย หลังเชียงราย-เชียงใหม่น้ำท่วมซ้ำ
2024.10.04
กรุงเทพฯ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่-เชียงราย กลับมาวิกฤตอีกครั้ง ทำให้ช้างเลี้ยงกว่าร้อยเชือกประสบภัย เนื่องจากปางช้างถูกน้ำท่วมสูง โดยรัฐบาลพยายามเข้าให้การช่วยเหลือในการอพยพ ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมี 3.22 หมื่นครัวเรือนใน 18 จังหวัด ที่ยังถูกน้ำท่วมอยู่
“ที่แม่แตงมีเรื่องสัตว์เลี้ยงอยู่จำนวนมาก ช้างมีอยู่ประมาณ 126 เชือก ก็ช่วยขึ้นมาแล้ว 117 เชือก เหลืออยู่เก้าเชือก ก็กำลังติดตามดำเนินการอยู่ว่าจะติดตามได้ยังไง ส่วนสัตว์เลี้ยงทั้งหมด เอาขึ้นมาอยู่ที่สูงแล้ว กำลังดำเนินการอยู่” นายภูมิธรรม กล่าว
รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ปัจจุบัน น.ส. ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงพื้นที่ไปติดตามการแก้ไขสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่แล้ว
ด้านนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ แถลงต่อสื่อมวลชนว่า มีฝนตกหนักในพื้นที่ต้นน้ำมากถึง 150-200 มิลลิเมตร ทำให้มวลน้ำก้อนใหญ่จะเคลื่อนตัวมาถึงเขตตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณตี 1 วันที่ 5 ตุลาคม
“คาดว่าระดับน้ำที่สถานี P 1 (สะพานนวรัฐ อ.เมือง จ.เชียงใหม่) จะสูงถึง 5.2 เมตร สูงที่สุดในประวัติการณ์น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ โดยมวลน้ำจะแผ่ขยายเข้าท่วมพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมครบทั้ง 7 โซน ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงทั้งหมดเร่งขนย้ายทรัพย์สินและอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัย” นายนิรัตน์ กล่าว
ขณะที่ ปภ. เปิดเผยว่า ปัจจุบัน เชียงรายมีน้ำท่วมในพื้นที่ห้าอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง, แม่สาย, แม่ลาว, เวียงป่าเป้า และเวียงชัย ประชาชนได้รับผลกระทบ 220 ครัวเรือน
“ที่เชียงใหม่ระดับน้ำก็สูงขึ้นพอสมควร พ้นจากตลิ่งขึ้นมาเกือบเมตร ขณะนี้ได้มีการเฝ้าระวังหมดแล้ว ก็เอาเครื่องสูบน้ำแรงดันสูง ประจำอยู่ทุกจุด และเคลื่อนย้ายรถราไปตำแหน่งที่ปลอดภัย สั่งระงับ ได้ประสานงานการจัดการต่าง ๆ ทั้งหมด คิดว่าเอาเครื่องมือที่จะดูดสิ่งกีดขวางทั้งหมดที่อยู่ในลำคลอง แม่น้ำ ในทุกสะพานได้ทำไว้ คิดว่า พยายามจะดูดออกให้น้ำระบายได้เร็วที่สุด” นายภูมิธรรมกล่าว
เร่งอพยพช้าง
ด้าน นางแสงเดือน ชัยเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริบาลช้าง ซึ่งดูแลช้างเลี้ยง ช้างพิการ และช้างแก่ ในเนื้อที่ 400 ไร่ ใน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมศูนย์บริบาลช้างวิกฤตมาก
“น้ำท่วมหลังคา หรือสูงประมาณห้าเมตร สูงที่สุดแล้ว ไม่รู้ว่าช้างเราจะเหลือรอดกี่ตัว หมูกับควายก็ไม่รู้เป็นยังไง ตอนนี้มันหนักมากสี่ชั่วโมงเราพยายามเป็นอย่างยิ่งในการย้ายหมู เมื่อวานน้ำยังไม่ท่วม ตอนนี้ หมู่บ้านที่สูงที่สุดท่วมหมดแล้ว ควายกับหมูที่เราย้ายมาเสี่ยงที่จะไหลตามน้ำ” นางแสงเดือน เปิดเผยทั้งน้ำตา บนเฟซบุ๊กส่วนตัว
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ช้างในจังหวัดเชียงใหม่มีความสำคัญกับธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดมาก เนื่องจากเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว โดย 5% ของนักท่องเที่ยวภายในประเทศและ 15% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งใจเดินทางมาเชียงใหม่เพื่อดูช้าง และช้างสามารถสร้างรายได้กว่า 66,000 ล้านบาทต่อปี

ปภ. ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม - 4 ตุลาคม 2567 นี้ มีจังหวัดได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสะสม 38 จังหวัด ได้รับผลกระทบ 193,415 ครัวเรือน ถึงปัจจุบัน ยังอยู่ในสถานการณ์วิกฤต 18 จังหวัด เป็นภาคเหนือ 9 จังหวัด ตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด กลาง 2 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบ 32,214 ครัวเรือน
“ได้ระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัย เข้าให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์ภัย เร่งขุดตักขนย้ายดินโคลน เศษวัสดุ สิ่งปรักหักพัง พร้อมทั้งปรับเกลี่ยถนน เส้นทางสัญจร ฟื้นฟูถนนหนทาง อาคารบ้านเรือนในพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด” ปภ. ระบุ
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยหลังการประชุม เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ระบุว่า สถานการณ์ในภาคเหนือกลับมาวิกฤตอีกครั้ง หลังจากเคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายน 2567
“ผู้บาดเจ็บพบเพิ่มขึ้น 97 ราย สะสม 2,313 ราย เสียชีวิตสะสมเท่าเดิม 54 ราย สถานพยาบาลได้รับผลกระทบสะสม 89 แห่ง ปิดให้บริการ 1 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านวังลูกช้าง จ.พิจิตร กำชับให้ทุกจังหวัดยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งสื่อสารวิธีป้องกันการบาดเจ็บจากสัตว์มีพิษในช่วงฤดูฝน” นพ. โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ ระบุว่า สธ. ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขเพิ่มขึ้น 7,111 ราย สะสม 203,081 ราย ประเมินสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น 377 ราย สะสม 40,867 ราย กลุ่มเปราะบางดูแลเพิ่มขึ้น 223 ราย สะสม 30,785 ราย
สมาคมสหพันธ์ช้างไทย ระบุว่า ในปี 2500 ประเทศไทยมีช้างประมาณ 12,500 เชือก แต่ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมาเหลือเพียงประมาณ 3,800 เชือก หรือลดลง 70 % โดยมีช้างที่อยู่ในการดูแลของมูลนิธิต่าง ๆ ประมาณ 200-300 เชือก และได้รับการดูแลจากภาครัฐเพียงประมาณ 100 เชือกเท่านั้น