ค้นพบงานวิจัยทางพันธุกรรมที่อาจช่วยต่อชีวิตช้างเอเชียเสี่ยงสูญพันธุ์
2025.03.26

ผลการตรวจพันธุกรรมจากมูลของช้างสายพันธุ์เอเชียที่ใกล้สูญพันธุ์เผยให้เห็นข้อมูลของประชากรช้างในบริเวณที่ราบทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชา ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่าข้อมูลที่เคยเชื่อกันมาก่อนหน้านี้ อีกทั้ง ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพื้นที่ในการหากินของพวกมันอาจจะเป็นชุดข้อมูลที่ช่วยป้องกันการสูญพันธุ์ของช้างกลุ่มนี้ได้อีกด้วย
ผลการวิจัยจากกลุ่มอนุรักษ์ Fauna & Flora และบรรดานักวิจัยจากประเทศกัมพูชาและสกอตแลนด์ประเมินว่า มีช้างสายพันธุ์เอเชียจำนวน 51 ตัวอาศัยอยู่ในบริเวณที่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเปรลาง (Prey Lang) เปร โรกา (Preah Roka) และแฉบ (Chhaeb) โดยมีสัดส่วนประมาณหนึ่งในสิบของประชากรสัตว์ป่าในประเทศกัมพูชาทั้งหมด ซึ่งก่อนหน้านี้ ข้อมูลการคาดการณ์อย่างไม่เป็นทางการระบุว่า มีช้างอยู่เพียง 20-30 ตัว
หากอ้างอิงจากงานวิจัยที่เผยแพร่ในเดือนนี้ ความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรช้างกลุ่มนี้มีความหลากหลายกว่าช้างกลุ่มอื่นที่อาศัยอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือว่าสำคัญต่อการอยู่รอดของสายพันธุ์ เนื่องจากช้างกลุ่มนี้สืบสกุลมาจากกลุ่มประชากรช้างโบราณสองสายที่มีความแตกต่างกันทางภูมิศาสตร์
งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (The United States Agency for International Development - USAID) ที่เพิ่งถูกปิดตัวไปในรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยดำเนินการวิจัยร่วมกันกับกระทรวงสิ่งแวดล้อมของประเทศกัมพูชา
แต่ถึงแม้ว่าข่าวที่ออกมาจะแสดงให้เห็นถึงภาพรวมเชิงบวก ทว่า สถานการณ์โดยรวมของช้างอันเป็นสัญลักษณ์และศูนย์กลางของวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากงานวิจัยระบุว่า ต้องมีประชากรช้างมากกว่า 1,000 ตัวเพื่อป้องกันการผสมพันธุ์ในเครือญาติ และสร้างความมั่นใจว่า พวกมันจะสามารถอยู่รอดได้ยาวนานกว่าหนึ่งศตวรรษ
“การประเมินจำนวนประชากรช้างในงานวิจัยชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่า ประชากรช้างที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างมาก เนื่องจากจำนวนของช้างในปัจจุบันมีน้อยกว่าจำนวนที่จำเป็นต่อการสืบพันธุ์ในอนาคต” งานวิจัยระบุ

มีการคาดการณ์ว่า ประชากรช้างป่าสายพันธุ์เอเชียในประเทศกัมพูชามีจำนวนราว 400-600 ตัว และนอกจากปัญหาด้านการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยในป่า ช้างเหล่านี้ยังต้องอดทนต่อความเครียดและปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อนอีกด้วย
กลุ่มนักวิจัยสามารถระบุจำนวนของช้างเพศผู้และเพศเมีย รวมถึงบรรพบุรุษของพวกมันได้จากการวิจัยความหลากหลายทางพันธุกรรมจากตัวอย่างมูลสัตว์ของช้าง นอกจากนั้น งานวิจัยยังแสดงให้เห็นอีกว่า ช้างบางตัวได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในบริเวณระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเปร โรกาและแฉบ แต่ไม่ใช่บริเวณระหว่างพื้นที่ 2 แห่งนี้และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเปร ลัง โดยข้อมูลชุดนี้สามารถสะท้อนได้ชัดเจนมากขึ้นว่า ประชากรช้างมีการกระจายตัวอย่างน่าเป็นห่วง และสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการขยับขยายเขตป่าสงวน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ช้างกว่าร้อยเชือกประสบภัย หลังเชียงราย-เชียงใหม่น้ำท่วมซ้ำ
ตระกูลควาญช้างเก่าแก่ ห่วงอนาคตด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
แหล่งอาศัย 2 ใน 3 ของช้างในเอเชียหายไป ในห้วงสามศตวรรษที่ผ่านมา
“สัตว์ป่าทั่วโลกกำลังถูกบีบให้ย้ายที่อยู่ท่ามกลางแหล่งป่าไม้ที่หดแคบและเสื่อมถอยมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นการจัดการประชากรสัตว์กลุ่มเล็กและมีการย้ายถิ่นฐานอย่างกระจัดกระจาย จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญมากยิ่งขึ้น” ปาโบล ซิโนบาส์ (Pablo Sinovas) กรรมการของกลุ่มอนุรักษ์ Fauna & Flora ประจำประเทศกัมพูชากล่าว
“แม้ว่ากลุ่มช้างจะมีขนาดเล็ก แต่ยังถือว่าเป็นกลุ่มประชากรที่คงความหลากหลายทางพันธุกรรมไว้ได้ในระดับสูง” เขากล่าวในแถลงการณ์ “เมื่อเราประเมินข้อมูลจากเศษซากที่หาได้ ผนวกกับแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีความเฉพาะเจาะจง เราสามารถค้นพบข้อมูลเกี่ยวกับการฟื้นฟูประชากรช้างที่หาได้ยากและมีคุณค่า”
อเล็กซ์ บอล (Alex Ball) ผู้จัดการกลุ่มอนุรักษ์ประจำองค์การสวนสัตว์สกอตแลนด์ (Royal Zoological Society of Scotland) ออกความเห็นว่า กลุ่มนักวิจัยหวังว่า นักวิจัยในประเทศกัมพูชาและประเทศอื่น ๆ จะสามารถนำวิธีการนี้ไปปรับใช้ในงานวิจัยของตนเองได้ เนื่องจากพวกเขามุ่งหวังที่จะเห็นจำนวนประชากรช้างในเอเชียที่เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน
“วิธีการนี้จะช่วยให้เราหาทางทำงานเพื่อช่วยพลิกจำนวนของสัตว์ป่าที่งดงามเหล่านี้ให้กลับมาเพิ่มมากขึ้นได้อย่างดีที่สุด” เขากล่าว