ฮุน มาเนตเตือนไทย พร้อมใช้กำลังทหารตอบโต้ที่บริเวณพิพาทปราสาทโบราณ

เรดิโอฟรีเอเชีย กัมพูชา
2025.03.17
ฮุน มาเนตเตือนไทย พร้อมใช้กำลังทหารตอบโต้ที่บริเวณพิพาทปราสาทโบราณ ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ตรวจสอบกองเกียรติยศร่วมกับ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ในกรุงเทพฯ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567
อธิษฐ์ พีระวงษ์เมธา/รอยเตอร์

ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ประกาศกร้าวว่าทางการกัมพูชาจะใช้กองกำลังทหารเพื่อตอบโต้ หากกองทัพไทยส่งทหารเข้ามายังบริเวณปราสาทตาเมือนธม ซึ่งเป็นพื้นที่เขตชายแดนที่จุดประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา

จากข้อมูลของ CamboJa สำนักข่าวออนไลน์อิสระ ความไม่ชัดเจนในการขีดเส้นแบ่งแขตชายแดน ณ บริเวณปราสาทตาเมือนธมนำไปสู่การเผชิญหน้ากันระหว่างทหารกัมพูชาที่ได้เข้าไปในบริเวณปราสาทเมื่อเดือนที่ผ่านมา กับทหารไทยที่ประจำการอยู่ในบริเวณนั้น

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รายงานกับนักข่าวเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า กองกำลังทหารไทยได้เขียนจดหมายประท้วงอย่างเป็นทางการไปยังกองทัพกัมพูชา เนื่องจากเหตุการณ์เผชิญหน้าในวันดังกล่าว

ต่อมาในวันจันทร์  ฮุน มาเนตประกาศว่า รัฐบาลกัมพูชาไม่หวาดกลัวที่จะตอบโต้กลับ หากทหารไทยละเมิดอำนาจอธิปไตยของประเทศตน

“ในนามของรัฐบาล หน้าที่หลักของเราคือ การยึดมั่นกับการแก้ไขปัญหาด้วยสันติเป็นอันดับแรก โดยใช้หลักการพื้นฐานของกฎหมาย การเจรจาต่อรอง ความสัมพันธ์ทางการทูต และกฎหมายระหว่างประเทศ” เขากล่าวปราศรัยที่สมาคมนักธุรกิจกัมพูชา

“แต่เราได้วางแผนเตรียมการไว้รับมือพร้อมสรรพทุกเมื่อ หากกองกำลังทหารใดก็ตามบุกรุกเขตแดนของประเทศ กัมพูชามีสิทธิทุกประการในการปกป้องเขตแดนอธิปไตยในทุกวิถีทาง รวมถึงการใช้กองกำลังทหารตอบโต้ด้วยเช่นกัน” เขาเสริม

กรณีข้อพิพาทดินแดนของปราสาทตาเมือนธมมีความคล้ายคลึงกันกับความขัดแย้งชายแดนเมื่อหลายสิบปีก่อน ณ บริเวณปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ปะทะระหว่างกำลังทหารทั้งสองฝ่ายหลายครั้งในระหว่างปี 2551 และปี 2554

โดยปราสาทตาเมือนธมตั้งอยู่บนชายแดนระหว่างจังหวัดอุดรมีชัย ทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชา และจังหวัดสุรินทร์ ประเทศไทย ซึ่งอยู่ห่างจากปราสาทเขาพระวิหารไปทางตะวันตกราว 140 กิโลเมตร

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก (International Court of Justice - ICJ) ได้วินิจฉัยว่า ปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรักอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของประเทศกัมพูชาในปี 2505 ทว่า คำพิพากษาดังกล่าวไม่ได้หมายรวมถึงพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ในอาณาบริเวณของไทยรอบ ๆ ปราสาทฮินดูอายุ 1,000 ปี

กองทัพไทยและกัมพูชาจึงเปิดศึกสู้รบกันหลายต่อหลายครั้งตั้งแต่ปี 2551 หลังจากที่ปราสาทเขาพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกขององค์กรยูเนสโก (UNESCO World Heritage Site) ทว่า กรณีข้อพิพาทดังกล่าวได้คลี่คลายลงหลังจากที่ศาลโลกพิพากษาให้ประเทศกัมพูชาชนะคดีในปี 2554

ฮุน มาเนต กล่าวอ้างถึงความขัดแย้งอันโด่งดังเรื่องการแย่งชิงพื้นที่ชายแดนนี้เมื่อวันจันทร์ และเสริมว่า ทางการกัมพูชามีประสบการณ์ในการยื่นคำร้องไปยังศาลโลก และต่อสู้จนได้มาซึ่งชัยชนะของอำนาจอธิปไตยในดินแดน

ฮุน เซน กับศาลอาญาระหว่างประเทศ

ในขณะเดียวกัน ฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ออกโรงขู่ว่าจะจับกุมตัวผู้ใดก็ตามที่เปรียบเทียบเขากับ โรดริโก ดูแตร์เต อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ผู้ถูกจับกุมในสัปดาห์นี้และถูกส่งตัวไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์เพื่อขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court - ICC) ข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากการที่เขาก่อ "สงครามปราบปรามยาเสพติด" ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ฮุน เซนได้กล่าวในที่ประชุมเดียวกัน ณ เมืองพนมเปญว่า ผู้คนไม่ควรเปรียบเทียบตัวเขากับผู้นำรัฐเผด็จการทั้งหลายหรือบรรดาผู้นำประเทศที่กำลังเผชิญกับหมายจับที่เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

“ผมคงจะไม่แทรกแซงกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ แต่สำหรับกัมพูชา เราได้ประกาศออกไปอย่างชัดเจนแล้วว่า เราจะไม่ส่งคนของเราออกนอกประเทศเพื่อการดำเนินคดี” เขากล่าว “รัฐธรรมนูญของเราไม่อนุญาตให้เราเพิกถอนสัญชาติและห้ามมิให้จับกุมผู้คนในนามของประเทศอื่น”

ในช่วงที่เขาถืออำนาจเด็ดขาดในการปกครองประเทศ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ถูกนักเคลื่อนไหวฝั่งตรงข้ามยื่นคำร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศและทนายความระดับสากลในกรณียิงสังหาร นายเขม ไลย์ (Kem Ley) ซึ่งเป็นนักวิจารณ์การเมืองชื่อดังจนเสียชีวิตในปี 2559 และการยุบพรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party - CNRP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในปี 2560 รวมถึงกรณีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินหลายกรณีจากการขับไล่ประชาชนจำนวนมากออกจากพื้นที่

หลังจากที่ ฮุน เซน ในวัย 72 ปีอำลาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในปี 2566 ฮุน มาเนต บุตรชายคนโตของเขาก็ก้าวขึ้นรับตำแหน่งแทน

วอร์น ชานเลาท์ (Vorn Chanlout) นักวิเคราะห์ด้านกฎหมายให้ข้อมูลกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า ฮุน เซน มีประวัติในการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองมายาวนานหลายทศวรรษ จึงไม่น่าแปลกใจที่ประชากรชาวกัมพูชาจะเปรียบเทียบเขากับบรรดาผู้นำรัฐเผด็จการ

“เขาปราบปรามประชาชน นักการเมือง และผู้บริสุทธิ์ จึงไม่สมเหตุสมผลที่จะคว่ำบาตรประชาชนที่เปรียบเทียบเขาในเชิงลบ เขาจำเป็นที่จะต้องลงมือกระทำความดีบ้าง เพื่อให้ผู้คนเริ่มเปรียบเทียบเขากับนักการเมืองดี ๆ คนอื่น ๆ”

ในปี 2545 ทางการกัมพูชาได้ลงนามในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ก่อตั้งโดยศาลอาญาระหว่างประเทศในปี 2545 ซึ่งการลงนามในครั้งนี้ส่งผลให้ศาลมีอำนาจในการพิจารณาคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในเขตแดนกัมพูชา หรือกระทำโดยประชากรกัมพูชา

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง