ทร.อาเซียน-สหรัฐ เสร็จสิ้นการฝึก AUMX 2019
2019.09.06
กรุงเทพ

กองทัพเรือสิบชาติอาเซียน และกองทัพเรือสหรัฐ เสร็จสิ้นการฝึกทางทะเล ASEAN-U.S. Maritime Exercise 2019 ซึ่งเป็นการฝึกผสมทางเรือในลักษณะพหุภาคีครั้งแรกของทั้งสองฝ่าย ท่ามกลางความตึงเครียดของปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ แหล่งข่าวราชนาวีไทยกล่าวในวันศุกร์นี้
พลเรือโทกาญจน์ ดีอุบล เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ในฐานะโฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยก่อนการฝึก AUMX 2019 ที่มีขึ้นในระหว่างวันที่ 2-6 กันยายน 2562 นี้ว่า การฝึกผสมดังกล่าวไม่ใช่การซ้อมรบ แต่เป็นการฝึกผสมทางเรือในลักษณะพหุภาคีครั้งแรกระหว่างกองทัพเรือในภูมิภาคอาเซียนและกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา เป็นการฝึกพหุภาคีตามกรอบงานด้านความมั่นคงทางทะเลกับมิตรประเทศ ทั้งด้านอ่าวไทยและทะเลอันดามัน โดยปกติทั่วไป
“ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์การฝึกเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการรักษาความมั่นคงทางทะเล มุ่งเน้นการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในทะเล โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เสริมสร้างการตระหนักรู้และปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างชาติต่างๆ ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ ซึ่งมุ่งเน้นการปฏิบัติการร่วมในบทบาทภูมิภาค โดยไม่มีการฝึกการยิงอาวุธแต่อย่างใด” พลเรือโทกาญจน์ กล่าว
เจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม กล่าวว่า “การฝึกเสร็จสิ้นลงและประสบความสำเร็จในวัตถุปประสงค์ด้วยดี”
ในพิธีเปิดการฝึกเมื่อวันจันทร์ที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมานี้ พลเรือตรีเคนเน็ธ ไวท์เซลล์ (Kenneth Whitesell) รองผู้บัญชาการกองกำลังภาคพื้นแปซิฟิก และ พลเรือโทเจริญ คุ้มราษี เสนาธิการ กองเรือยุทธการ ได้เป็นประธานในพิธี ที่จัดขึ้นที่กองเรือยุทธการ ฐานทัพเรือสัตหีบ ชลบุรี โดยมีกำลังร่วมการฝึกกว่า 1,200 นาย จาก 11 ประเทศ
พลเรือโทเจริญ กล่าวว่า การฝึกผสมดังกล่าว ไม่มีความเกี่ยวข้องหรือนัยยะใดๆ ต่อความขัดแย้งเรื่องอาณาเขตทางทะเลในทะเลจีนใต้
กองทัพเรือชาติสมาชิกอาเซียน ประกอบด้วย ไทย บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งในจำนวนนี้ มีอยู่สี่ชาติ คือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไน และอินโดนีเซีย ที่ขัดแย้งกับสาธารณรัฐประชาจีนในพื้นที่ทะเลจีนใต้ เช่น เกาะสแปรตลี่ย์ เป็นต้น ซึ่งจีนได้เคลมอาณาเขตในพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรเป็นพื้นที่กว้าง มีการสร้างสนามบินและสาธารณูปโภคทางทหารบนเกาะแก่งต่างๆ รวมทั้งกระทบกระทั่งกับเรือประมงฟิลิปปินส์
ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐอเมริกา เมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้ นายไมเคิล ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ได้เรียกร้องให้สมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียนออกเสียงต่อต้านสิ่งที่นายไมเคิลเรียกว่า “การบังคับขู่เข็ญของประเทศจีน” และในปลายเดือนสิงหาคม กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้กล่าวหาจีนว่า ได้ยกระดับความขัดแย้งในพื้นที่ทะเลจีนใต้ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยจีนได้เข้าไปขัดขวางการสำรวจน้ำมันและแก๊ส ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ 12 ไมล์ทะเลของเวียดนาม
พลเรือตรีเคนเน็ธ ไวท์เซลล์ รองผู้บัญชาการกองกำลังภาคพื้นแปซิฟิก ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า กองกำลังของสหรัฐเข้าไปปฏิบัติการในทะเลทุกพื้นที่ รวมทั้งการเดินอากาศตามกฎหมาย ซึ่งไม่มีการห้ามการเดินทางผ่านเข้าออก ในการฝึกครั้งนี้ ทำให้ประเทศที่เข้าร่วมได้ฝึกฝนด้วยกันมีความเข้าใจว่าจะปฏิบัติการร่วมกันได้อย่างไร
สำหรับการฝึกมีการสมมุติสถานการณ์ว่ามีเรือที่กระทำผิดกฎหมายรุกล้ำน่านเข้ามาโดยถืเป็นภัยร่วมกัน โดย ทร.สหรัฐฯ จะได้ส่งเรือต้องสงสัยสมมุติ จากแหลมกาเมาของประเทศเวียดนาม และจากบริเวณช่องแคบมะละกาเข้ามา มีการติดตามสถานการณ์การฝึกผ่านระบบสารสนเทศ (IFC’s Real Time Information-Sharing System : IRIS) และระบบ CENTRIX โดย บก.CTF จะติดตามภาพสถานการณ์ทางทะเล รวมทั้งประสานข้อมูลกับส่วนติดตามการฝึก ณ ศูนย์ Changi C2 Center สาธารณรัฐสิงคโปร์ ผ่านระบบดังกล่าว เพื่อให้กองกำลังเฉพาะกิจผสม การตรวจค้น และจับกุมเรือต้องสงสัย
การฝึกผสมของกองทัพเรือสหรัฐฯ และอาเซียน ในครั้งนี้ มีขึ้นเกือบหนึ่งปี หลังจากชาติสมาชิกอาเซียนและประเทศจีน ได้มีการฝึกผสมทางทะเลร่วมกันครั้งแรก ในเดือนตุลาคม 2561 ที่ฐานทัพเรือจ้านเจียง มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน
สำหรับประเทศไทย นอกจากการฝึกรบร่วมกับสหรัฐและพันธมิตร ในการฝึกขนาดใหญ่อย่างคอบร้าโกลด์แล้ว ยังได้ฝึกทางทะเลกับจีน ในรหัส Blue Strike มาตั้งแต่ ปี 2553 และยังมีการฝึกของกำลังทางอากาศร่วมกัน ในรหัส Blue Falcon อีกด้วย